'จัดการอย่างไร เมื่อใจเครียด'

‘จัดการอย่างไร เมื่อใจเครียด’
• คุณภาพชีวิต
แนะนวด-ฟังเพลง ช่วยได้

ท่ามกลางภาวะวิกฤติของสังคมที่มีปัญหารุมเร้ารอบด้าน สร้างแรงกดดันในการดำเนินชีวิตจนทำให้ความเครียดเข้ามาเยือนโดยที่เราไม่รู้ตัว คนที่แก้ปัญหาได้ถือว่าโชคดี แต่บางคนหาทางออกไม่ได้กลับต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร

ความเครียดของคนเราเพิ่มขึ้นทุกปี จากการวิจัยในปี พ.ศ. 2546 โดยกรมสุขภาพจิตพบว่า 8% ของคนไทยมีภาวะเครียดระดับมาก ประมาณ 5% มีภาวะและอาการของโรคซึมเศร้า 1% หรือประมาณ 6 แสนคนมีอาการของโรคจิตที่มีอาการ เช่น หูแว่ว ประสาทหลอนอีก 1% ของเด็กไทยมีปัญหาด้านสติปัญญาและ การพัฒนาการ ประมาณ 5% หรือ 680,000 คน มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ที่จำเป็นต้องพบจิตแพทย์ และประมาณ 7 คนในแสนคนต่อปีที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

“แทบทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ของความเครียด เพราะความเครียดเกิดขึ้นได้กับคนเราทุกที่ ทุกเวลา ต้องเข้าใจด้วยว่าความเครียดไม่ใช่โรค เป็นภาวะหนึ่งที่คู่กับมนุษย์ในการปรับตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจให้เตรียมความพร้อมต่อสิ่งที่มาคุกคาม เพื่อหาหนทางที่จะหนี หาที่พึ่ง สู้หรือยอมแพ้ เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ที่มักคิดอะไรไปก่อนล่วงหน้าเพื่อหาทางป้องกันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจไม่มีเหตุการณ์ที่คิดไว้เกิดขึ้น”

สาเหตุของความเครียด มีอยู่ 3 ทางด้วยกัน คือ ทางร่างกาย จิตใจ และสังคม จากการวิจัยเรื่องความเครียดกับผลต่อร่างกาย พบว่าคนที่มีความเครียดจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทางร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยา หัวใจ เต้นเร็ว หายใจเร็ว ระบบแรงดันเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อดันเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของ ร่างกาย หากมีอาการนาน ๆ อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อเกร็ง ทำให้มีอาการปวดร่างกายตามมาโดยเฉพาะที่ขมับและต้นคอ บางคนเมื่อเครียดแล้วเป็นที่กระเพาะอาหาร ที่เรียกกันว่า เครียดลงกระเพาะกินอะไรก็ไม่ได้ อาเจียน บางคนท้องเสียได้

สำหรับด้านจิตใจ บางคนร่างกายดีแต่จิตใจไม่สมบูรณ์พร้อม เช่น ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความระมัดระวังปกป้องตลอดเวลา เนื่องจากผู้เลี้ยงกังวลว่าจะเกิดอันตรายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก เด็กจะโตขึ้นมาพร้อมกับความกังวล มากกว่าเด็กปกติทั่วไป ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง

สุดท้ายคือ ทางด้านสังคม ร่างกายเกิดมาแข็งแรงดี ไม่มีโรค จิตใจดี ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี แต่ส่งให้ไปอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนทะเลาะกันทุกวัน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะ การเงิน ครอบครัว และการเมือง ที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้เกิดความเครียดได้ด้วยเช่นกัน สิ่ง แวดล้อมที่ไม่ดีจะทำให้เกิดความกังวล ทุกข์ใจ นอนไม่หลับ คิดมาก และเกิดความเครียดขึ้น

“ความเครียดที่เกิดมาจาก 3 ทาง ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการระบาย ออกที่เหมาะสมที่พูดกันว่า ใจมันร้อนเป็นไฟ บางคน รู้ช่องทางถ่ายเทที่ถูกต้อง เช่น ไปออกกำลังกาย เล่นกีฬา หลายคนกลับใช้กลไกทางจิตหาทางออกในทางที่ผิด อย่างระบายกับลูกน้อง ครอบครัว ขว้างปาสิ่งของ ถึงแม้บางคนจะมีการระบายออกในทางที่ดีมาตลอดเมื่อมาเจอวิกฤติธุรกิจเป็นหนี้สินจำนวนมาก บางครั้งหาทางออกไม่ได้อาจแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสมได้”

ถ้าเกิดขึ้นใน 3 อย่างนี้ แสดงว่าเริ่ม มีปัญหาสุขภาพจิตแล้ว โดยดูความรุนแรงที่แสดงออกมาว่าตนเอง ผู้อื่น หรือสังคมเดือดร้อนหรือไม่ และมีการตรวจสอบในขั้นต่อไปเพื่อดูว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ ปัญหามักอยู่ที่ไม่ยอมรับว่าตนเองเครียด เก็บงำอาการไม่บอกใคร ไม่ยอมรับการรักษาแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย รู้สึกเสียหน้า สูญเสียความน่าเชื่อถือที่ ส่งผลให้เกิดความอาย ถูกตัดสิทธิและสิ้นหวัง รอยด่างพร้อยจนไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ กลัว คนจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนบ้า จนอาจนำไปสู่อาการระดับรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อทั้งตนเอง ครอบครัวและสังคมได้ จึงต้องตัดความคิดเหล่านี้ทิ้งให้ได้

ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเกิดความเครียดมากกว่าผู้ชาย ที่เป็นเช่นนี้จากทฤษฎีหนึ่งพบว่า ผู้ชายมีทางระบายความเครียดมากกว่าผู้หญิงในทางที่ถูกต้อง เช่น การเล่นกีฬา สถานเริงรมย์ทั้งหลายก็มักจะสร้างขึ้นมาไว้รองรับผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้หญิงนอกจากเรื่องงานแล้วยังมีครอบครัวและเรื่องส่วนตัวอีก ต่างจากผู้ชายที่รับผิดชอบเรื่องงานเป็นหลัก การระบายออกของผู้หญิงจึงถูกจำกัด โดยเฉพาะในวัยทำงานอายุระหว่าง 20-40 ปี จะเป็นช่วงที่เครียดง่ายที่สุด แต่ก็หายเร็วและรักษาง่ายที่สุด

กรมสุขภาพจิต มีสายด่วนสุขภาพจิต คือ 1323 เป็นสายด่วนที่มีบุคลากรคอยรับสาย มีทั้งหมด 17 คู่สายทั่วประเทศ ต้องเป็นโทรศัพท์บ้านเท่านั้นถึงจะโทรฯ เข้าได้ และ 1667 เป็นสายด่วนรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตแบบอัตโนมัติ

ความเครียดไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่ต้องอยู่ ในระดับที่พอเหมาะ ให้ดูว่าสถานการณ์เช่นนี้ควรทำตัวอย่างไร ซึ่งแต่ละสถานการณ์ความเครียดจะแตกต่างกัน ถ้าเรามีการจัดการที่ดีไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตามจะทำให้ความเครียดนั้นลดน้อยลงได้วิธีจัดการกับความเครียด

1. ต้องรู้จักกับความเครียด ให้คิดว่าเครียดเป็นเรื่องที่ดี จะได้มีกำลังใจที่จะจัดการ กับปัญหา อย่าไปมองว่าเครียดเป็นเรื่องลบ ในขณะเดียวกันต้องรู้ด้วยว่า ถ้าเราเครียดมาก ๆ จะเป็นลบ อย่าให้อารมณ์ไปถึงจุดนั้น

2. ตัวเอง เพราะเมื่อรู้ตัวว่าเครียดอยู่จะได้ไม่ไประบายกับลูกน้อง กับครอบครัว มีการปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อหาหนทางในการจัดการกับความเครียดนั้นด้วยการระบายออกในทางที่ถูกต้อง คือ การเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวก เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย หยุดคิดเรื่อง นั้นชั่วขณะ ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน

3. หาหนทางในการระบายความเครียด ที่ถูกต้อง วิธีการจัดการกับความเครียดนั้นมีเทคนิคมากมาย อย่างเช่นใช้ศาสนา การนวด ฟังเพลง เข้ามาช่วยลดความเครียด อย่าทำ ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม เช่น หย่า ลาออก ฆ่าตัวตาย และลดปัญหาที่จะทำให้ความเครียดนั้นทวีคูณขึ้นมาด้วย เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ยาเสพติด การเที่ยวกลางคืน

ที่สำคัญให้มองว่า ความเครียดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ต้องรู้หนทางในการจัดการกับความเครียดอย่างถูกวิธี ยอมรับสภาวะนั้นเพื่อหาหนทางระบายออกอย่างผู้รู้ ทุกปัญหามีทางออกเสมอ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *