สุขภาพ : ความน่ากลัวของโรคเกาต์

สุขภาพ : ความน่ากลัวของโรคเกาต์

โรคเกาต์ถือเป็นโรคข้ออักเสบที่มีคนรู้จักมากที่สุด รู้จักมากจนบางคนถึงกับเหมาเอาว่าถ้าใครป่วยเป็นโรคข้อ หรือมีอาการปวดข้อก็เป็นโรคเกาต์ แล้วมักจะมีคำแนะนำให้ผู้ที่มีอาการปวดข้อหรือเป็นโรคข้ออักเสบว่า ห้ามรับประทานเป็ด รับประทานไก่ หรือรับประทานเครื่องในสัตว์ จริง ๆ แล้วโรคเกาต์ไม่ใช่โรคข้อที่พบมากที่สุด เพราะมีคนเป็นน้อยกว่าโรคข้อเสื่อม และผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบต่าง ๆ ซึ่งมีโรคข้ออักเสบอยู่หลายสิบโรค เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับประทานเป็ด ไก่ หรือเครื่องในสัตว์ อย่างไรก็ตามถึงแม้โรคเกาต์เป็นโรคเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักกันมานาน มีการรักษากันมานาน แต่คนเราเพิ่งตระหนักถึงความน่ากลัวจริง ๆ ของโรคเกาต์ เมื่อไม่นานมานี้

โรคเกาต์เป็นโรคที่มีการกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยกรีก โรมัน หรือในประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่เมื่อ 5 พันปีก่อน ทั้งนี้เนื่องมาจากโรคเกาต์ได้ชื่อว่าเป็นโรคของพระจักรพรรดิ (disease of the Emperor) เนื่องจากในสมัยอดีตมีแต่พระจักรพรรดิหรือเศรษฐีผู้มีอันจะกินเท่านั้นที่จะได้กินเป็ด กินไก่ กินเหล้า ได้บ่อย ๆ จนเป็นโรคเกาต์ ประกอบกับจะมีแต่เรื่องราวของพระจักรพรรดิที่จะได้รับการบันทึกลงในประวัติศาสตร์ โรคเกาต์จึงเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ นอกจากนี้ความที่เวลาเป็นข้ออักเสบจากโรคเกาต์อาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันทีขนาดที่ตอนกลางวันยังไปทำงานปกติ ตอนเย็นไปทานเลี้ยง ทานเป็ด ทานไก่ หรือทานอาหารมากหน่อย หรืออาจทานเหล้าเบียร์ด้วย พอกลับถึงบ้าน ข้อเท้าก็บวมแดงปวดมากขึ้นมาทันที อาการข้ออักเสบจะทำให้ข้อบวมแดงและปวดมากขนาดแตะไม่ได้ ขยับไม่ได้เลยทีเดียว คนจึงมักจะรู้จักโรคเกาต์ดี ข้อที่อักเสบมักจะเป็นข้อโคนนิ้วหัวแม่โป้งเท้า หรือข้อเท้า จะเป็นข้อเดียวเท่านั้น นี่เป็นตัวอย่างเหตุการณ์ของการเกิดโรคเกาต์ครั้งแรก ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเกาต์

ข้อที่อักเสบนี้ถึงแม้มีการอักเสบรุนแรง ปวดมากแต่จะดีขึ้นและหายไปเองภายใน 1-3 วัน จะโดยการรักษา รับประทานยาคอลไชซิน (colchicine) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือไม่ได้กินยาอะไร (ถ้าทนไหว) ก็ตาม แล้วอาการจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง กลับมาเหมือนคนปกติ นานจนบางคนลืมว่าเคยเป็นข้ออักเสบจากโรคเกาต์ บางคนอาจจะหายไป 1-2 ปี บางคน 6 เดือน เมื่อไม่ได้ระวังตัว ไม่ได้คุมอาหารก็เกิดข้ออักเสบแบบเฉียบพลันอีก ข้อนิ้วเท้าหรือข้อเท้าปวดบวมอักเสบมากเป็นอยู่ 2-3 วันแล้วหายเป็นปกติ

อาการปวดข้อและข้ออักเสบที่รุนแรงทำให้โรคเกาต์เป็นโรคที่น่ากลัว แต่ความน่ากลัวจริง ๆ ของโรคเกาต์เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ความน่ากลัวของโรคเกาต์อยู่ที่ถ้าปล่อยให้เกิดข้ออักเสบจากเกาต์เกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยไม่ได้ป้องกันหรือรักษาไม่ให้เกิดข้ออักเสบขึ้นอีก อาการข้ออักเสบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรงนี้จะเกิดถี่ขึ้น เช่น ก่อนหน้านี้กว่าจะเป็นอีกก็ 1-2 ปี ต่อมากลายเป็น 6 เดือน ก็เกิดขึ้นซ้ำ ต่อมาเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกห่างกันแค่ 3 เดือน ต่อมาเกิดขึ้นเกือบทุกเดือน ที่สำคัญทีแรกมีอาการอยู่ 1-2 วัน ครั้งต่อ ๆ มามีข้ออักเสบ 3-4 วันต่อมากลายเป็น 5-7 วัน หมายความว่าถ้าปล่อยให้เป็นโรคเกาต์โดยไม่ได้ป้องกันหรือรักษาให้ถูกต้อง จะมีข้ออักเสบ รุนแรงถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และอาการจะเป็นอยู่นานขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดบางรายมีข้ออักเสบปวดบวมทรมานเป็นเดือนไม่ลดลง และอาการปวดก็รุนแรงขึ้น ปวดมากขึ้น จะรักษากินยา ฉีดยาก็ไม่ค่อยหาย เพราะดูเหมือนโรคจะดื้อต่อการรักษามากขึ้นด้วย

เนื่องจากโรคเกาต์เฉียบพลันหรือที่ภาษาแพทย์ เรียกว่า acute gout กลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรัง (chronic gout) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลา 3-5 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากจะกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่รักษายากแล้ว การเป็นโรคเกาต์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการมีสารที่เรียกว่ากรดยูริกในร่างกายมากเกินระดับปกติเป็นเวลานาน แล้วทำให้เกิดข้ออักเสบซ้ำ ๆ สารกรดยูริก ที่มีเกินระดับปกตินาน ๆ นี้จะไปสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อไปสะสมอยู่ใต้ผิวหนังจะเกิดเป็นก้อนที่โตขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่าก้อนโทฟัส (tophus) ก้อนนี้มักจะเกิดขึ้นบริเวณข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ก้อนโทฟัสที่เกิดขึ้นบริเวณข้อนี้บางครั้งก็ทำให้เกิดการทำลายข้อจนข้อพิการผิดรูปผิดร่างได้

กรดยูริกที่มีในร่างกายนี้ไม่ใช่สารแปลกปลอมอะไร เป็นสารที่เกิดขึ้นจากขบวนการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายที่รวมเรียกว่า ขบวนการเมตาโบลิซั่ม (metabolism) ที่สำคัญคือการแบ่งตัวของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่สึกหรอ ผลพลอยได้จากการแบ่งเซลล์จะได้กรดยูริกออกมา ถ้าร่างกายมีภาวะที่ ต้องมีการแบ่งเซลล์มากขึ้น เช่น เป็นโรคมะเร็ง ที่มีเซลล์แบ่งตัวมาก ๆ จนควบคุมไม่ได้ ก็มักจะมีกรดยูริกในร่างกายมากขึ้นมากจนเกินระดับปกติ ซึ่ง ระดับปกติของกรดยูริกในผู้ชายคือ 7 มิลลิกรัม/ เดซิลิตร ส่วนในผู้หญิงจะเท่ากับ 6 มิลลิกรัม/ เดซิลิตร ส่วนมากแล้วระดับกรดยูริกที่สูงเกิดจากการสร้างขึ้นมาในร่างกายมากกว่าระดับปกติ ส่วนที่มาจากอาหารไม่ได้มากนัก แต่ส่วนที่มาจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปีกหรือเครื่องในสัตว์ หรือยอดผักต่าง ๆ มักจะเป็นส่วนที่เติมเข้าไปแล้วทำให้เกิดข้ออักเสบขึ้น

ความน่ากลัวของโรคเกาต์นอกจากจะกลายเป็นโรคข้ออักเสบรุนแรงที่เรื้อรัง เป็นต่อเนื่อง และรักษาหายยากถ้าไม่ได้ป้องกันแล้ว การเป็นโรคเกาต์ยังนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวาย โรคหัวใจ และโรคอัมพาตได้อีกด้วย ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ไม่มีสักรายเดียวที่เสียชีวิต จากโรคเกาต์ ไม่มีใครปวดข้อหรือมีข้ออักเสบจนเสียชีวิต ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ส่วนมากเสียชีวิตจากโรคไตวาย ผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับสูง นอกจากจะทำให้เป็นโรคเกาต์แล้ว กรดยูริกที่มีมากในเลือดจะไปสะสมอยู่ในไตทำให้ไตเสื่อม การทำงานของไตในการขับของเสียออกจากร่างกายลดลง มีของเสียคั่งในร่างกาย หรือกรดยูริกที่มีมากในร่างกายถูกขับออกมาทางปัสสาวะมาก แล้วมาค้างอยู่ในทางเดินปัสสาวะทำให้เป็นนิ่วในไตหรือในท่อปัสสาวะได้ ดังนั้นในการรักษาโรคเกาต์จึงต้องติดตามดูการทำงานของไตด้วยว่ายังทำงานได้ปกติหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่ามีไตเสื่อมลงก็ต้องรีบแก้ไขโดยการพยายามดื่มน้ำเปล่าให้มากพอในแต่ละวันจนมีปัสสาวะออกมาอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร นั่นหมายความว่าควรจะดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร ซึ่งถ้าคิดเป็นแก้วน้ำก็ต้องดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 10-12 แก้ว เพื่อให้มีปัสสาวะออกมามากพอที่จะล้างหรือพากรดยูริกออกไปจากร่างกาย ถ้ารับประทานน้ำน้อยโอกาสมีไตเสื่อมหรือไตวายก็ยิ่งมากขึ้น

ผู้ที่เป็นโรคเกาต์จำนวนไม่น้อยพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นภาวะที่พบร่วมกัน หรือเป็นจากการที่มีไตเสื่อมทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่าถ้ารักษาโรคเกาต์โดยสามารถลดระดับกรดยูริกในเลือดหรือควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้ต่ำลงกว่า 5-6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะสามารถลดระดับความดันโลหิตที่สูงลงได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นการรักษาโรคเกาต์จึงเป็นการรักษาหรือป้องกันโรคความดันโลหิตสูงด้วย การที่เป็นโรคเกาต์และอาจจะมีความดันโลหิตสูงหรือไตเสื่อมไตวายร่วมด้วยเป็นระยะเวลานานพบว่า มีโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวตามมาได้ นอกจากเส้นเลือดหัวใจแล้ว เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองก็มีโอกาสอุดตันได้ ทำให้เป็นอัมพาตเนื่องจากสมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง ดังนี้จะเห็นว่าโรคเกาต์ไม่ได้มีแต่ข้ออักเสบ เจ็บปวดและทรมาน แต่ความน่ากลัวของโรคเกาต์อยู่ที่การเป็นโรคเกาต์เรื้อรังที่มีข้ออักเสบไม่หายและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ไตวาย ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอัมพาต ตามมานั่นเอง

ความน่ากลัวของโรคเกาต์ที่กล่าวถึงนี้จะไม่น่ากลัวถ้าผู้ที่เป็นโรคเกาต์ได้รับการรักษาและมีการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง การรักษาโรคเกาต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เริ่มเป็นในระยะ 1-2 ปีแรกไม่ค่อยเป็นปัญหายุ่งยาก ในขณะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้นก็ให้การรักษาอาการอักเสบของข้อด้วยยาคอลไชซิน (colchicine) หรือยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ พอข้อหายอักเสบแล้วก็ตรวจเลือดดูว่าระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากน้อยเพียงใด ถ้าพบว่ามีกรดยูริกในเลือดสูงเกิน 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ควรรับประทานยาลดกรดยูริกซึ่งมีทั้งยาที่ช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดโดยเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ เช่น ยาซัลฟินไพราโซน (sulfinpyra zone) ยาเบนซ์โบรมาโรน (benzbromarone) หรือยาโปรเบนนาซิด (probenecid) และยาลดการสร้างกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) ทั้งนี้เพื่อลดระดับกรดยูริกในเลือดให้ลดลงต่ำกว่าระดับ 5-6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าสามารถควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้ได้ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/เดซิลิตรตลอด โอกาสที่จะมีข้ออักเสบจากโรคเกาต์อีกมีน้อยมาก หมายความว่าจะไม่เป็นโรคเกาต์อีกเลยตลอดชีวิต ซึ่งการที่ จะควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร นอกจากการรับประทานยาแล้วยังต้องอาศัยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณกรดยูริกสูง เช่น เป็ด ไก่ เครื่องในสัตว์ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนขึ้นและดื่มน้ำเปล่าวันละ 10-12 แก้ว

ในกรณีที่เป็นโรคเกาต์มานานจนกลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรังหรือมีก้อนโทฟัสขึ้นตามตัว การรักษาจะยากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะต้องพยายามควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/เดซิลิตรแล้ว ยังต้องคอยตรวจการทำงานของไตว่ายังทำงานได้ดีอยู่ ถ้าเริ่มมีผลการตรวจเลือดที่ส่อไปในทางที่เริ่มมีความเสื่อมของ ไตเกิดขึ้นต้องรีบให้การรักษาหรือป้องกันไม่ให้ ไตเสียการทำงานไปเรื่อย ๆ จนไตวาย การที่สามารถรักษาระดับกรดยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/เดซิลิตรตลอด นอกจากจะไม่เกิดข้ออักเสบจากโรคเกาต์แล้ว ก้อนโทฟัสที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่จะยุบลงได้จนหายไปหมด ในกรณีผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วยก็ต้องพยายามรักษาและควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ เพราะความดันโลหิตสูงก็ทำให้ไตเสื่อมหรือไตวายได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคหัวใจหรือโรคอัมพาตตามมาได้

โรคเกาต์ถึงแม้เป็นโรคที่มีความน่ากลัว แต่รักษาไม่ยาก ในปัจจุบันนี้มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ควรให้การรักษาโรคเกาต์เหมือนโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงที่ให้มีการรักษาต่อเนื่อง มีการติดตามผู้ป่วยเป็นระยะโดยติดตามดูระดับกรดยูริกในเลือดและการทำงานของไต และให้พยายามควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/ เดซิลิตรไว้ตลอดก็จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรคเกาต์ที่จะเกิดตามมาอีกมากมายได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *