จุดมืดดวงอาทิตย์กำลังจะหายไป?

จุดมืดดวงอาทิตย์กำลังจะหายไป?
11 กันยายน 2552 รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นเวลากว่าสองปีแล้วที่ดวงอาทิตย์ยังคงจมอยู่ในช่วงต่ำสุดของวัฏจักรสุริยะ ผิวหน้าดวงอาทิตย์ที่น่าจะเริ่มมีจุดมืดใหม่เกิดขึ้นทีละน้อยกลับว่างเปล่า บางครั้งอาจมีเพียงจุดเกิดขึ้นมาเพียงเล็กน้อยแล้วก็หายไปอีกนานหลายสัปดาห์ จากสถิติ ถือว่าดวงอาทิตย์กำลังหลับลึกที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ จนเริ่มเกิดคำถามขึ้นมาว่า จุดมืดบนดวงอาทิตย์กำลังจะหายไปแล้วหรือ

“โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่ามันจะกลับขึ้นมาอีก” แมตต์ เพนน์ นักดาราศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์แห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสโอ) ในทูซอน แอริโซนาให้ความเห็น “แต่.. มันก็มีหลักฐานว่ามันจะไม่กลับขึ้นมาเหมือนกัน”

เพนน์ และ บิลล์ ลิฟวิงสตัน จากเอ็นเอสโอได้สำรวจสนามแม่เหล็กของจุดมืดดวงอาทิตย์มาเป็นเวลา 17 ปี และพบว่าสนามแม่เหล็กในจุดมืดของดวงอาทิตย์กำลังลดลงในอัตรา 50 เกาสส์ต่อปี

“หากอัตรานี้ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จุดมืดของดวงอาทิตย์จะหายไปหมดสิ้นในปี 2558” เพนน์กล่าวเตือน

การหายสาบสูญของจุดมืดอาจเป็นไปได้ เนื่องจากแท้จริงแล้วจุดมืดก็คือบ่อของสนามแม่เหล็กเข้มข้นที่ปิดขวางการไหลของแก๊สร้อนจากใต้ผิวดวงอาทิตย์ เป็นเหตุให้ดูดำมืดคล้ำกว่าส่วนอื่น

“จากการวัดของเรา จุดมืดดวงอาทิตย์ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเมื่อสนามแม่เหล็กเข้มกว่า 1,500 เกาสส์” ลิฟวิงสตันอธิบาย “หากสนามแม่เหล็กของจุดมืดกำลังลดลงต่อไปอย่างนี้ จุดมืดก็จะหายไปเพราะสนามแม่เหล็กต่ำเกินกว่าจะทำให้เกิดจุดมืดได้”

เมื่องานวิจัยนี้เผยแพร่ออกมา ก็ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงฟิสิกส์สุริยะทันที หนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่ไม่เห็นพ้องกับเจ้าของงานวิจัยก็คือ เดวิด แฮทาเวย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุดมืดดวงอาทิตย์ขององค์การนาซา

“เราไม่ข้องใจเรื่องข้อมูลจากการสำรวจ ลิฟวิงสตันกับเพนน์เป็นนักสำรวจชั้นยอด แนวโน้มที่เขาค้นพบก็ดูจะเป็นเรื่องจริง แต่การคาดคะเนของทั้งสองไม่น่าจะถูกต้อง” แฮทาเวย์ให้ความเห็น

แฮทาเวย์สังเกตว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ในงานวิจัยนี้ได้มาหลังจากช่วงสูงสุดของวัฏจักรสุริยะ 23 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2543-2545 กัมมันตภาพของจุดมืดจึงย่อมลดลงเป็นธรรมดาอยู่แล้ว การลดลงที่พบจึงเป็นลักษณะปกติของวัฏจักรสุริยะเท่านั้น ไม่ใช่สัญญาณว่าจุดมืดจะหายไปตลอดกาลแต่อย่างใด

เพนน์เองก็สงสัยในประเด็นนี้เช่นกัน “เทคนิคที่เราใช้ค่อนข้างใหม่ และข้อมูลก็สืบย้อนหลังไปได้แค่ 17 ปี จึงเป็นไปได้ที่สิ่งที่เราสังเกตพบเป็นเพียงขาลงช่วงสั้น ๆ ก่อนที่จะแกว่งกลับขึ้นมาอีกครั้งก็ได้”

เทคนิคที่ใช้ในการสำรวจนี้ คิดค้นขึ้นโดยลิฟวิงสตันจากกล้องโทรทรรศน์สุริยะแมกแมท-เพียร์ซ ใกล้ทูซอน วิธีนี้ใช้ส่องเส้นสเปกตรัมที่เปล่งออกมาจากอะตอมของเหล็กในบรรยากาศของดวงอาทิตย์ สนามแม่เหล็กของจุดมืดทำให้เส้นสเปกตรัมแยกออกเป็นสองเส้น เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการแยกซีแมน (Zeeman splitting) ตั้งชื่อตามนักฟิสิกส์ชาวดัทช์ ปีเตอร์ ซีแมน ที่ค้นพบปรากฏการณ์นี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19

นักดาราศาสตร์ได้วัดสนามแม่เหล็กของจุดมืดดวงอาทิตย์มาเป็นเวลาเกือบศตวรรษแล้ว แต่ส่วนใหญ่วัดสเปกตรัมของแสงขาวหรือแสงที่ตามองเห็น ส่วนลีฟวิงสตันเลือกที่จะสังเกตสเปกตรัมในย่านรังสีอินฟราเรด ซึ่งไวต่อปรากฏการณ์ซีแมนมากกว่าจึงให้ผลลัพธ์แม่นยำมากกว่า

หากว่าจุดมืดบนดวงอาทิตย์จะหายไปจริง ๆ ก็จะไม่ใช่ครั้งแรก ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดวงอาทิตย์ก็เคยหลับยาวเป็นเวลานานถึง 70 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ดวงอาทิตย์แทบไม่มีจุดมืดเลย เป็นช่วงเวลาที่มีชื่อว่าช่วงต่ำสุดมอนเดอร์

“นี่จะเป็นสัญญาณบอกเหตุถึงช่วงต่ำสุดมอนเดอร์รอบใหม่หรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป” ลิฟวิงสตันและเพนน์ทิ้งท้าย

ที่มา:
Are Sunspots Disappearing? – Science@NASA

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *