คอรอตพบดาวเคราะห์ดวงใหม่

คอรอตพบดาวเคราะห์ดวงใหม่
1 สิงหาคม 2551 รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
คณะนักดาราศาสตร์จากยุโรป ได้พบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงใหม่อีกดวงหนึ่งแล้ว

หลักฐานแรกของการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดวงนี้พบโดยดาวเทียมคอรอต หลังจากนั้นการสำรวจเพิ่มเติมโดยกล้องอื่นภาคพื้นดินทั่วโลกก็เริ่มขึ้น ทั้งจากกล้องโซฟีขนาด 180 เซนติเมตรในฝรั่งเศส กล้องฮาร์ปขนาด 3.6 เมตรในชิลี กล้องยูเวสที่ติดอยู่บนกล้องขนาด 8.2 เมตรของเครือข่ายวีแอลที กล้อง 1 เมตรในหอดูดาวไวส์ในอิสราเอล กล้อง 1 เมตรของกล้องยูเลอร์ในลาซียา และกล้องแคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวายขนาด 3.6 เมตร

ดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้มีชื่อว่า COROT-exo-4b หลังจากการติดตามอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือน นักดาราศาสตร์สามารถตามรอยการผันแปรความสว่างของดาวฤกษ์ในขณะที่มีการเคลื่อนผ่านหน้าได้ พบว่ามันมีขนาดใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี โคจรรอบดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่ดว่าดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อย โคจรรอบดาวฤกษ์ครบรอบทุก 9.2 วัน ซึ่งนับเป็นดาวเคราะห์ต่างถิ่นที่มีแนวโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ที่มีคาบยาวที่สุดเท่าที่เคยพบ

ความน่าสนใจของการค้นพบครั้งนี้คือ คณะนักดาราศาสตร์พบว่า ดาวฤกษ์ดวงนี้มีคาบการหมุนรอบตัวเองเท่ากับคาบการโคจรรอบของดาวเคราะห์ ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลก เพราะดาวเคราะห์ที่พบนี้มีมวลน้อยและอยู่ห่างเกินกว่าที่จะมีอิทธิผลต่อคาบการหมุนของดาวฤกษ์ได้

ดาวเทียมคอรอตทะยานขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2549 คอรอตเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศกล้องแรกที่มีภารกิจค้นหาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นโดยเฉพาะ และได้รับการออกแบบมาให้สามารถค้นหาดาวเคราะห์หินที่มีขนาดเล็กเท่าโลกได้ หลักการของกล้องนี้อาศัยปรากฏการณ์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์ เมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ แสงจากดาวฤกษ์จะลดลงไปเล็กน้อย ซึ่งกล้องของคอรอตมีความไวมากพอจะตรวจจับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้

นักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่าดาว COROT-exo-4b เริ่มมีคาบโคจรรอบดาวแม่พ้องกับคาบการหมุนของดาวแม่พอดีมาตั้งแต่เริ่มกำเนิดขึ้นเหมือนราวหนึ่งพันล้านปีก่อนหรือไม่ หรือว่าการหมุนพ้องนี้มาเกิดขึ้นภายหลัง การศึกษาระบบดาวประเภทนี้ด้วยคอรอตจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจถึงอันตรกิริยาระหว่างดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ได้ลึกซึ้งถ่องแท้ยิ่งขึ้น

ดาวเทียมคอรอตได้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้หลังจากที่ปฏิบัติภารกิจอยู่บนวงโคจรมาได้เพียง 555 วัน ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ได้สำรวจดาวฤกษ์มาแล้วกว่า 50,000 ดวง และได้เพิ่มพูนความรู้ของนักดาราศาสตร์เกี่ยวกับกลไกพื้นฐานของดาวฤกษ์ขึ้นอีกมากมาย

ที่มา:
COROT’s New Find Orbits Sun-Like Star – SpaceDaily

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *