จอห์น เอช จอห์นสัน ตอน 3 (จบ)

จอห์น เอช จอห์นสัน ตอน 3 การขยายกิจการ

ระหว่างช่วงปีแรก นิตยสารเนโกร ไดเจสท์ ก็ทำกำไรให้แก่จอห์นสัน จนเขาคิดจะขยายกิจการ ภายหลังซื้อร้านติดถนนเซาท์ ไซด์ ในปี 1943 เป็นเงิน 4,000 ดอลลาร์ เพื่อใช้เป็นสำนักงานแล้วเขาก็เริ่มแสวงหาโอกาสใหม่ๆ โดยตัดสินใจออกนิตยสารฉบับใหม่ที่ชื่อว่า อีโบนีย์ โดยฉบับแรกปรากฏบนแผงขายหนังสือในปี 1945 มียอดพิมพ์ 25,000 ฉบับในเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็จำหน่ายหมดเกลี้ยงจนจอห์นสันต้องสั่งพิมพ์เพิ่มอีก 25,000 ฉบับ ปี1947 อีโบนีย์ กลายเป็นนิตยสารของคนดำฉบับแรกที่กรมสถิติการพิมพ์ติดตามตรวจสอบและลงทะเบียนว่ามีจำนวนพิมพ์ 390,715 ฉบับ
การมีสมาชิกแน่นอนเป็นฐานการเงินที่มั่นคงให้แก่ อีโบนีย์ ก็จริง แต่อีโบนีย์ก็เหมือนกับนิตยสารทุกฉบับที่ต้องการรายได้จากการโฆษณามาเลี้ยงตัวเอง จอห์นสันไม่ยอมลดคุณภาพ เขายืนยันมาตรฐานเดียวกับที่ผู้อ่านผิวขาวจะหาได้จากนิตยสารไลฟ์ แต่กระดาษอาบมัน การพิมพ์คุณภาพสูง และการมีภาพประกอบเป็นจำนวนมากทำให้อีโบนีย์ มีค่าใช้จ่ายสูง และในเมื่อจอห์นสันผลิตแบบขาดทุนยิ่งพิมพ์มากเท่าใด เขาก็ขาดทุนมากเท่านั้น
ทำให้เขาต้องต่อสู้ พยายามหาโฆษณา ซึ่งส่วนมากมักจะมีคนผิวขาวเป็นเจ้าของกิจการ ให้มาลงโฆษณาในนิตยสารของเชา ความพยายามของเขาในการฝ่าฟันการกีดกันเรื่องผิวสี ทำให้เขาประสบความสำเร็จ แม้ว่าการหาลูกค้า 1 รายต้องใช้เวลามากเพียงไหน ในที่สุดช่วงต้นปี 1948 เขาก็มีรายชื่อ เป๊ปซี่-โคลา คอลเกต บีช-นัท ซีแกรม เรมิตัน แรนด์ ในฐานะผู้ลงโฆษณากับนิตยสารอีโบนีย์
ภายหลังความสำเร็จช่วงแรกๆ เนโกร ไดเจสท์ ก็เริ่มขาดทุน จอห์นสันเลยตระหนักว่านิตยสารเนโกร ไดเจสท์ เห็นทีต้องอำลาแผงเพื่อเปิดทางให้แก่สิ่งพิมพ์พื้นๆธรรมดาแต่มีพลังมากขึ้น เขาปิดเนโกร ไดเจสท์ในปี 1951 พร้อมกันก็ยกทีมงานของหนังสือพิมพ์คนดำฉบับหนึ่งมาเปิด ฮิว (Hue) นิตยสารเชิงสารคดีขนาดพ็อคเก็ตบุ๊คกับนิตยสารข่าวสารชื่อ เจท (Jet) หน้าปกฉบับแรกของเจทเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1951 เป็นภาพของเอ็ดนา โรบินสัน ภรรยาชูการ์ เรย์ โรบินสัน และเพียง 6 เดือนเท่านั้น ยอดจำหน่ายเจท ก็เพิ่มสูงถึง 300,000 ฉบับต่อสัปดาห์
ระหว่างที่ธุรกิจเติบโต บริษัทสำนักพิมพ์จอห์นสันก็พัฒนาจากการเป็นสำนักงานที่มีคนๆเดียวเป็นเจ้าของ ขยายกิจการเครือข่ายสำนักพิมพ์มีสำนักงานกระจายอยู่ทั้งใน ชิคาโก นิวยอร์ก วอชิงตันดีซี พนักงานส่วนใหญ่ของจำนวนทั้งหมดกว่า 100 คนล้วนเป็นคนดำทั้งสิ้น
ถึงเดือนพฤศจิกายนปี 1955 นิตยสารหลายฉบับของเขาก็มียอดพิมพ์รวมกันถึง 2.6 ล้านฉบับทำให้สำนักพิมพ์แห่งนี้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดอเมริกันผิวดำอย่างแท้จริง
จอห์นสันได้รับเลือกให้ร่วมเป็นกรรมการสถาบันทัสเคกีกับสันนิบาต เนชั่นแนล เออร์บาน และในปี 1957 ภายหลังซื้อหุ้นบริษัทประกันชีวิตไปแล้ว 1,000 หุ้น เขาก็รับเชิญเข้าร่วมเป็นกรรมการบริษัทในบอร์ดบริหารของสุปรีม ลิเบอร์ตี้ ไลฟ์ อินชัวแรนซ์ บริษัทเดียวกับที่ให้งานแรกแก่เขา หลายปีต่อมาจอห์นสันก็ซื้อหุ้นในบริษัทนี้อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งปี 1964 เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด จากนั้นอีก 10 ปีเขาลงทุนเป็นเงินทั้งหมด 2.5 ล้านดอลลาร์ในบริษัทแห่งนี้ แล้วเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการบริหารและผู้บริหารสูงสุดของสุปรีม ลิเบอร์ตี้ ไลฟ์
การคุมสุปรีมลิเบอร์ตี้ ไลฟ์ของจอห์นสันทำให้ตัวเขาสามารถเป็นเจ้าของอาณาจักรสิ่งพิมพ์ได้แต่เพียงผู้เดียว แทนที่จะขายหุ้นหรือพันธบัตรในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มทุน จอห์นสันก็ใช้กระแสเงินสดสม่ำเสมอของบริษัทประกันภัยแห่งนี้มาเป็นเงินทุนสำหรับกิจการแขนงใหม่ๆ มีตั้งแต่บริษัทเครื่องสำอางไปจนถึงสถานีวิทยุ ช่วงต้นทศวรรษ 1990 เขาขายสุปรีม ลิเบอร์ตี้ ไลฟ์ ให้แก่บริษัทประกันยูไนเต็ด ออฟอเมริกาซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยอีกแห่งหนึ่ง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *