ค่าจ้างขั้นต่ำ กับขีดความสามารถทำงาน

ค่าจ้างขั้นต่ำ กับขีดความสามารถทำงาน
วรเทพ ไวทยาวิโรจน์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
วันแรงงานมักเป็นประเพณีที่สหภาพแรงงาน ต้องมีข้อเสนอให้รัฐรับพิจารณา ให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ยังพบว่ายังขาดความเป็นเอกภาพ เพราะสหภาพแรงงาน 2 แห่งของผู้ใช้แรงงานสองกลุ่มต่างแยกกันจัดงาน แต่ไม่ว่าข้อเสนอจะเป็นของสหภาพแรงงานใด สาระหลักที่เป็นข้อเสนอทุกครั้งก็คือ ขอให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในปีนี้เสนอขอให้เพิ่มค่าแรงจาก 175 บาท เป็น 233 บาท หรือเพิ่มขึ้น 33%
โดยทั่วไปนั้น ค่าแรงงานในปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอ เพราะหากเพียงพอผู้ใช้แรงงานก็คงไม่ขอเพิ่มกันทุกปี แต่หากมองลึกลงไปอีก ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 175 บาทนั้น น้อยเกินไปกว่าการจะดำรงชีวิตโดยปกติ โดยมี ประเด็นที่ต้องพิจารณาใน 4 เรื่องคือ
1.อัตราค่าจ้าง 175 บาทนั้น ถ้าคิดเป็นค่าแรง 26 วันต่อเดือน ก็จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละ 4,550 บาท อันนี้จะยังไม่ได้รวมถึงค่าจ้างล่วงเวลา หรือ Over Time (ถ้ามี )
2.คนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 40 บาท) ยังมีให้เห็น
3.ค่าแรงขั้นต่ำหมายถึงค่าแรงแรกเข้าของผู้ที่เข้าทำงานเท่านั้น
4.ค่าแรงของผู้แรกเข้าตลาดแรงงานก็ต้องหมายถึงผู้ที่ยังไม่มีทักษะความชำนาญในการทำงาน (Unskill Labour)
เมื่อคำนึงทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว เราก็ต้องทำใจเป็นกลางว่า ถ้าจะพูดว่าค่าแรง 175 บาทต่อวันของผู้ที่เป็นแรงงานใหม่ ก็เป็นค่าแรงที่ถือว่าน้อยมากจนเกินไปหรือไม่ ถ้าพิจารณาโดยรวมแล้วเงินเฉลี่ยของแรงงานใหม่เดือนละ 4,550 บาท ไม่น่าจะถือว่าอยู่ในขั้นน้อย
การที่ผู้ใช้แรงงานมักพูดว่า ค่าแรงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายก็เนื่องจากว่า ผู้ใช้แรงงานยังมิได้เข้าใจสถานะตัวเองดีพอว่า เป็นผู้เข้างานใหม่ แท้จริงแล้วผู้ที่มีรายได้ในขั้น175 บาท/วัน กลับไปมีครอบครัว บางคนมีบุตรที่ต้องดูแล ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ ค่าจ้างรายวันย่อมไม่เพียงพอต่อการรองรับของสถานภาพในการมีครอบครัวกระทั่งมีบุตรได้
ผู้ใช้แรงงานจึงต้องคำนึงถึงข้อแท้จริงว่า เมื่อแรกที่เข้าทำงานสิ่งสำคัญก็คือจะต้องเรียนรู้วิธีการทำงาน หาความชำนาญในงาน ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มขีดขั้นความสามารถทำงานให้เพิ่มพูนขึ้นเสมอ
เพราะหากผู้แรกเริ่มเข้าทำงานกลับไปมีครอบครัวก่อนแล้ว ภาระที่เพิ่มขึ้น นอกจากจะทำให้ไม่อาจหารายได้ มาครองชีพตามปกติแล้ว โอกาสที่จะเรียนรู้ก็จะมีโอกาสลดลง ไม่ว่าจะเป็นภาระครอบครัวก็ดี ปัญหาการเงินส่วนตัวก็ดี จะกลายเป็นปัญหาการงานที่บั่นทอนความคล่องตัว ในการเพิ่มพูนขีดความสามารถทำงานให้ลดลงไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้อนาคตที่ดีก็อาจผิดพลาดได้
ผู้ที่แรกเข้าทำงานจึงควรจะ “สร้างตนเอง” ในเบื้องต้นก่อน ต่อเมื่อดูแลตัวเองให้แข็งแรงมั่นคง มีขีดความสามารถทำงานที่ “จัดจ้าน” แล้ว ในช่วงนั้นค่าแรงก็จะมากขึ้น ฐานะการงานจะดีขึ้น การคิดที่จะตั้งรากปักฐานมีครอบครัวก็เป็นเรื่องสมเหตุผล และยังไม่สายเกินไป
อีกด้านหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อยก็คือ การใช้เงินที่ได้มาให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อตัวเอง พบว่า ผู้ใช้แรงงานมักจะไม่ได้รับคำแนะนำที่ดีในการนำรายได้ที่ได้มา ให้นำไปใช้ในการยังชีพที่เกิดประโยชน์เหมาะสม ส่วนใหญ่เงินที่ได้มาก็หมดไปกับการดื่มสุรา สูบบุหรี่ สังสรรค์ และเล่นพนัน หลายคนเงินหมดไปกับการซื้อสินค้าราคาแพงทั้งที่ผลประโยชน์กลับคืนต่ำ เช่น ซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องใช้ไฟฟ้า
เมื่อเงินไม่พอใช้จ่ายก็กู้เงินนอกระบบ ทำให้เกิดปัญหาชำระหนี้ที่ต้องเสียดอกเบี้ยแพง เกิดความเสียหายซ้ำเติมความเป็นอยู่ที่ยากลำบากอยู่แล้วต้องอัตคัดฝืดเคืองมากขึ้น การดูแลใช้จ่ายเงินของผู้ใช้แรงงานจึงอยู่ที่การต้องรู้จักควบคุมการใช้จ่ายอยู่ในกรอบของรายได้ ขณะเดียวกันก็ใช้ซื้อของที่จำเป็นต่อการครองชีพในเบื้องต้นก่อน
การคลี่คลายข้อขัดแย้งของรายได้ในเบื้องต้น หากไม่แก้ไขกับปัญหาที่ต้นตอแล้ว ปัญหาจะผูกพันไม่จบสิ้น แต่ละปีก็จะต้องมีการขอเพิ่มเงินค่าจ้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเพิ่มเงินค่าจ้างขั้นต่ำย่อมก่อให้เกิดต้นทุนสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มิได้หมายความว่า ค่าแรงที่ต่ำจะกดให้ต่ำตลอดไปก็หาไม่ แต่หมายความว่า ค่าแรงขั้นต่ำต้องปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมและค่าครองชีพที่เป็นจริง
จากการเปรียบเทียบอัตราค่าครองชีพกับค่าสัมพันธ์ของค่าจ้างขั้นต่ำของไทย มีความน่าจะเป็นในการปรับปรุงตามเงื่อนไขประกอบด้วย
1.ความสามารถของลูกจ้างในการทำงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันทางราชการ มิได้พิจารณาในข้อแท้จริงนี้ ถ้าลูกจ้างชำนาญขึ้น เก่งขึ้น ทำงานมีผลงานมากขึ้นก็ควรได้รับค่าจ้างสูงขึ้น ไม่ใช่มามัวแต่คิดเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไม่รู้จบ แต่ไม่มีการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงาน
2.จ่ายค่าจ้างตามสภาพงาน เช่น งานยาก (หาคนชำนาญยาก ลักษณะงานยาก ) งานอันตราย (ต้องเสี่ยงภัย ตึกสูง ลงไปทำงานใต้ดิน สารเคมี ) งานสกปรก (งานขยะ งานลอกท่อ) เหล่านี้ควรได้รับค่าจ้างสูง เพราะหาคนทำยาก
3.งานที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างมากขึ้นน่าจะเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบมาก เช่น นำเงินไปเข้าธนาคาร ควบคุมดูแลเงินให้ปลอดภัย
สหภาพแรงงานจึงต้องรวมตัวกันให้เป็นเอกภาพจะได้ทำให้ข้อเสนอมีน้ำหนักต่อรองแข็งแกร่ง เพื่อไม่ให้ภาครัฐ หรือนายจ้างอ้างว่า ไม่ทราบจะรับข้อเสนอของฝ่ายใด เพราะถ้ารับข้างนี้อาจขัดแย้งกับข้างหนึ่ง
ความเป็นธรรม ความเหมาะสม และความถูกต้องยุติธรรมในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่เป็นปัญหาถกเถียงกันจนเป็นงานซ้ำซาก หากพิจารณาจ่ายค่าจ้างตามขีดความสามารถของคนทำงานที่เป็นจริงย่อมจะเป็นคุณประโบชน์ทั้งผู้ว่าจ้างและลูกจ้าง และสามารถลดปัญหาค่าแรงที่เป็นข้อพิพาทยืดเยื้อให้คลี่คลายไปได้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *