ทุนอสังหาฯขานรับรัฐคลอดภาษีที่ดิน

ทุนอสังหาฯขานรับรัฐคลอดภาษีที่ดิน
วันพุธที่ 21 เมษายน 2010 เวลา 09:09 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 – ข่าวหน้า1

ครม.ไฟเขียวคลอดร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และพ.ร.บ.ตั้งธนาคารที่ดินช่วยคนจน ให้มีที่ดินทำกิน “กรณ์” ยัน 2 ปี ได้จัดเก็บแน่แม้การเมืองสุ่มเสี่ยงแต่ก็เชื่อว่าน่าจะได้แรงหนุนทางการเมือง ด้านเอกชนเห็นดีด้วยในหลักการแต่เชื่อเกิดยาก ชี้ยังไม่เคลียร์หลายประเด็นทั้งลักษณะของอาคารและก.ม.ที่ซ้ำซ้อน ขณะที่ธนารักษ์เร่งประเมินราคาที่ดิน 30 ล้านแปลงทั่วประเทศรองรับ
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยหลังจากนี้ก็จะนำไปสู่ชั้นของการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป ซึ่งการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นความตั้งใจของรัฐบาลตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ โดยที่กระทรวงการคลังได้ใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีในการที่จะซักซ้อม หรือทำความเข้าใจกับประชาชน และทุกส่วนของสังคมที่จะได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวก และในเชิงลบจากการปฏิรูปครั้งดังกล่าว
” เชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ระดับความยุติธรรมในสังคมมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเป็นร่างที่จะมาทดแทนการจัดเก็บภาษี 2 ส่วนที่จัดเก็บอยู่ ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน ซึ่งมองว่ามีข้อบกพร่องอยู่และมีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อมองจากโครงสร้างภาษีของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งอิงกับการจัดเก็บรายได้จากรายได้ของประชาชนมากกว่าจากความร่ำรวยของประชาชน”
นอกจากนี้ ครม. ยังได้ให้คำแนะนำกับกระทรวงการคลังเพิ่มเติม ในการทำประชาพิจารณ์ เพื่อที่จะหาข้อสรุปในเรื่องของข้อยกเว้น ควบคู่ไปกับการพิจารณากฎหมายในชั้นกฤษฎีกา เพื่อในเวลาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในส่วนของกฎหมายแล้วเสร็จ สามารถที่จะนำข้อเสนอจากกลุ่มต่าง ๆในรายละเอียดไปประกอบกับการปรับปรุงร่าง เพื่อที่จะนำเสนอให้สภาได้พิจารณาต่อไป โดยเป้าหมายต้องการเห็น พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 2 ปีในการตราออกมาในรูปของกฎหมาย ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีบทเฉพาะกาลของระยะเวลาที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หรือประชาชน จะได้เตรียมตัวพร้อมทั้งปรับตัวเข้ากลับการคำนวณภาษีแบบใหม่ ซึ่งจะต้องมีการชำระในอีก 2 ปีข้างหน้า
นอกจากความยุติธรรมจะเกิดขึ้นแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะนำไปสู่การปฏิรูปโอกาสการเข้าถึงแหล่งที่ทำมาหากินของประชาชนที่ยากจนอีกต่างหาก เพราะจะมีการตรา พ.ร.บ. อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งก็คือ พ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน เพื่อที่จะมารองรับการจัดตั้งกองทุนจากรายได้ภาษี พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำรายได้ในส่วนดังกล่าวไปจัดซื้อที่ดิน เพื่อประโยชน์ของประชาชนซึ่งด้วยตัวเองแล้วอาจจะไม่มีโอกาสเข้าถึงที่ดินเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงเพื่อทำมาหากิน หรือด้วยการทำการเกษตร หรือการเข้าถึงในรูปของที่อยู่อาศัย ซึ่งก็จะเป็นภาระหน้าที่ของธนาคารที่ดินที่จะใช้รายได้ไปดูแลในส่วนดังกล่าว โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐชุดปัจจุบัน ที่มีต่อการลดช่วงของความเหลื่อมล้ำที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราการจัดเก็บ และอัตราการยกเว้นจะต้องมีประกาศอีกครั้งหนึ่งซึ่งโดยรวมๆของข้อยกเว้นที่จะมีการกำหนดใช้เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะต้องส่งผลให้คนจนไม่มีภาระภาษี โดยจะต้องเสนอให้รายได้ส่วนใหญ่ที่จะได้จาก พ.ร.บ.ดังกล่าว หรือถ้ากล่าวก็ตามความจริงก็คือมาจากคนรวย” นายกรณ์กล่าวและว่า
ทั้งนี้ แม้ว่าการนำเสนอ พ.ร.บ. ดังกล่าวในช่วงเวลานี้จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อความล้มเหลว แต่เชื่อว่าจากความคิดเห็นของ ครม.จากเกือบทุกพรรคที่ร่วมกันก่อตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งสนับสนุน เพราะฉะนั้นจึงน่าจะมีความคาดหวังได้ว่าในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีอย่างแน่นอนก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ น่าจะยังคงให้การสนับสนุน พ.ร.บ. ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น
ด้านนายอิสระ บุญยัง สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะจะทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทั้งการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระยะยาว แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความชัดเจนในเรื่องของความซ้ำซ้อนของกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ และความชัดเจนในเรื่องของสิ่งปลูกสร้าง เพราะอย่างกรณีของ การขออนุญาตสร้างตึกแถวถ้าเป็นที่อยู่อาศัยจะเสีย 0.1% ถ้าเป็นเชิงพาณิชย์เสีย 0.05% ดังนั้นจึงมีการขออนุญาตเป็นเชิงพาณิชย์เพราะถ้าเป็นที่อยู่อาศัยยังต้องมีพื้นที่โล่งอีก 30% เป็นต้น
“จะหารือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องทั้งสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เพื่อทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงกระทรวงการคลังในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจน ในเร็ว ๆนี้และยังเห็นว่าพ.ร.บ.นี้น่าจะเกิดยาก และต้องใช้ระยะเวลา ”

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านั้นได้เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ 8 ประเด็นหลักคือ 1. ควรจัดเก็บภาษีในแบบขั้นบันได ในปีแรก ก่อนเสียเต็มอัตราที่ต้องชำระ สำหรับผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ 2. รัฐบาลต้องทบทวนภาษีใหม่ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน 3.สาธารณูปโภคส่วนกลางของโครงการจัดสรร ควรได้รับการยกเว้นภาษี และเมื่อมีการโอนสาธารณูปโภคเป็นของรัฐ โดยรัฐเป็นผู้รับภาระ 4. รัฐบาลควรมีแนวทางที่ชัดเจนในการให้อิสระกับการปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษี
ประเด็นที่ 5 ให้ส่วนปกครองท้องถิ่นสามารถยืดหยุ่นในการเพิ่มลดภาษีได้ ตามกำหนดเพดานภาษี เพื่อให้เกิดการจูงใจในการลงทุนในท้องถิ่น 6. ควรกำหนดกรอบการใช้เงินรายได้จากภาษีให้ชัดเจน 7.รัฐควรมีเงินสนับสนุนในบางท้องที่ที่มีพื้นที่ไม่มีศักยภาพต่อการพัฒนา และประเด็นที่ 8 รัฐบาลควรทบทวนเรื่องการคิดภาษีระหว่างจากรายได้ และฐานทรัพย์สินให้เหมาะสม เพื่อให้รัฐยังคงเกิดประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี เพราะบางธุรกิจมีฐานทรัพย์สินสูงแต่มีรายได้ต่ำ
เช่นเดียวกับนายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่กล่าวว่า กฎหมายนี้หากมีการนำมาใช้ถือว่าเป็นผลดีต่อภาพรวม เพราะว่าจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีราคาที่ดินสูง และมีการพัฒนาโครงการต่างๆ ออกมาจำนวนมาก อาทิ จ.ภูเก็ต เพราะที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับแต่ละท้องถิ่น จะใช้เกณฑ์จำนวนประชากรเป็นหลัก โดยไม่ได้มีการนำเอาเรื่องของผลประโยชน์ในธุรกิจท่องเที่ยวไปพิจารณา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางสมาคมเป็นห่วงและนำเสนอข้อมูลต่อภาครัฐในช่วงที่ผ่านมานั้น คือประเด็นการประเมินราคาที่ดินให้มีความยุติธรรม เพราะที่ดินแม้จะมีขนาดเท่ากัน แต่หากมีรูปร่างหรือทำเลที่ต่างกันราคาก็ไม่เท่ากัน แม้ว่าจะมีเกณฑ์การประเมินกลางอยู่แล้ว แต่ราคาที่ดินตามราคาตลาดก็ต้องมีการพิจารณาให้เหมาะสม ซึ่งอาจจะมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมกับหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ภาครัฐจะนำมาใช้ด้วยก็ได้
“ประโยชน์ของภาษีที่ดินฯ จะส่งผลในภาพรวม แม้ว่าจะมีบางคนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่เชื่อว่าจะสามารถจ่ายได้ รวมถึงบางคนที่มีที่ดินถือครองจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรืออาจจะขายออกก็ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบ ” นายกิตติพล กล่าว
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างเตรียมประเมินราคาที่ดินรายแปลงทั่วประเทศทั้ง 30 ล้านแปลง รองรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะบังคับใช้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ประเมินแล้ว 5.6 ล้านแปลง ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่บางอำเภอเท่านั้น คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกนานเนื่องจากกำลังคนและงบประมาณมีจำกัด ซึ่งต้องทยอยดำเนินการ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปจัดเก็บหารายได้เข้าท้องถิ่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,524 22 – 24 เมษายน พ.ศ. 2553

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *