ปีใหม่ วางแผนการเงินใหม่

ปีใหม่ วางแผนการเงินใหม่

ปีใหม่ทีก็ได้โอกาสคิดถึงการเริ่มต้นเรื่องดีๆ ให้กับชีวิต และถ้าปีนี้เรื่องดีๆ นั้นจะมีการวางแผนใช้จ่ายของตัวเองและครอบครัวรวมอยู่ด้วยก็คงจะยิ่งดีนะคะ เชื่อว่าหลายคนคงใช้โอกาสขึ้นปีใหม่เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ดิฉันเองก็เช่นกันค่ะ หลายครั้งที่พยายามใช้โอกาสนี้เป็นจุดตั้งต้นแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง บางครั้งได้อย่างใจบ้าง คลาดเคลื่อนหรือผัดเลื่อนไปปีต่อไปบ้าง แต่ก็ให้กำลังใจและให้โอกาสตัวเอง และต้องไม่ลืมเตือนตัวเองเสมอด้วยนะคะว่า ?ฉันจะไม่ผัดวันประกันพรุ่ง? เราจะได้เดินไปถึงเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจไว้ซะที ช่วงปีใหม่แบบนี้มีเงินถุงเงินถังจากโบนัสมาสมทบเลยมีแรงฮึด (อีกครั้ง) ว่าจะจัดการกับเรื่องเงินๆ ทองๆ และการใช้จ่ายของตัวเองให้เป็นระบบสักหน่อย
เพราะไม่อยากผจญกับอาการควานหาอะไรไม่เจอ ทั้งที่เงินร่อยหรอไปก็เยอะ แล้วก็อาการชักหน้าไม่ถึงหลัง คุณๆ ที่มีครอบครัวต้องดูแลรับผิดชอบ คงรู้ซึ้งถึงความรู้สึกนี้ดีว่ามันเครียดและเครียดแค่ไหน ดีไม่ดีจะมีผลกับความมั่นคงผาสุกในครอบครัวเข้าให้อีก
ตั้งต้นแผนการเงิน
จริงๆ ไม่ว่ามีคู่แล้วหรือยังเกาะคานอยู่ การวางแผนการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเอามากๆ เหมือนกันหมด เพราะมันช่วยสร้างวินัยการใช้จ่ายให้กับตัวเราและครอบครัว ซึ่งจะพาเราไปสู่เป้าหมายที่ฝันไว้ได้ เว้นซะแต่ว่าชีวิตนี้ไม่มีเป้าหมายอะไรกับเขาเลย หรือไม่ก็มีเงินมหาศาลนั่งกินนอนกินไปตลอดชีวิต
เหตุผลที่สำคัญอีกข้อที่ต้องตระหนักให้มากก็คือเงินที่เราและคุณสามีหามาได้มันมีจำนวนจำกัด ยิ่งถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนแบบที่ไม่มีรายได้เสริมพิเศษกับเขาด้วยแล้ว เดือนๆ หนึ่งมีแค่ไหนก็แค่นั้นจริงๆ (ถึงจะนึกอยากให้มันออกลูกออกหลานมาเยอะๆ ก็เถอะ) แต่ไอ้สิ่งที่เราต้องใช้จ่าย และที่เราต้องการนี่สิมันเยอะแยะไปหมด ถ้าจับมาต่อแถวกันคงยาวไปถึงเชียงใหม่นู่น (เว่อร์ไปมั้ยเนี่ย) เลยจำเป็นต้องกำหนดรายจ่ายล้วงหน้าไว้ก่อนจะได้ไม่ใช้จ่ายเกินตัว กำหนดแผนการออม และจุดประสงค์การใช้เงินได้ พูดง่ายๆ ก็คือจัดสรรปันส่วนเงินที่มีกับสิ่งที่ต้องใช้จ่ายให้สมดุลกัน (ตามหลักเศรษฐศาสตร์เปี๊ยบ) และมีเงินเหลือเก็บนั่นล่ะค่ะถึงจะเรียกว่าแผนการเงินที่ดี
แผนการเงินของครอบครัวนั้นต้องทำร่วมกันทั้งคุณและคุณสามี แล้วบางส่วนของแผนก็ควรบอกเล่าให้ลูกได้รับรู้ เพื่อให้ลูกได้เข้าใจ มีส่วนร่วมในแผน และปลูกฝังนิสัยการใช้จ่ายที่ดีให้ลูกไปในตัวด้วย จะมา one woman show ไม่ได้ค่ะ เพราะแผนการเงินที่เรากำหนดนี้มีผลกับชีวิตเขาด้วย นอกจากนี้ก็ต้องมีการทบทวนแผนร่วมกันว่าเป็นไปตามที่วางไว้มั้ย ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือเปล่า
หลังจากคุณชื่นใจกับโบนัสในกระเป๋าและช็อปของขวัญปีใหม่ให้เพื่อนๆ ญาติผู้ใหญ่ และสุดที่รักในครอบครัวคุณแล้วก็ต้องเริ่มต้นจัดการกับหนี้สินที่มีอยู่ (ถ้ามี) เช่น หนี้บัตรเครดิต ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ (ควรจัดการกับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่แพงที่สุดก่อน) ซึ่งถ้าเป็นหนี้ก้อนใหญ่ก็ตัดใจแบ่งโบนัสออกมาส่วนหนึ่ง จ่ายตัดเงินต้นให้ลดลง เพื่อลดอัตราการเกิดดอกเบี้ย
และแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับให้รางวันกับชีวิต ส่วนหนึ่งสำหรับการออม เพื่ออนาคตหรือเพื่อโครงการพิเศษของครอบครัวที่ตกลงร่วมกันแล้วว่าจะมีในปีนี้ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ตั้งใจจะมีลูก ลูกเข้าโรงเรียน ฯลฯ อ้อ…แล้วอย่าลืมประเมินด้วยนะคะว่า เงินโบนัสที่แบ่งมาไว้นี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการพิเศษนั้นๆ แล้วหรือยัง ถ้ายังก็ต้องมาดูว่าโครงการนั้นจะเกิดในช่วงไหนของปี จะได้ไปกำหนดการออมไว้ในแผนการเงินระยะสั้นอีกที (รายเดือน)
เมื่อจัดการกับแผนระยะยาวแล้วก็มาจัดการกับแผนระยะสั้นคือ เมื่อคุณตัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวของสองเราออกไปแล้ว จะมีเงินกองกลางของครอบครัวเป็นรายรับตั้งต้น ก็ต้องดูว่าแต่ละเดือนเราจะแบ่งเงินออกเป็นกี่ส่วน โดยมากมักจะต้องแบ่งส่วนกันประมาณนี้ล่ะ
1. รายจ่ายประจำ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ น้ำมันรถ ค่าอาหาร ภาษี ประกันสังคม ฯลฯ?
2. สำรองใช้จ่ายฉุกเฉิน เผื่อเจ็บป่วย ภาษีสังคม รถเสีย อุบัติเหตุ ว่างงาน อื่นๆ ซึ่งควรมีตุนไว้อย่างต่ำประมาณ 3 เท่าของเงินเดือน ถ้ามีครบตามเป้าแล้ว ก็อาจโยกเงินส่วนนี้ไปอยู่ในส่วนเงินเก็บก็ได้ค่ะ?
3. เก็บออม ซึ่งก็ต้องกำหนดแผนเหมือนกันค่ะ
สำรวจนิสัยใช้จ่ายของตัวเอง
1. รสนิยมสูงรายได้ต่ำ
2. ติดนิสัยชอบเอาเงินอนาคตมาใช้แบบอันลิมิต
3. ชอบลืมจ่ายค่าบัตรเครดิต ค่าโทรศัพท์ จนถึงขั้นถูกระงับ ปรับดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม
4. ชอบทำเงินรั่วไปกับรายจ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่หาเนื้อหนังไม่ได้
5. เป็นคุณแม่บ้านนักช็อปที่ใช้การช็อปปิ้งเป็นเครื่องปลดเปลื้องระบายความเครียด
6. เป็นคนประเภทเห็นของถูก ของแถม เจอป้าย SEAL เป็นใจอ่อน ใจอ่อนง่ายๆ กับของบางอย่าง เช่น เป็นคนบ้
7. กระเป๋าเห็นถูกใจหน่อยก็ควักเงินจ่ายได้ง่ายๆ
8. แพ้ใจทุกทีที่เจอของสวยของงาม ประเภทรูปลักษณ์ดีมีสไตล์นั่นล่ะใช่
9. เป็นคุณแม่ (พ่อ) คนดีที่เนรมิตทุกสิ่งอันตามแต่ใจลูกปรารถนา
10. เป็นคนต้นกระแส ของอันไหนมีรุ่นใหม่ ดีไซน์ใหม่ อ็อฟชั่นพิเศษต้องมีก่อนใคร
11. ถ้านิสัยใช้จ่ายส่วนตัวคุณหรือคู่เข้าลักษณะที่ว่ามานี้มากเท่าไหร่ ยิ่งต้องรีบปรับปรุงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ดูไม่เข้าท่านั้นโดยด่วน
บัญชีใช้จ่าย บัญชีชีวิต
จริงๆ ก็คือ การทำบัญชีการใช้จ่ายของเราและครอบครัวนี่ล่ะค่ะ ใครไม่เคยมีกับเขาก็คงต้องเปิดรับเข้ามาเป็นมิตรใหม่ของครอบครัวดูบ้าง เพราะจะช่วยให้เราทำตามแผนที่วางไว้ได้และตัวเลขจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจะฟ้องเลยว่าเดือนๆ หนึ่งเงินในกระเป๋าเรารั่วไปเท่าไหร่ หมดไปกับเรื่องอะไรบ้างเป็นค่าใช้จ่ายของสมาชิกคนไหนในครอบครัว สำคัญและสมควรแก่การจ่ายหรือเปล่า แต่ละเดือนมีเงินเหลือเก็บบ้างมั้ย ฯลฯ
บัญชีรายรับ-รายจ่ายถึงจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อน แต่หลายคนก็มองว่าเป็นเรื่องจุกจิก ที่ต้องมานั่งจดนั่งจำว่าวันๆ ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องยอมรับ เพราะถ้าเราปล่อยตัวเองให้ใช้เงินไปวันๆ ตามความต้องการ โอกาสที่จะถึงฝั่งฝันที่ตั้งไว้ก็ดูจะลางเลือนเหลือเกิน ลองแข็งใจทำไปสัก 2-3 เดือนนะคะเดี๋ยวก็ติดเป็นนิสัยเองค่ะ (เอาใจช่วยเต็มที่) คุณเป็นขุนคลังประจำบ้าน อาจต้องทำบัญชีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นบัญชีครอบครัว อีกส่วนเป็นบัญชีส่วนตัว
วิธีคลาสสิกของการทำบัญชีชีวิตก็คือจดค่ะ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีคอมพิวเตอร์เป็นเพื่อน ก็อาจใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เช่น Microsoft Money หรือ Quicken จำได้ว่า เพื่อนสาวนักบัญชีเคยบอกมาว่าช่วยให้การทำบัญชีใช้จ่ายของเธอง่ายและสะดวกมากขึ้น ลองไปหามาใช้ดูนะคะ ดิฉันเองก็จะทดลองใช้เหมือนกัน เผื่อจะเวิร์กกว่าปากกากับสมุดโน้ตที่ใช้อยู่
ข้อสำคัญที่อยากเตือน คือห้ามลืมหรือละเลยเด็ดขาด ก็รายจ่ายเล็กๆ น้อยๆ อาจกลายเป็นรายจ่ายก้อนโตขึ้นมาได้ คุณเคยเป็นเหมือนดิฉันมั้ยล่ะค่ะที่ไม่อยากจดรายจ่ายเล็กๆ น้อยๆ เอาซะเลยเพราะมันยิบย่อยเกินไป แต่พอถึงเวลาก็มานั่งถามตัวเองทุกเดือนว่าเงินมันหายไปไหน แล้วในที่สุดก็เรียกมันว่า ค่าใช้จ่าย ?จิปาถะ? หรือ ?เบ็ดเตล็ด? ซึ่งถ้ามันมากจนน่าเกลียด ก็คงต้องยอมทำบัญชีกันวันต่อวันเพื่อคุมค่าใช้จ่ายนี้ให้มันเหมาะสม
ออมเงิน ออมชีวิต
หลักที่แนะนำกันมาก็คือยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไหร่ยิ่งมั่นคงเร็วเท่านั้น ไม่เชื่อก็ลองบวกลบคูณหารหาดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นจากระยะเวลา จำนวนเงินที่ออมกับอัตราดอกเบี้ยดูสิ แล้วคุณจะนึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่ปราศจากการออม
ที่สำคัญการออมของเราก็ต้องมีเป้าหมายค่ะ นอกจากจะออมเพื่อเก็บเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายพิเศษอย่างที่บอกไปแล้ว ก็ต้องออมเงินประจำเดือนเพื่อลูกสำหรับเป็นทุนการศึกษาในอนาคต และเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งจำนวนก้อนและสัดส่วนของการออมนี้อยู่ที่ความเหมาะสม กับเงื่อนไขชีวิตของครอบครัวเราค่ะ บางทีเงินออมทั้งหมดอาจรวมอยู่ที่ก้อนเดียวก็เป็นได้ เช่นเดียวกับวิธีการออมก็ต้องเลือกให้เหมาะกับตัวเอง
ถ้าเป็นคนมีวินัยในการใช้จ่ายก็อาจเลือกการออมโดยฝากเงินไว้กับธนาคาร วิธนี้ถึงผลตอบแทนจะได้น้อยแค่แต่ก็มั่นคงและมีอิสระในการดึงออกมาใช้จ่ายเมื่อจำเป็น แต่ถ้าเป็นคนไม่ค่อยจะมีวินัยเท่าไหร่อย่างดิฉัน ก็ต้องพึ่งพาการจัดการของระบบการออมบางประเภท เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เป็นต้น หรือถ้าพอมีความรู้ในเรื่องการลงทุนก็อาจแบ่งเงินที่จะออมส่วนหนึ่งไปออมโดยวิธีการลงทุน เช่น การซื้อหุ้น ซื้อตราสาร แต่วิธีนี้ก็มีความเสี่ยงอยู่มาก ต้องศึกษาข้อมูล และรายละเอียดการลงทุนเปรียบเทียบกันอย่างรอบคอบค่ะ
เล็กๆ น้อยๆ เรื่องการออมและใช้จ่าย
?เก็บก่อนใช้? คือเงินเดือนออกมาก็จัดการเก็บเข้าคลังครอบครัว ก่อนจะใช้จ่าย 
เอาเงินส่วนการออมใส่บัญชีธนาคารโดยไม่ทำบัตรเอทีเอ็ม ช่วยยับยั้งการใช้ได้ส่วนหนึ่ง 
เตรียมกระปุกหยอดเงินไว้ใกล้ๆ มือเวลาที่เข้าบ้านแล้วต้องกวาดของออกจากกระเป๋า เศษสตางค์รายวันจะได้ย้ายไปอยู่ในกระปุก อย่าลืมเตรียมเผื่อลูกสักใบด้วยล่ะ คำโบราณที่ว่า ?มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท? ยังใช้ได้ดีแม้ในยุค 2005 
แบ่งเงินใช้จ่ายส่วนตัวเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งใช้จากต้นเดือนไปจนถึงกลางเดือน อีกส่วนเก็บไว้ใช้ครึ่งหลังของเดือน 
ก่อนไปช็อปอย่าลืมลิสต์รายการสินค้าที่จะซื้อก่อนทุกครั้ง 
เมื่อไหร่ที่อยากได้ของฟุ่มเฟือย ลองตั้งต้นหยอดกระปุกเก็บเงินซื้อดู เผื่อเวลาจะช่วยเจือจางความอยากให้ลดลงได้บ้าง 
ที่สาธยายมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ดิฉันตั้งใจจะทำเป็นของขวัญปีใหม่ให้ตัวเองจริงๆ และก็อยากชวนคุณๆ เริ่มทำไปพร้อมกัน ได้ผลเป็นยังไงส่งข่าวถึงกันที่ ?คอลัมน์คิดเป็นใช้เป็น? นะคะ ส่วนใครที่มีเทคนิคดีๆ ก็ส่งมาแลกเปลี่ยนกันบ้าง
(มาลี, นิตยสารรักลูก ปีที่ 22 ฉบับที่ 264 มกราคม 2548)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *