ปลูกฝังภาวะผู้นำของผู้หญิง

ปลูกฝังภาวะผู้นำของผู้หญิง

วันที่ : 1 มกราคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาอัพเกรด

จากบทความเรื่อง“Let women rule”โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูต Swanee Hunt(Ambassador Swanee Hunt) ผู้อำนวยการโครงการผู้หญิงและนโยบายสาธารณะ (Women and public policy Program) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ผู้หญิงไม่อยากเล่นการเมือง เพราะเห็นว่าการเมืองเป็นเกมที่สกปรก หรือกลัวถูกมองว่าอ่อนแอเกินไปสำหรับภาวะผู้นำหรือกลัวถูกมองว่าไม่มีความเป็นหญิงหากเข้าสู่วงการ

อย่างไรก็ตาม บทบาทของผู้หญิงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อองค์กรหรือหน่วยงาน จากผลการวิจัยของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีผู้หญิงอยู่ในสภาและส่วนราชการจำนวนมาก มีระดับการคอร์รัปชันน้อยมาก และปัจจุบันนี้มีถึง 11 ประเทศที่มีผู้นำเป็นผู้หญิง และในองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ล้วนแต่มีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิง

จากรายงานขององค์กรที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่า ใน 115 ประเทศ ผู้หญิงสามารถครองที่นั่งในรัฐสภาร้อยละ 17 และมีตำแหน่งในรัฐบาลร้อยละ 14 อย่างในสหรัฐอเมริกา มี ส.ส. และ ส.ว. หญิงเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผู้หญิงถูกปฏิเสธมากว่า 133 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ โดยมีวุฒิสภา 16 คน จากทั้งหมด 100 คน สมาชิกผู้แทนราษฎร 71 คน จาก 435 คน แม้ผู้หญิงจะมีบทบาทในสภาและรัฐบาลมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังรับผิดชอบงานด้านครอบครัว เยาวชน คนพิการ และผู้สูงอายุเป็นหลัก

ในขณะที่ประเทศไทย ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยมาตลอด ทั้งที่ประเทศไทยมีประชากรหญิงเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรชาย เมื่อเทียบสถิติผู้หญิงที่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองในระดับประเทศนับว่ายังน้อยมาก ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กว่าที่ไทยจะมี ส.ส. หญิงคนแรก ต้องผ่านไปถึง 17 ปี คือ ในปี พ.ศ. 2492 คุณอรพิณ ไชยกาฬ จากอุบลราชธานี ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมา พ.ศ. 2519 มีผู้หญิงได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง 2 คน แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จนถึง พ.ศ. 2531 หรือจากนั้นอีก 12 ปี จึงมีรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวในช่วงนั้น ที่มาจากการเลือกตั้งคือ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิศต์

ปัจจุบันบทบาทของผู้หญิงในด้านการเมืองดีขึ้น แต่ยังน้อยอยู่ อย่างการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2548 มีผู้หญิงผ่านเข้าไปอยู่ในสภาร้อยละ 10.6 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ มีผู้หญิงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี 2 คนคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์/รองนายกรัฐมนตรี และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.กระทรวงแรงงาน/รมว.กระทรวงวัฒนธรรม สมัยรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีรัฐมนตรีผู้ 2 คน ได้แก่ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

ล่าสุดการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พบว่า ส.ส.แบบสัดส่วน มีทั้งหมด 80 คน มีว่าที่ ส.ส.หญิง 6 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5 ส.ส.แบบแบ่งเขต มีทั้งหมด 400 คน มีว่าที่ ส.ส.หญิง 49 คน คิดเป็นร้อยละ 12.25 หากรวมจำนวน ส.ส.ในสภาฯ ทั้งหมด 480 คน มีจำนวน ส.ส.หญิงทั้งหมด 55 คน คิดเป็นร้อยละ 11.46 คน แม้เพิ่มขึ้นแต่ถือว่ายังน้อยมาก

ไม่เพียงการเมืองระดับประเทศ เท่านั้นที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมน้อย แต่ในระดับท้องถิ่น ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทน้อยเช่นกัน โดยมีผู้หญิงได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านเพียงร้อยละ 1.8 และ 2.9 ตามลำดับ ในจำนวนข้าราชการพลเรือนทั้งหมด แม้จะมีผู้หญิงมากถึง 2 ใน 3 แต่มีผู้หญิงที่อยู่ระดับบริหาร (ระดับ 9 – 11) เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

สาเหตุที่ผู้หญิงไทยเข้าไปมีบทบาทในการเป็นผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองการปกครองน้อย เนื่องจากค่านิยมทางสังคมที่ให้ผู้ชายมีบทบาททางเป็นผู้หารายได้เป็นหลัก และอยู่นอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีบทบาททางสังคมสูง วิถีชีวิตจึงมีแนวโน้มเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก ในขณะที่สังคมมองว่าผู้หญิงควรเป็นคนดูแลครอบครัวเป็นหลัก มักไม่เห็นด้วยที่ผู้หญิงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนยังมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ชาย จึงไม่ค่อยสนับสนุนผู้หญิงด้วยกันให้มีบทบาททางการเมือง

การส่งเสริมผู้หญิงให้มีส่วนร่วมทางการเมือง

ดังนั้นจึงควรเร่งส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง สิ่งที่ควรดำเนินการคือ ทำอย่างไรให้สังคมเชื่อว่าผู้หญิงสามารถทำงานการเมืองได้ ผู้หญิงสำคัญอย่างไรกับการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง และเชื่อมั่นในภาวะผู้นำของผู้หญิง มีแนวทางดังนี้

การปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับบทบาทสตรีผ่านการเรียนการสอน ในหลักสูตรการเรียนการสอนควรมีเนื้อหาเกี่ยวกันผู้หญิงกับการมีบทบาทสำคัญต่อสังคมและการเมือง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อปลูกฝังค่านิยมให้ผู้เรียนในการยอมรับว่าแท้จริงแล้วผู้หญิงสามารถมีบทบาทในสังคมได้หลากหลายที่ประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากบทบาทในครอบครัว

การสนับสนุนให้ผู้หญิงเป็นผู้นำกิจกรรม สถาบันการศึกษาควรส่งเสริมผู้เรียนที่เป็นผู้หญิงให้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพในการทำกิจกรรมให้มากขึ้น เช่น การเป็นประธานหรือเป็นคณะกรรมการนักเรียน/นักศึกษา การเป็นหัวหน้าโครงการต่าง ๆ การเป็นหัวหน้าชมรม เป็นต้น โดยมีผู้คอยให้คำแนะนำหรือรุ่นพี่ที่เป็นผู้หญิงเป็นแบบอย่าง

การเป็นแบบอย่างของผู้บริหาร ครู อาจารย์และบุคลากรหญิง สถาบันการศึกษาควรมีบรรยากาศของการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ผู้ชายควรให้เกียรติผู้หญิง สนับสนุนให้ครูและบุคลากรที่เป็นผู้หญิง มีบทบาทความรับผิดชอบในงานสำคัญ และกระตุ้นผู้หญิงให้เข้าไปเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมมากขึ้น

การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม สถาบันการศึกษาควรจัดกิจกรรมที่มีส่วนพัฒนาผู้เรียน โดยเฉพาะผู้หญิงได้เรียนรู้เกี่ยวกับสังคมและมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับประกอบอาชีพแก่คนในชุมชนแออัด ดูแลเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ เข้าไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านห่างไกล เป็นต้น เพื่อสร้างจิตสำนึกการช่วยเหลือสังคมแก่ผู้เรียน ให้ลุกขึ้นมามีบทบาทสำคัญในสังคมในระดับที่สูงขึ้น โดยส่วนตัวดิฉันเอง สาเหตุที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้เข้าไปทำกิจกรรมกับคนยากจน และผู้ด้อยโอกาสในสังคมตั้งแต่ยังศึกษาในโรงเรียนมัธยม

ในอดีตผู้หญิงไม่กล้าเข้ามามีบทบาทด้านการเมืองการปกครอง เนื่องจากการปิดกั้นผ่านค่านิยมของสังคม และเกิดจากฝ่ายผู้หญิงที่ปิดกั้นตัวเอง แต่ปัจจุบันผู้หญิงเริ่มเข้าไปมีบทบาททางการเมืองและเป็นผู้นำทางสังคมมากขึ้น และทำได้ดีเท่ากับผู้ชาย โดยเฉพาะการทำงานในบางอย่างผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชาย เช่น งานด้านการศึกษา การบริการ งานด้านคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ฯลฯ การสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นในอนาคต ควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังค่านิยมตั้งแต่สถาบันการศึกษา และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทผู้หญิงที่ทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *