นิยายกำลังภายใน แดจังกึม และการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง

นิยายกำลังภายใน แดจังกึม และการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย pasu@acc.chula.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเกริ่นไว้ถึงการเรียนรู้ศาสตร์ทางด้านการบริหารจากการอ่านนวนิยาย โดยในต่างประเทศได้มีการนำนวนิยายเข้ามาเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้เรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกันแล้ว สัปดาห์ที่แล้วก็ได้ลองนำเรื่องราวในอมตะนิยายอย่างเพชรพระอุมามาลองยกเป็นตัวอย่าง ให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูนะครับว่า พอจะเป็นกรณีศึกษาทางด้านภาวะผู้นำได้หรือไม่?
พอบทความลงไป ก็มีเพื่อนซึ่งเป็นนักอ่าน โทรศัพท์เข้ามาแนะนำเหมือนกันนะครับว่า ให้ลองยกตัวอย่างเรื่องลอดลายมังกรดู เนื่องจากน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้นำที่มีความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ ในขณะเดียวกันเพื่อนนักดูละครอีกคน ก็บอกว่าให้ลองดูเรื่องหลงเงาจันทร์ดูซิ ว่าพอจะเป็นกรณีศึกษาทางด้านการบริหารได้อย่างไรบ้าง พอลองดูแล้วก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับ ว่าจะเป็นได้อย่างไร?
ก็เลยต้องย้อนกลับมาดูสิ่งที่ตัวเองอ่านเป็นประจำดีกว่าครับ ผมเองชอบอ่านนิยายจีนกำลังภายในมาตั้งแต่เด็ก อ่านแล้วก็สะสมมาเรื่อยๆ และพอย้อนกลับมาคิดในสิ่งที่ได้เรียนรู้จากนิยายกำลังภายใน ก็พบหลายอย่างทีเดียวครับ ท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่นิยมอ่านนิยายกำลังภายในก็อาจจะสงสัยนะครับว่านิยายกำลังภายในสามารถสอนอะไรเราได้บ้าง
เนื่องจากนิยายจีนส่วนใหญ่ก็มีแต่ล้างแค้น ฝึกวิชา ตกหลุมรัก ถูกตามล่า ตกเหว ฝึกวิชา ล้างแค้น เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมบอกได้เลยครับเรื่องแรกที่นิยายจีนสอนคือเรื่องของคุณธรรม นิยายจีนเกือบทุกเรื่องจะเน้นย้ำ และให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณธรรมเป็นอย่างมากครับ คุณธรรมในที่นี้มีหลายส่วนด้วยครับ บางเรื่องก็เน้นคุณธรรมระหว่างเพื่อน บางเรื่องก็คุณธรรมที่ยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม บางเรื่องก็คุณธรรมประจำใจของตัวละครแต่ละตัว
และในนิยายจีน ผู้แต่งเขาจะสร้างความแตกต่างไว้อย่างชัดเจนระหว่างตัวละครแต่ละตัว เพื่อให้เห็นถึงคุณธรรมของตัวละครแต่ละลักษณะ พวกที่ดีก็ดีจนชัดเจน พวกร้ายพอปรากฏตัวออกมาก็รู้ว่าร้าย ในขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจก็คือในนิยายจีนก็จะมีพวกที่เรียกว่าเป็นวิญญูชนจอมปลอมอยู่เป็นประจำครับ พวกนี้ภายนอกก็ดูเป็นคนมีคุณธรรม แต่เบื้องลึกแล้วจะร้ายอย่างหนัก พร้อมกันนี้ก็มีบางคนที่ดูภายนอกเป็นตัวร้าย แต่ในใจนั้นยึดถือกับคุณธรรมและสัจจะวาจายิ่งกว่าสิ่งใด
เนื้อหาในสัปดาห์นี้คงไม่ใช่มาวิพากษ์นิยายกำลังภายในนะครับ แต่ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด อยากจะชี้ให้ท่านผู้อ่านที่ไม่ค่อยคุ้นกับนิยายกำลังภายในได้ทราบว่า เรื่องที่เราสามารถเรียนรู้จากนิยายกำลังภายใน คือเรื่องของคุณธรรมของแต่ละคนครับ ยิ่งถ้าเป็นระดับผู้บริหารในนิยายกำลังภายในแล้วก็ยิ่งชัดเจนครับ (หรืออีกนัยหนึ่งคือบรรดาเจ้าสำนักต่างๆ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักฝ่ายธรรมะแล้ว จะพบตลอดเลยครับว่า คุณธรรมของคนเหล่านี้ สูงส่งเพียงใด และจะคิดถึงส่วนรวม หรือความอยู่รอดของสำนักตนเองมากกว่าความอยู่รอดของตนเอง
ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่าถ้าเด็กไทยได้อ่านนิยายจีนกันมาตั้งแต่เด็กและเลือกที่จะรับรู้ในสิ่งที่ดีไป จะปลูกฝังเรื่องของคุณธรรมกันมากน้อยเพียงใด
พูดถึงเรื่องของคุณธรรมแล้วจะไม่พูดถึงแดจังกึมก็ดูกระไรนะครับ คิดว่าท่านผู้อ่านจำนวนมาก คงได้ดูตอนอวสาน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าดูแดจังกึมแล้ว พอจะให้บทเรียนทางด้านการบริหารในเรื่องใดได้บ้าง? ถ้าพูดถึงเฉพาะตอนอวสานอย่างเดียวก็พอจะบอกได้ว่า เราสามารถเรียนรู้อะไรได้หลายอย่างครับ ทั้งจากตัวพระราชาที่ถึงแม้จะตามใจแดจังกึมเพียงใด แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องฟังคำทัดทานของขุนนางส่วนใหญ่ ในเรื่องของการไม่ให้แดจังกึมผ่าตัดรักษาโรคลำไส้อุดตันของตนเอง แสดงว่าต่อให้เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ต้องรู้จักที่จะฟังคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีความปรารถนาดีต่อตนเองบ้าง
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากตอนจบของเรื่องนี้คือแดจังกึมเป็นคนที่เรียกว่าใฝ่รู้ตลอดเวลา เป็นคนที่ไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ที่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน แถมยังโชคดีที่มีหมอหญิงอีกท่านที่มีความใฝ่เรียนรู้พอๆ กัน ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกระจกเงา ในการสะท้อนความคิดซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นคนคอยกระตุ้นและยับยั้งแดจังกึมในหลายๆ เรื่อง
ทำให้ได้กลับมานั่งคิดเหมือนกันนะครับว่า คนเราต่อให้เก่งหรือใฝ่รู้เพียงใดก็ควรจะมีคนรู้ใจคอยทำหน้าที่ในการสะท้อนความคิด พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างอิสระ และเป็นเหมือนกระจกเงาที่จะรู้จักตนเองได้ดีขึ้น
เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นจิตแพทย์ของผมเล่าให้ผมฟังครับว่าแต่ละคนจะไม่มีทางรู้จักตัวเองได้ดีถ้าขาดการพูดคุยกับผู้อื่น ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าหลายๆ ครั้งเราจะเรียนรู้และรู้จักตนเองได้ดีขึ้นจากการพูดคุยกับผู้อื่น มากกว่าที่จะเรียนรู้และรู้จักตนเองได้จากการนั่งคิดอยู่คนเดียว
Professor Joseph L. Badaracco จากฮาร์วาร์ดที่เป็นคนนำเรื่องของการเรียนรู้จากนวนิยายมาใช้ ได้ระบุไว้เลยครับว่า จากการอ่านนวนิยายและนำมาปรับใช้กับการบริหารนั้น สิ่งที่พบจากนวนิยายคือ คนจะเป็นผู้นำได้ต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ เกี่ยวกับตัวเอง ต้องรู้จักตนเองก่อน ถ้าอยากจะเป็นผู้นำแล้ว ก็ต้องรู้ว่าตนเองมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำมากน้อยเพียงใด
ทำให้ผมนึกถึงตัวเอกในนิยายจีนส่วนใหญ่นะครับ เขาจะรู้จักตนเองตลอดเวลาว่ามีระดับฝีมือและกำลังภายในอยู่เท่าใด ก่อนที่จะหาญท้ากับจอมมาร เมื่อใดก็ตามที่ตัวเอกรู้ว่ายังสู้ไม่ได้ก็จะใช้วิธีหนี เมื่อใดที่รู้ว่าสู้ได้ค่อยหาญท้าพญามาร
ดังนั้นท่านผู้อ่านก็อย่าลืมสำรวจตนเองนะครับว่าได้เรียนรู้ตนเองมากน้อยเพียงใด และต้องอย่าลืมว่าแนวทางหนึ่งที่จะเรียนรู้ตัวเองได้ดีที่สุดคือจากการพูดคุยกับผู้อื่น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *