บัฟเฟตต์ภาคแรก

บัฟเฟตต์ภาคแรก
โลกในมุมมองของ Value Investor
โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ชีวิตและการลงทุนของวอเร็น บัฟเฟตต์ ในปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปในอเมริกา ในเมืองไทยเองนั้น นักลงทุนจำนวนมากน่าจะรู้จักเขาพอสมควร นักลงทุนหลายคนนับถือและยึดถือเขาเป็นแบบอย่างในการลงทุน บทความเกี่ยวกับวอเร็น บัฟเฟตต์ ถูกเขียนขึ้นหลาย ๆ ครั้งทั้งในคอลัมน์นี้และในที่อื่น ๆ ส่วนใหญ่แล้วพูดถึงสิ่งที่เขาทำ ผลงาน พอร์ตโฟลิโอ และความมั่งคั่งของเขาเมื่อเขาดังและประสบความสำเร็จ เป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันสำหรับ Value Investor ทั่ว ๆ ไปนั้น น่าจะอยู่ที่ชีวิตของบัฟเฟตต์ในขณะที่เขายังไม่ดัง ไม่เป็นที่รู้จัก ในเวลาที่คนยังถามว่า ใครนะวอเร็นบัฟเฟตต์ ? เพราะนี่คือช่วงเวลาที่นักลงทุนควรศึกษาว่าวอเร็นบัฟเฟตต์ทำอย่างไรถึงได้ประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้และเราจะสามารถเดินตามรอยเขาได้แค่ไหน
วอเร็น บัฟเฟตต์ ถูกกล่าวขวัญเป็นครั้งแรกในหนังสือชื่อ Supermoney ซึ่งเขียนโดย “Adam Smith” ผู้โด่งดัง หรือชื่อจริงคือ George Goodman บทความเขียนขึ้นในช่วงประมาณปี 1970 ซึ่งเป็นเสมือนการเปิดตัวบัฟเฟตต์ในฐานะของเซียนหุ้นที่มีผลงานโดดเด่นโดยใช้แนวทางของ เบน เกรแฮม ที่แปลกใหม่และไม่เหมือนใครในวงการผู้บริหารเงินมืออาชีพทั้งหลายในยุคนั้น และต่อไปนี้คือสาระสำคัญบางส่วนที่น่าสนใจ
อดัม สมิทธ์ เล่าว่าเขารู้จักบัฟเฟตต์ เนื่องจากเบนเกรแฮม ขอให้เขาช่วยเขียน The Intelligent Investor ในการพิมพ์ครั้งใหม่ เกรแฮมบอกเขาว่า มีคนเพียงสองคนที่เขาอยากให้ร่วมเขียนด้วยคือเขาและวอเร็น บัฟเฟตต์ นั่นทำให้อดัม สมิทธ์ งงและอยากรู้จักว่าใครคือวอเร็น บัฟเฟตต์ เพราะในขณะนั้น ไม่มีใครในวงการหุ้นแม้แต่ตัวเขาเองที่เป็นนักเขียนเรื่องหุ้นชื่อดังรู้จักบัฟเฟตต์
เมื่อได้พบและรู้จักบัฟเฟตต์แล้ว อดัม สมิทธ์ ได้เขียนเรื่องของเขาโดยบอกว่า สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับ บัฟเฟตต์ นั้นก็คือ เขาเข้าข่ายที่จะเรียกได้ว่าเป็นนักบริหารเงินลงทุนที่โดดเด่นในยุคสมัยได้อย่างสบายมาก แต่สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือ เขาทำมันได้ด้วยปรัชญาการลงทุนของอีกยุคสมัยหนึ่ง นั่นก็คือ ในขณะที่พวกสิงห์ปืนไวในช่วงทศวรรษที่ 1960 กำลังโปรโมทกันเองในพับชื่อดังที่พวกเขาชอบพบกัน แล้วก็กลับมาเฝ้าจอหุ้นในออฟฟิสที่นิวยอร์ค บัฟเฟตต์ก็กำลังทำผลงานการลงทุนที่ดีที่สุดในวงการจากเมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกาโดยที่ไม่มีจอดูหุ้น ไม่มีพับชื่อดัง ไม่มีการกัดเล็บ ไม่มียาคลายเครียด ไม่มียารักษาโรคกระเพาะ ไม่มีเกมแบ็คแกมมอนหลังจากตลาดปิด ไม่มีหุ้นที่ราคาวิ่งขึ้นเหมือนติดจรวด ไม่มีหุ้นเทคโนโลยี ไม่มีหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ ไม่มีหุ้นแบบ “Concept Stock” หรือหุ้นที่กำลังนิยมกันมากในช่วงนั้น มีแต่เพียง การลงทุนแบบ เบน เกรแฮม พันธุ์แท้ ที่ถูกประยุคใช้อย่างเสมอต้นเสมอปลายสมบูรณ์แบบ นั่นก็คือ หุ้นธรรมดา ๆ ที่เงียบเหงา เข้าใจง่าย และมีเวลาเหลือเฟือให้กับลูก ๆ สำหรับเกมแฮนด์บอล และการฟังเสียงข้าวโพดที่กำลังแตกยอดในท้องทุ่ง
ก็จริง ที่บัฟเฟตต์ ไม่ได้บริหารกองทุนรวม ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องถูกกดดันจากเซลแมนที่ต้องการขายหน่วยลงทุน ในขณะที่เขาสร้างสถิติการลงทุนด้วยปรัชญาการลงทุนของอีกยุคสมัยหนึ่ง หุ้นตัวที่ทำกำไรมาก ๆ บางตัวก็เข้าข่ายเป็นหุ้นตามปรัชญาการลงทุนแบบหุ้นโตเร็ว เขาไม่มีคณะกรรมการที่จะต้องขออนุมัติหรือรายงาน เขาไม่มีจ้าวนาย เขาไม่ทำตัวเป็นข่าว ที่จริงสื่อเองก็ไม่สนใจเขา ถ้าเขาซื้อหุ้นในบริษัทมากจนมีอำนาจในการควบคุมเขาก็พร้อมที่จะเข้าไปคุม ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เขามีอิสระและคล่องตัวจากข้อจำกัดทั้งหลาย
ห้างหุ้นส่วนของเขาเริ่มในปี 1956 ด้วยเงิน 105,000 เหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากลุง ป้า และญาติคนอื่น ๆ มันปิดตัวลงในปี 1969 ด้วยการเติบโตปีละ 31% ทบต้น เงิน 10,000 เหรียญในปี 1957 จะเพิ่มขึ้นเป็น 260,000 เหรียญในช่วงเวลา 13 ปีนั้น ห้างหุ้นส่วนกำไรทุกปีไม่มีปีไหนขาดทุนรวมทั้งในปีที่ตลาดหุ้นตกหนักในปี 1962 และ 1966 หุ้นส่วนทุกคนจะได้รับรายงานปีละครั้งที่จะบอกถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากทำสถิติการลงทุนและทำให้ทั้งหุ้นส่วนและตัวเขาค่อนข้างสบายแล้ว บัฟเฟตต์ก็ทำในสิ่งที่ผิดธรรมดาอีกครั้งหนึ่งคือ เขาเลิก ในตอนนั้นเขาอายุ 39 ปี เขาบอกว่ามันยากขึ้นและยากขึ้นเรื่อย ๆ ในการที่จะหาหุ้นดี ๆ และแน่นอน แรงกระตุ้นของเขาก็อ่อนลงไปมากจากความสำเร็จของตนเองเพราะในขณะนั้นเขามีเงินถึงประมาณ 25 ล้านเหรียญและเขามีอย่างอื่นในชีวิตที่จะทำ และนี่คือภาคแรกของบัฟเฟตต์ที่เล่าโดย อดัม สมิทธ์เมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว
แน่นอน หลังจากที่เลิกห้างหุ้นส่วน และออกจากตลาดไปในช่วงที่ตลาดกำลังบูมมาก บัฟเฟตต์ได้กลับมาอีกครั้งโดยอาศัยบริษัทเบิร์กไชร์ฮาธาเวย์ หลังจากที่ตลาดถล่มกลับลงมาแล้วและกลายเป็นภาคสองของบัฟเฟตต์ที่เรารู้จักกันมาก บทเรียนบางประการสำหรับภาคแรกของบัฟเฟตต์ก็คือ ข้อแรก ในช่วงแรกที่เม็ดเงินยังน้อยนั้น ผลตอบแทนของเขาสูงถึง 31% ในขณะที่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของเขาทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 25% ซึ่งแปลว่า ช่วงที่พอร์ตยังเล็ก ผลตอบแทนจะสูงกว่าช่วงพอร์ตใหญ่ สอง ในช่วงที่มีเงินน้อยนั้นเงินส่วนใหญ่ของบัฟเฟตต์มาจากการบริหารเงินให้คนอื่นแล้วได้ส่วนแบ่งกำไร ดังนั้นคนที่คิดจะเลิกจากการทำงานที่มีรายได้แน่นอนแล้วมาลงทุนอย่างเดียวควรคิดให้หนัก ข้อสาม การใช้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของบัฟเฟตต์ทั้งภาคหนึ่งและภาคสองดูเหมือนจะไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าเม็ดเงินและชื่อเสียงของบัฟเฟตต์จะเพิ่มขึ้นมาก และนี่ก็เป็นข้อสังเกตและบทเรียนเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับ Value Investor ที่กำลังเริ่มเดินทางตามผู้นำที่ยิ่งใหญ่

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *