นวัตกรรมรถบรรทุกขนาดใหญ่ B-double รถกึ่งพ่วงบรรทุกแบบพิเศษ

นวัตกรรมรถบรรทุกขนาดใหญ่ B-double รถกึ่งพ่วงบรรทุกแบบพิเศษ
Source: iTransport

ในยุคที่ประสิทธิภาพและต้นทุนการขนส่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาร่วมกันอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนหลักของการขนส่งคือน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก๊าซธรรมชาติและไบโอดีเซลกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการขนส่งต้องศึกษาและพัฒนากองรถมาทดลองและใช้กันแน่นอน
การพัฒนารถไฟและการขนส่งทางลำน้ำให้สามารถขนส่งสินค้าในเส้นทางหลักได้มากขึ้น มีบริการที่แน่นอนและสามารถเชื่อมต่อกับการขนส่งด้วยรถบรรทุกได้สะดวกรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายปรารถนา เพราะคาดหมายว่าจะทำให้การขนส่งได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุก ประเด็นเรื่องการขนส่งในปริมาณมากๆ ต่อเที่ยว มักจะยกประเด็นในเรื่องการประหยัดพลังงาน การลดปริมาณมลพิษจากน้ำมัน และการประหยัดค่าจ้างแรงงานของพนักงานขับรถ โดยทั้งหมดคิดหารเฉลี่ยจากจำนวนหน่วยสินค้าและระยะทางขนส่งต่อเที่ยวนั้นๆ หลายครั้งที่รถบรรทุกถูกวางตำแหน่งให้ทำหน้าที่ขนส่งและกระจายสินค้าในระยะทางรัศมีสั้นๆ รอบๆ สถานีหรือต้นทางปลายทางที่เป็น hub

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่รอ hub และการพัฒนาบริการและเส้นทางหลักที่ควรจะเป็นรถไฟและลำน้ำ ในหลายๆ ประเทศก็ยังให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกในเส้นทางหลักหรือระยะทางไกล ซึ่งรถบรรทุกในเส้นทางหลักนี้ควรต้องเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่มากกว่า 10 ล้อขึ้นไป เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกที่ต้องวิ่งบนท้องถนนและลดปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถด้วย นวัตกรรมรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่พึ่งมีการแนะนำให้รู้จักในบ้านเราคือ รถกึ่งพ่วงบรรทุกแบบพิเศษ หรือรถ B-double ซึ่งได้มีการทดลองและอนุญาตให้ใช้แล้วในปัจจุบัน

รถกึ่งพ่วง (semi-trailer) โดยปกติประกอบด้วยรถหัวลาก 3 เพลา และตัวกึ่งพ่วงสำหรับวางสินค้าเทียบเท่าตู้ขนาด 40 ฟุต ความยาวโดยรวมทั้ง 2 ตัวประมาณ 18 เมตร แต่ถ้าเป็นรถ B-double จะเพิ่มตัวกึ่งพ่วงแบบพิเศษไว้ตรงกลางที่ออกแบบส่วนหางให้สามารถพ่วงตัวกึ่งพ่วงปกติได้ ตัวกึ่งพ่วงแบบพิเศษนี้จะบรรทุกสินค้าเทียบเท่าตู้ขนาด 20 ฟุต นั่นหมายถึงว่าการขนส่งสินค้าด้วยรถ B-double จะขนได้เที่ยวละ 2 ตู้ (1 ตู้ 40 ฟุต+1 ตู้ 20 ฟุต) โดยน้ำหนักรวมสำหรับรถ 7 เพลา (หัวลาก 3 เพลา+กึ่งพ่วง 2 ตัวๆ ละ 2 เพลา) สูงสุดได้ถึง 65 ตัน ถ้าเป็นรถ 9 เพลาจะได้ถึง 76 ตัน จากเดิม 45 ตันกรณีรถกึ่งพ่วงปกติ ทั้งนี้ความยาวโดยรวมทั้งหมดของรถ B-double ต้องไม่เกิน 25 เมตร

มาตรฐานของรถ B-double อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในกลุ่มประเทศยุโรปหลายประเทศได้มีการนำรถ B-double มาทดลองใช้ด้วยเช่นกัน เช่น ประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ซึ่งในกลุ่มประเทศยุโรปกำหนดมาตรฐานความยาวสูงสุดที่ 25.25 เมตร ที่น้ำหนักบรรทุกรวม 60 ตัน

หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมเรียก B-double จริงๆ แล้วรถประเภทนี้ได้มีการพัฒนาขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียก่อน และมีหลากหลายรูปแบบมากกว่าที่นำมาทดลองใช้ในประเทศต่างๆ คำว่า B-double มาจากการที่เรียกรถหัวลากว่าเป็นตัว A และเรียกตัวหางหรือตัวกึ่งพ่วงว่าเป็นตัว B เมื่อมีตัวกึ่งพ่วง 2 ตัว จึงเรียกว่า B-double หากมีตัวกึ่งพ่วงต่อกันเพิ่มเป็น 3 ตัวก็เรียกว่า B-triple ถ้าเพิ่มเป็น 4 ตัวเรียก Double B-double

เดิมทีรถประเภทนี้เรียกกันว่า Road Train หรือ B-train ในยุโรปบางทีเรียก Eco Link หรือ EMS (European Modular System) ศัพท์ที่เป็นกลางๆ ให้ความหมายที่เข้าใจง่ายกว่าคือ Multi-Trailer-Combinations (MTCs) และ Larger Heavier Vehicles (LHVs) บางรัฐในประเทศออสเตรเลียกำหนดให้รถกึ่งพ่วงแบบพิเศษนี้ยาวสูงสุดได้ถึง 53.5 เมตร น้ำหนักรวมได้สูงสุดถึง 200 ตัน น้องๆ รถไฟเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทยได้มีการศึกษาทดลองใช้งานรถกึ่งพ่วงบรรทุกแบบพิเศษหรือรถ B-double ในปี 2547 ใน 3 เส้นทางหลักได้แก่ วังน้อย-เชียงใหม่ วังน้อย-อุดรธานี และวังน้อย-หาดใหญ่ โดยทำการทดสอบ 10 เที่ยว ในแต่ละเส้นทาง ดำเนินการศึกษาโดยสำนักวิศวกรรมและความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบก บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด และบริษัท ลินฟอกซ์ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ เปรียบเทียบกับรถกึ่งพ่วงธรรมดาและรถ 10 ล้อ และทดสอบความปลอดภัยในการใช้รถในสภาพการจราจรจริง ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ สายเหนือ รถ B-double ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารถกึ่งพ่วง 20% และประหยัดมากว่ารถ 10 ล้อ 30% จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 213 เที่ยว สายใต้ รถ B-double ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารถกึ่งพ่วง 12% และประหยัดมากว่ารถ 10 ล้อ 22% จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 160 เที่ยว สายอีสาน รถ B-double ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารถกึ่งพ่วง 22% และประหยัดมากว่ารถ 10 ล้อ 29% จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 282 เที่ยว

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะใช้รถ B-double ขนาดต่างๆ ในการขนส่งนั้น รถหัวลากก็ต้องมีกำลังที่เพียงพอกับการลากจูงน้ำหนักที่มากขึ้นตามไปด้วย อัตรากำลังเครื่องยนต์ต้องไม่น้อยกว่า 5 KW/ton (ประมาณ 6.8 แรงม้า/ตัน) ซึ่งหมายถึงต้นทุนในการซื้อรถจะสูงมากด้วย นอกจากนี้ ภาครัฐยังกำหนดให้รถที่พ่วงต่อกันทุกคันในรถ B-double ต้องมีระบบรองรับน้ำหนักแบบถุงลม (air suspension) และมีระบบห้ามล้อแบบป้องกันการล็อคของล้อ (ABS) หรือระบบห้ามล้อแบบควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (EBS) พนักงานขับรถก็ต้องผ่านการอบรมและทดสอบความสามารถในการขับรถประเภทนี้ด้วย เส้นทางที่ใช้ในการวิ่งรถ B-double ต้องตรวจสอบด้วยว่าอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงเส้นใดบ้าง จุดใดที่สามารถหยุดพักรถได้ สถานีที่สามารถเติมเชื้อเพลิงได้ เป็นต้น

เพราะด้วยขบวนรถยาว 25 เมตร คงต้องคำนึงถึงความกว้างและความปลอดภัยในการเลี้ยวรถและการใช้ถนนร่วมกับรถประเภทต่างๆ ด้วย จุดต้นทางและปลายทางควรเป็นสถานีรถบรรทุกหรือจุดรวบรวมสินค้าของเมืองหลักในภูมิภาคต่างๆ แล้วจึงกระจายสินค้าเข้าเขตเมืองด้วยรถบรรทุกขนาดเล็กที่เหมาะสมต่อไป

การใช้รถกึ่งพ่วงแบบพิเศษ B-double จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยเกื้อกูลเส้นทางรถไฟที่ยังให้บริการขนส่งสินค้าได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากมีการพิจารณาสร้าง hub สำหรับการขนส่งสินค้าที่ชัดเจนในส่วนภูมิภาคก็จะทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น node สำหรับสร้างเส้นทางหลักและจุดพักรถบรรทุกที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของตัวรถและดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของพนักงานขับรถทำให้การบริหารจัดการระบบการขนส่งสินค้าสะดวกยิ่งขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *