“บ้านปลอดโรค-คนปลอดภัย”

“บ้านปลอดโรค-คนปลอดภัย”
• คุณภาพชีวิต
ร่วมสร้างสังคมไทยให้มีสุขภาพดี

โรคที่ติดต่อหลายชนิดในกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดธรรมดา โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) โรคไข้หวัดนก เป็นต้น เชื้อไวรัสจะติดต่อโดยการได้รับละอองฝอยจากการไอจามของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอที่ไปคลุกคลีสัมผัสใกล้ชิด (ใกล้กว่าสามฟุตหรือประมาณหนึ่งเมตร) กับผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อโรค (ระยะแพร่เชื้อคือ 1 วัน ก่อนผู้ป่วยมีอาการและระหว่างมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก หรือท้องเสีย)

นอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้สุกใส โรคมือ เท้า ปาก เป็นต้น ที่ติดเชื้อจากการสัมผัส โดยมือที่สัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ที่เป็นโรคระยะแพร่เชื้อแล้วมาสัมผัสกับเยื่อบุต่างๆ ของตนเอง เช่น ขยี้ตา แคะจมูก ก็ทำให้สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อหิวาตกโรค โรคตับอักเสบชนิดเอ โรคบิด โรคพยาธิชนิดต่างๆ ก็ล้วนติดต่อจากการที่มือไปหยิบจับหรือกินอาหารที่มีเชื้อเหล่านี้ ปนเปื้อน หรือใช้ภาชนะของใช้ร่วมกับคนป่วนนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

นอกจากนี้ยังมีโรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรงอื่นๆ อีก เช่น โรคตาแดง โรคเชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง หิด เหา โรคเริม ติดต่อและแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิด

การล้างมือ จึงเป็นวิธีง่ายและประหยัดมากในการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ควรศึกษาวิธีล้างมือ และควรฝึกให้เด็กๆ รู้จักล้างมือให้เป็นนิสัยและควรจะล้างมือ ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม หลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง หลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เวลาไอ จาม และทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกหรือกลับมาจากนอกบ้าน

แค่การล้างมือ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองข้ามไป แต่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อสู่ส่วนรวมได้เป็นสุขอนามัยง่ายๆ ที่ทำให้บ้านและชุมชนก็ปลอดโรคภัยได้แล้ว โดยสุขนิสัยเพื่อการมีสุขภาพดีปลอดโรคที่สำคัญ 6 ประการ คือ

(1) หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแพร่เชื้อ

(2) สำหรับผู้ที่ป่วยควรพักที่บ้าน ไม่ควรไปโรงเรียน หรือไปทำงาน หรือเดินทางไปที่มีผู้คนจำนวนมาก หรือบนรถโดยสาร เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ

(3) ผู้ป่วยควรฝึกนิสัยการใช้หน้ากากอนามัย หรือให้ชินกับการใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก และจมูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะไอหรือจามทุกครั้ง

(4) ทั้งผู้ป่วยและไม่ป่วยภายในครอบครัวควรฝึกสุขนิสัยและสอนเด็กให้ล้างมือ โดยควรจะล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม หลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง หลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เวลาไอ จาม และทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งปกปรกจากนอกบ้าน เช่น บันไดเลื่อน ร้านสรรพสินค้า ปุ่มกลอนประตูที่ใช้ร่วมกับคนหรือกลับมาจากสถานที่สาธารณะ

(5) ไม่ขยี้ตา แคะจมูก เอานิ้วใส่ปาก เนื่องจากนิ้วมือที่ไม่สะอาดอาจนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้

(6) หมั่นออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สะอาดปรุงสุกแล้ว ใช้ช้อนกลาง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทดี หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด เช่น แอลกอฮอล์

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *