คิดให้เหมือนดาวินชี ตอน 1

คิดให้เหมือนดาวินชี
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2548
หนังสือเรื่อง The Da Vinci Code ของ Dan Brown ได้จุดประกายความตื่นตัวและสนใจในตัวปราชญ์ของอิตาลีอย่าง เลโอนาร์โด ดาวินชี ขึ้นมาทั่วโลกทั้งในด้านชีวิตและผลงานของปราชญ์ผู้นี้
ผมเองเมื่อช่วงปิดเทอมได้มีโอกาสไปเที่ยวอิตาลี และเกือบจะได้มีโอกาสเข้าไปชมภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้าย หรือ The Last Supper ของดาวินชีแล้ว แต่เสียดายบริษัททัวร์ที่ไปด้วยไม่ได้เรื่องเลย ทำให้อดเข้าชม
แต่ได้ซื้อหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับดาวินชีมาชื่อ How to Think Like Leonardo da Vinci เขียนโดย Michael J. Gelb ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายถึงวิธีการคิดของดาวินชี ที่ทำให้เขากลายเป็นอัจฉริยะในเกือบทุกศาสตร์สาขา สัปดาห์นี้ผมเลยขอนำเสนอเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้ เผื่อผู้อ่านและผมจะคิดได้แบบดาวินชีบ้าง
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาใน วิธีคิดแบบดาวินชี หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจประการหนึ่ง นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับความฉลาดของคนเรา ผู้อ่านบางท่านที่อ่านในย่อหน้าต้นของบทความนี้คงจะเถียงผมอยู่ก็ได้นะครับว่าต่อให้อ่านหนังสือ How to Think Like Leonardo da Vinci จบก็คงจะไม่ฉลาดขึ้นได้ เนื่องจากเราถูกสั่งสอนกันมาตลอดว่าความฉลาดของคนเรา (โดยการวัดผ่านทางไอคิว) ติดตัวเรามาผ่านทางพันธุกรรมแล้ว ยากที่จะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงความฉลาดของเราได้มากขึ้นเท่าใด
ในอดีตผมก็คิดเช่นนี้เหมือนกันครับ แต่พึ่งทราบว่าในระยะหลังได้มีการทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์ และนักจิตวิทยาหลายคนที่แสดงให้เห็นว่า ไอคิวของแต่ละคนสามารถที่จะเพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยผ่านการเรียนรู้ที่เหมาะสม และล่าสุด มีการค้นพบว่ายีนหรือลักษณะทางพันธุกรรมส่งผลต่อความฉลาดทางไอคิวเพียงแค่ 48% ส่วนอีก 52% นั้น เกิดขึ้นจากการดูแลของผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมและการศึกษา
นอกจากประเด็นเรื่องการพัฒนาความฉลาดแล้ว อีกประเด็นที่เราควรจะเข้าใจก่อนก็คือ ในอดีตนั้นเวลาเราพูดถึงความฉลาดเรามักจะโยงกับทักษะในด้านการคิด ในด้านคณิตศาสตร์ โดยผ่านการทดสอบไอคิว ทำให้เราพูดกันตลอดว่าใครที่มีไอคิวสูง คือคนที่มีความฉลาดมาก ส่วนพวกที่มีไอคิวต่ำนั้นคือพวกที่ฉลาดน้อย
แต่ในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่า ความฉลาดของคนเรานั้นมีหลายด้าน ไม่ใช่เรื่องของไอคิวเพียงอย่างเดียว นักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง Howard Gardner (เพิ่งมาเมืองไทยไม่กี่เดือนที่ผ่านมา) ได้เสนอแนวคิดเรื่องของ Multiple Intelligences หรือความฉลาดในหลายมิติขึ้นมา โดยแยกความฉลาดของคนเราออกเป็นเจ็ดด้าน ได้แก่ 1.Logical – Mathematical 2. Verbal – Linguistic 3.Spatial – Mechanical 4.Musical 5.Bodily – Kinesthetic 6.Interpersonal – Social 7.Intrapersonal (Self-Knowledge)
ผู้อ่านลองวิเคราะห์ดูว่าท่านมีความฉลาดในด้านไหน ส่วนดาวินชีนั้น ผู้รู้ระบุว่ามีความฉลาดในทั้งเจ็ดด้านเลยครับ
จากประเด็นที่ว่าความฉลาดของคนเราสามารถที่จะเรียนรู้และเพิ่มพูนได้ ประกอบกับการมองความฉลาดของเราในหลายมิติแล้ว จึงน่าจะอนุโลมได้ว่าการเรียนรู้วิธีคิดของปราชญ์อย่างดาวินชี น่าจะการเพิ่มพูนความฉลาดของเราบ้าง (ไม่มากก็น้อย)
แต่ก่อนจะไปดูวิธีคิดของดาวินชี อยากจะพาผู้อ่านมาดูเรื่องสมองของคนเราก่อนนะครับ เนื่องจากสมองของเราเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก สมองของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่ลึกลับ และยังไม่ได้รับการสำรวจอีกมาก แม้กระทั่งปัจจุบันในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับกันว่ายังไม่สามารถศึกษาเกี่ยวสมองเราได้ครบถ้วนในทุกๆ ด้าน เรามาลองประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมองเราหน่อยนะครับ
สมองเรามีความยืดหยุ่นและหลากหลายมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ใดในโลก
สมองเราสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ หรือความรู้ใหม่ๆ เจ็ดเรื่องต่อวินาที ทุกๆ วินาที ดังนั้นผู้อ่านไม่ต้องกังวลว่าเรียนรู้ไปมากๆ แล้ว จะไม่มีเนื้อที่ในสมองให้เก็บความรู้ไว้
ความฉลาดของเราไม่ได้เกิดขึ้นหรือสถิตอยู่แต่ในสมองบนศีรษะเราเท่านั้น แต่ยังอยู่ในเซลล์ต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วร่างกายเรา
สมองของคนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน คนทุกคนบนโลก (ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเคยเกิดมาแล้ว) จะมีลักษณะการคิดของสมองที่แตกต่างกัน (อาจจะยกเว้นฝาแฝดแท้)
ถ้าดูแลและใช้อย่างเหมาะสม สมองเราจะพัฒนาขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และน่าสนใจเลยนะครับ (โดยเฉพาะผู้อ่านที่มีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) เนื่องจากเราเชื่อกันตลอดว่ายิ่งอายุมากขึ้นสมองของเราจะเสื่อมลง ทำงานได้ช้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคยอ่านเจอว่าหลังอายุยี่สิบห้าแล้วสมองเราจะเริ่มเสื่อมหรือสูญเสียความสามารถไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน
ประเด็นสุดท้ายคือสมองเรานั้นสามารถคิดในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมากมายมหาศาล และน้อยคนมาก (ตั้งแต่อดีตกาล) ที่ได้ใช้งานสมองอย่างเต็มที่ ดังนั้น การเรียนรู้จากปราชญ์อย่างดาวินชี จึงน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถของสมองเรา
สรุปว่าในสัปดาห์นี้เกริ่นนำจนเนื้อที่หมดแล้วครับ สัญญาว่าสัปดาห์หน้าจะนำเสนอวิธีการคิดของดาวินชีเลยและผู้อ่านจะพบว่า วิธีการคิดของดาวินชีนั้นไม่ได้สลับซับซ้อนแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่เรารู้และปฏิบัติกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะเอาใจใส่และปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องหรือไม่เท่านั้นเอง
________________________________________

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *