คิดใหม่..แต่ทำไมยังไม่ได้ผล?

คิดใหม่..แต่ทำไมยังไม่ได้ผล?
การคิดใหม่ในการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก แต่หลายธุรกิจที่พยายามคิดใหม่บางองค์กรก็ได้ผลค่อนข้างดี…แต่บางองค์กรที่คิดใหม่แล้วไม่ได้ผลเป็นเพราะอะไร?

1.พยายามคิดว่าคิดใหม่แล้ว….แต่สิ่งที่คิดไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม เพราะยังติดกับความคุ้นเคยเดิมๆ ในการทำธุรกิจตั้งแต่อดีตมานาน ทำให้สิ่งที่คิดยังติดกับรูปแบบเดิมๆ…ใหม่แต่เปลือก!

2.ลองคิดใหม่แล้ว….แต่ก็ได้แต่คิดโดยยังไม่กล้าลงมือทำสิ่งที่คิดอย่างจริงจัง…เพราะยังลังเล เพราะยังกลัว เพราะยังไม่มั่นใจ…. ก็เลยได้แค่คิดใหม่แต่ทำ แบบเดิม!

3.คิดใหม่ได้แล้ว…..แต่กระบวนการในการปฏิบัติ ยังใช้ขั้นตอนเดิมๆ โครงสร้างเดิมๆ ขององค์กร ของหน่วยงานที่เป็นอุปสรรคกับสิ่งที่คิดใหม่ ทำให้สิ่งที่คิดใหม่ พยายามทำแบบใหม่…ไร้ผล!

4.คนที่คิดใหม่จริงๆ….มีเพียงไม่กี่คน อาจมีเพียงผู้นำองค์กรเพียงคนเดียวที่คิดใหม่ แต่ผู้บริหารระดับรองลงมาจนถึงระดับปฏิบัติการ….ยังคิดและทำแบบเดิมๆ!

5.การคิดใหม่ในห้องประชุมของผู้บริหารไม่กี่คน แล้วถ่ายทอดสิ่งที่คิดในรูปของคำสั่ง เป็นเรื่องยากที่พนักงานจะ “เข้าใจ” และ “เต็มใจ” ที่จะปฏิบัติตาม!

Re-Think การคิดใหม่เป็นเรื่องง่ายมาก..แต่เรื่องที่ยากก็คือ..Re-Process หรือการปรับเปลี่ยนกระบวนการโดยการปรับเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนเสมอไป…แต่การคิดใหม่โดยปราศจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการ รวมไปถึงวิธีปฏิบัติการใหม่….ย่อมทำให้ Re-Sult หรือผลที่ออกมา..ไม่ต่างไปจากเดิมหรืออาจแย่ไปกว่าเดิม!

ทางแก้ที่มีโอกาสได้ผล….ไม่ใช่การฝืนคิดใหม่แล้วปล่อยให้พลาดเแบบเดิมๆ…แต่ต้อง “ปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ในเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติงาน และวิธีการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่ๆ โดยฝึกและหล่อหลอมให้ พนักงานคิดใหม่ก่อนจะให้พนักงานปฏิบัติสิ่งใหม่ๆ!”

เพราะการคิดใหม่แต่เพียงผู้เดียวของผู้บริหารระดับสูง หรือคิดใหม่เพียงไม่กี่คน…ไม่เคยประสบความสำเร็จ! แต่การ “ร่วมกันคิดใหม่ หรือ กระตุ้นให้เกิดการคิดใหม่…สิ่งที่ได้รับก็คือวิธีการใหม่ๆ ขั้นตอนการปฏิบัติที่แตกต่างจากเดิม และเป็นการคิดใหม่ ทำใหม่ ที่มาจากความรู้สึกที่อยากทำ ไม่ใช่ถูกบังคับให้ทำ!”

การคิดใหม่ ที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ…บ่อยครั้งก็จะทำให้เกิดการ Re-Tool ซึ่งก็คือการปรับเปลี่ยนเครื่องมือหรือช่องทางการตลาด การขาย การบริการ รูปแบบใหม่ๆ ที่บางครั้งการตลาดแบบเดิมๆ ที่ใช้เครื่องมือเดิมๆ เริ่มก่อให้เกิดความซ้ำซากจำเจ หรือการขายโดยใช้ช่องทางขายเดิมๆ อาจเริ่มไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริการโดยใช้เครื่องมือการให้บริการแบบเก่าๆ อาจไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบัน!

บทสรุปก็คือ…การ Re-Think ย่อมไม่ใช่การ รีๆ รอๆ ว่าสิ่งที่คิดใหม่นั้น…จะสำเร็จหรือล้มเหลว

การ Re-Think หมายถึงการทำควบคู่ไปกับการ Re-Process

การ Re-Think หมายถึงการให้ทุกคน “ร่วมกันเปลี่ยนความคิด”

สิ่งที่จะได้รับก็คือ Re-Sult หรือผลแห่งความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว

อย่าRe-Think ถ้าไม่มีการ Re-Process !

ที่มา : ธีรพล แซ่ตั้ง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *