ทำเรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย

ทำเรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย

ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างความคิดที่ช่วยทำให้เรื่องยาก อย่างการควบคุมคุณภาพในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่การประเมินความพึงพอใจลูกค้าในภาคบริการ กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ แบบปอกกล้วยเข้าปากกันดีกว่า

ตัวอย่างการควบคุมคุณภาพในโรงงานอุตสาหกรรม
ทุก ๆ ขั้นตอนหรือกระบวนการในกระบวนการผลิตของโรงงานต่าง ๆ นอกจากของดีที่ผลิตได้แล้ว อีกจำนวนหนึ่งมักจะเป็นของเสีย (Defect) ในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับโรงงานที่ไม่มีความสนใจหรือใส่ใจในการที่จะพัฒนากระบวนการผลิตของตนเองให้มีคุณภาพมากขึ้น มักจะเก็บและโกยของเสียเหล่านั้นทิ้งบ้าง นำกลับไปรีไซเคิลบ้างตามชนิดและประเภทของวัสดุที่เสียหาย

แต่สำหรับโรงงานที่มีมาตรฐานขึ้นมาหน่อยก็จะมีการจดบันทึกปริมาณของเสียจำแนกตามลักษณะอาการที่เสีย จากนั้นนำตัวเลขมาเข้าสูตรคำนวณยุ่งยากให้ดูยุ่งเหยิงหน่อย บ้างก็พล็อตกราฟแท่งที่มีการเรียงตัวจากอาการเสียที่เกิดมากที่สุดไล่ระดับลงไปจนถึงเกิดน้อยสุด เพื่อจะดูว่าอะไรที่เป็นปัญหาใหญ่ ตามเทคนิคที่เรียกว่า แผนภูมิพาเรโต ก็ดูดีนะ แต่มีอะไรที่ง่ายกว่านั้นไหม ชนิดไม่ต้องมาจดบันทึกใส่กระดาษให้เปลือง แล้วต้องมานั่งจิ้มเครื่องคิดเลข พล็อตกราฟอีก สงสารคนงานที่การศึกษาน้อยกันหน่อย

โรงงานหัวใสแห่งหนึ่ง นำกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเท่า ๆ กันประมาณ 5-6 กล่อง โดยมีป้ายระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นกล่องใส่ของเสียประเภทอะไร ที่แน่ไปกว่านั้นอีกคือ มีตัวอย่างชิ้นงานเสียติดประกอบป้องกันความสับสนไว้อีกด้วย เมื่อใดก็ตามที่พบของเสีย พนักงานในขั้นตอนการผลิตดังกล่าวจะนำของเสียนั้นใส่ลงไปในกล่องตามลักษณะอาการที่พบ หลังเลิกงานก็จะมาพิจาณาดูว่ากล่องไหนมากที่สุด แสดงว่าวันนั้นทั้งวันเกิดของเสียนั้น ๆมาก วันรุ่งขึ้นก็นัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องสุมหัว (ระดมสมอง) เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขในทันที

ร้านค้าผู้ให้บริการแห่งหนึ่ง ต้องการสำรวจความพึงพอใจต่อการให้บริการของร้านสาขาต่าง ๆ จึงจัดทำกระบอกทรงสูง (ใส) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าลูกปิงปองเล็กน้อย โดยจัดวางลงบนบอร์ดติดกัน 5 กระบอก และระบุตัวหนังสือว่าเป็น พอใจมากที่สุด พอใจมาก เฉย ๆ ไม่พอใจ ควรปรับปรุงเร่งด่วน ทุกครั้งที่ลูกค้าได้รับบริการเสร็จแล้ว จะได้รับลูกปิงปองคนละ 1 ลูก ก่อนออกจากร้าน ลูกค้าก็จะนำลูกปิงปองไปหย่อนใส่กระบอกดังกล่าวที่เตรียมไว้ เรียกว่าประเมินกันต่อหน้าเลย ดังนั้นกระบอกใดที่มีลูกปิงปองใส่มากที่สุด ก็สะท้อนถึงความรู้สึกของลูกค้านั่นเอง

ที่มา : http://ftpi.or.th

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *