ความแตกต่างระหว่างพนักงานกับหัวหน้างาน

ความแตกต่างระหว่างพนักงานกับหัวหน้างาน

หลายครั้งมีผู้สงสัยว่าภาระหน้าที่ บทบาทของพนักงานและหัวหน้างานมีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะบางครั้งก็เห็นทำงานเหมือนๆ กัน จนไม่รู้ว่าใครเป็นลูกน้องหรือหัวหน้า ดังนั้นการทราบถึงความแตกต่างในบทบาทดังกล่าวจึงเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาสู่การเป็นหัวหน้างานมืออาชีพต่อไป
บทบาทหน้าที่ของพนักงาน
1) การเรียนรู้งาน
เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานจะต้องรู้วิธีการทำงานที่ตนได้รับมอบหมายว่างานนั้นๆ มัขั้นตอนปฏิบัติอย่างไร ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์อย่างไร รวมถึงต้องประสานงานกับบุคลลใดหรทอหน่วยงานใด
2) ปฏิบัติงาน
เมื่อพนักงานมีความรู้ ความเข้าใจในงานของตนแล้ว สิ่งต่อไปคือการลงมือปฏิบัติ เพราะเพียงแค่รู้แต่ไม่ลงมือปฏิบัติ ก็จะไม่เกิดผลงานออกมา
3) รับผิดชอบงานตามหน้าที่
เนื่องจากพนักงานมักจะได้รับการมอบหมายหน้าที่งานในลักษณะที่เฉพาะ ชัดเจน ดังนั้นพนักงานเองก็มีหน้าที่จะต้องรับผิดและรับชอบในงานนั้นๆ ตามผลงานที่ตนเองทำขึ้น
4) พัฒนาการปฏิบัติงาน
ความคาดหวังอีกสิ่งหนึ่งสำหรับพนักงานก็คือการพัฒนางานที่ตนเองปฏิบัติ เพราะพนักงานจะทราบดีถึงปัญหาในการทำงาน และอาจจะมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีกว่าบุคคลภายนอก นอกจากนี้พนักงานที่ทำงานและพัฒนาการปฏิบัติงานไปด้วย ก็จะเป็นคนที่สามารถทำงานได้ดีกว่าคนอื่น ที่ทำๆ ไปโดยไม่คิดปรับปรุง
5) ปฏิบัติตาม
ในฐานะพนักงาน การรับทราบถึงนโยบาย วิธีการ และปฏิบัติตามเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าจะต้องปฏิบัติตามโดยไม่คิด แต่สามารถเสนอความคิดเห็นได้ แต่สุดท้ายเมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่หัวหน้างานกำหนด

บทบาทหน้าที่ของหัวหน้างาน
1) เรียนรู้งาน และทีมงาน
จะเห็นว่าหัวหน้างานก็ยังต้องเรียนรู้ในเรื่องงานอยู่เหมือนกัน แต่ต้องรู้งานในภาพรวมทั้งหมดของหน่วยงานที่เรารับผิดชอบ และที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ว่าสมาชิกในหน่วยงานของเราเป็นใคร มาจากไหน รับผิดชอบอะไร มีลักษณะเฉพาะของแต่ละคนอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ทีมงาน เพราะหัวหน้างานไม่ใช่บริหารเฉพาะงานแต่ต้องบริหารทีมงานด้วย
2) บริหารทีมงาน
ความแตกต่างที่ชัดเจนในบทบาทของหัวหน้างานก็คือการดูแลคนอื่นให้ทำงานให้สำเร็จหรือการบริหารทีมงาน ซึ่งเป็นภาระกิจที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่เป็นพนักงานที่รับผิดชอบเฉพาะงานของตนเอง
3) รับผิดชอบเป้าหมายบริษัท
สิ่งหนึ่งที่หัวหน้างานมีบทบาทมากขึ้นก็คือการรับเป้าหมายจากบริษัท ซึ่งโดยปกติองค์กรจะมีการวางแผนตั้งแต่ระดับบนสุดและจะมีการแตกย่อยเป้ามหายลงมาสู่ระดับล่าง เพื่อให้แต่ละระดับช่วยกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายย่อยซึ่งสุดท้ายจะรวมเป็นผลสำเร็จของเป้าหมายรวมทั้งบริษัท ดังนั้นการรับผิดชอบในเป้าหมายย่อยของหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงมีความสำคัญและส่งผลถึงความสำเร็จในเป้าหมายบริษัท ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้างาน
4) พัฒนาการปฏิบัติงาน และทีมงาน
ด้วยประสบการณ์ในการทำงานหรือความรู้ของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน ความคาดหวังในอีกบทบาทหนึ่งก็คือการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หัวหน้างานจึงต้องไม่ให้ลูกน้องทำงานแบบเดิมๆ แต่ต้องคอยติดตามศึกษา พัฒนาวิธีการทำงานร่วมกับลูกน้องตลอดเวลา ซึ่งการพัฒนานี้จะรวมถึงการพัฒนาทีมให้รู้สึกร่วมในพลังของทีม และทุ่มเทการทำงานร่วมกัน
5) เป็นผู้นำ
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญมากและหัวหน้างานบางคนไม่มีนั่นคือความสามารถในการเป็นผู้นำ หัวหน้างานบางคนมีความสามารถสูงทางเทคนิค วิธีการทำงานแต่ไม่สามารถนำสมาชิกในทีมได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่หัวหน้างานโดยทั่วไปมีอยู่ แต่ความสามารถในการนำนี้เป็นสิ่งที่จะต้องฝึก ยกเว้นคนที่มีบุคคลิกในการเป็นผู้นำมาตั้งแต่เกิด ก็ถือว่าเป็นความโชคดี แต่ในทางวิชาการเราเชื่อกันว่าความเป็นผู้นำสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้
จากข้อสรุปข้างต้นจะเห็นได้ว่าบทบาทของพนักงานทั่วไปและหัวหน้างานจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งหัวหน้างานะต้องรู้และแสดงบทบาทของตนให้เหมาะสม ไม่ไปแย่งงานลูกน้องทำ หรือแสดงพฤติกรรมเหมือนพนักงานโดยทั่วไป ที่เรามักจะพูดกันเล่นๆ ว่าเป็นผู้จัดการแต่สันดานเสมียน นั่นคือเป็นหัวหน้าแล้วแต่ก็ยังมัวทำงานระดับปฏิบัติการอยู่นั่นเอง

ที่มา : www.readypremium.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *