ความฉลาดของกลุ่มชน

ความฉลาดของกลุ่มชน

มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2549
สัปดาห์นี้มีเรื่องน่าสนใจที่คิดว่าน่าจะเข้ายุคเข้าสมัย ผู้อ่านลองนึกภาพว่า เมื่อเราเจอปัญหาที่ยากจะแก้ไขแล้ว ทางเลือกใดที่จะแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด
ทางเลือกแรกสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสักสองสามคน โดยเป็นการแยกกันถาม และที่สำคัญจะต้องเลือกผู้ที่ฉลาด และเก่งในด้านนั้นจริงๆ ทางเลือกที่สองสร้างทีมงานขึ้นมาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน แล้วให้ทีมดังกล่าวช่วยกันแก้ไขปัญหา เหมือนกับที่เราเคยรู้กันมาว่า “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้” และทางเลือกสุดท้ายสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มคนจำนวนมากที่มีพื้นฐานหลากหลายและไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยให้แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นแล้วสุดท้ายเรานำความคิดเห็นอันหลากหลายที่ได้รับมา คำนวณหาค่ารวม
ผมเชื่อว่า ผู้อ่านจำนวนมากคนจะเลือกทางเลือกที่หนึ่งหรือทางเลือกที่สอง นั้นคือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเลย จะทำให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันได้มีแนวคิดใหม่ที่เข้ามาลบล้างความคิดดังกล่าวนั้นคือ ถ้าทำตามทางเลือกที่สามจะทำให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด
ผมนำมาจากหนังสือ The Wisdom of Crowds เขียนโดย James Surowiecki ซึ่งเป็นนักเขียนประจำอยู่ที่ New Yorker หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ขายดีมากครับ โดยติดทั้งใน New York Times Business Bestsellers และ Businessweek Bestseller และ Best Book of the Year กล่าวกันว่า หนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดแนวคิดที่สำคัญต่อทั้งผู้บริหารองค์กรธุรกิจและนักการเมือง
ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ก็คือ กลุ่มคนจำนวนมากฉลาดกว่าและสามารถตัดสินใจได้ดีกว่า พวกที่เก่งๆ หรือฉลาดๆ เพียงไม่กี่คน ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเก่ง มั่นใจ ฉลาด มีความรู้ มากน้อยเพียงใด และความฉลาดของกลุ่มชน (ผมขอใช้คำนี้แทนคำว่ากลุ่มคนจำนวนมาก) นี้ครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหา การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ การตัดสินใจที่ถูกต้อง การเลือกผู้นำ หรือแม้กระทั่งการคาดการณ์ถึงอนาคต
เชื่อว่า ผู้อ่านคงคิดแบบผมว่า “ไม่น่าเป็นไปได้” แต่เราลองมาดูตัวอย่างที่ Surowiecki ยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษากัน
กรณีศึกษาแรกเป็นเรื่องที่คุ้นกันก่อน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างของเกมโชว์ชื่อดังในอเมริกา Who Wants to Be a Millionaire? หรือเกมเศรษฐีที่รู้จักกันในเมืองไทย โดยในอเมริกานั้น ถ้าผู้เข้าแข่งขันไม่สามารถตอบคำถามได้ ก็จะมีตัวช่วยสามตัว ตัวช่วยแรก คือตัดคำตอบบางข้อที่ไม่ใช้ออก ตัวช่วยที่สองคือ ให้โทรศัพท์สอบถามคนใกล้ตัวหรือเพื่อนสนิทที่คิดว่ามีความรู้ความสามารถได้ และตัวช่วยที่สาม คือให้ผู้ชมในห้องส่งที่มาร่วมชมรายการทุกคนได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เล็กๆ ที่ติดอยู่กับที่นั่งแต่ละคน ซึ่งผู้ชมเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอันใด เป็นเพียงแต่คนมานั่งชมรายการเท่านั้นเอง
จากสถิติพบว่า ถ้าเลือกตัวช่วยที่สองคือสอบถามผู้ที่ตนเองคิดว่า “เชี่ยวชาญ” ผู้เชี่ยวชาญนั้นจะให้คำตอบที่ถูก 65% ซึ่งก็ถือเป็นสถิติที่ดีนะครับ แต่พอไปดูตัวช่วยที่สามแล้ว จะพบว่า พวกผู้ชมที่มานั่งในห้องส่งนั้นจะเลือกคำตอบที่ถูกต้องถึง 91% (จริงอยู่ผู้ชมคงจะไม่ได้เลือกคำตอบที่เหมือนกันหมด แต่เขาแสดงให้เห็นว่า ผู้ชมจำนวนเท่าใดที่เลือกคำตอบใดบ้าง และจะพิจารณาจากคำตอบที่เลือกกันมากที่สุด)
– อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสามารถในการเลือกในสิ่งที่ถูกต้องของกลุ่มชน ผมไม่แน่ใจว่ารายการเกมเศรษฐีของบ้านเรามีการเก็บสถิติไว้บ้างหรือเปล่า จะได้ลองพิสูจน์แนวคิดนี้ดู
ลองมาดูตัวอย่างที่สอง เป็นตัวอย่างตั้งแต่ปี 1906 ของนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Francis Galton เขาไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปีของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีการนำพวกปศุสัตว์มาแสดงกัน (ทั้งวัว แกะ ไก่ ม้า และสุกร) ทีนี้ที่งานแห่งนี้เขามีการแข่งขันกันทายน้ำหนักวัว โดยมีวัวอ้วนตัวหนึ่งยืนอยู่บนเวที และพวกคนดูข้างล่าง ก็แข่งกันพนันน้ำหนักวัว และถ้าคนที่ทายได้ใกล้เคียงที่สุดจะได้รับเงินพนันทั้งหมดไป
ปรากฏว่า มีคนกว่า 800 คนลองเสี่ยงโชค และในกลุ่ม 800 คนนั้นก็นับว่ามีความหลากหลายมาก บางคนเป็นชาวนา และนักฆ่าสัตว์เป็นพวกที่มีความเชี่ยวชาญในการกะน้ำหนักสัตว์ ในขณะเดียวกันก็มีพวกชาวบ้าน หรือคนธรรมดาที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย Galton เขาเปรียบเหมือนกับการเลือกตั้ง (อย่างอิสระ) เลยครับที่ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันหมดไม่ว่าจะเชี่ยวชาญหรือชำนาญขนาดไหน
ทีนี้เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลงและมีการมอบรางวัลไปเรียบร้อยแล้ว Galton ก็ขอยืมตั๋วที่คนกว่า 800 คนเลือกน้ำหนักจากผู้จัดการแข่งขัน มาประมวลผลโดยวิธีการทางสถิติ และหาค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่ผู้ทายน้ำหนักทั้ง 800 คนเลือก ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นตัวเลขที่รวมความเห็นของคนทั้งกลุ่ม (Collective Wisdom)
ในตอนแรก Galton คาดว่า ค่าเฉลี่ยที่ได้จะห่างจากน้ำหนักจริงๆ ของวัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มชนที่มาทายน้ำหนักนั้นประกอบด้วยทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ไม่เชี่ยวชาญ แต่ปรากฏว่า Galton คาดการณ์ผิดครับ น้ำหนักวัวที่เป็นค่าเฉลี่ยของกลุ่มชนทั้งหมดเท่ากับ 1,197 ปอนด์ ในขณะที่น้ำหนักจริงของวัวที่ชั่งได้เท่ากับ 1,198 ปอนด์ ห่างกันแค่ปอนด์เดียว แสดงให้เห็นการทายน้ำหนักของกลุ่มชนมีความแม่นยำค่อนข้างมาก
ในตอนหลัง Galton ระบุเลยครับว่า การทายน้ำหนักวัวก็น่าจะเปรียบเสมือนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย ที่ความเห็นของคนหมู่มากมีความถูกต้อง และแม่นยำกว่าความเห็นของคนไม่กี่คน (แต่เขามีข้อแม้อยู่เยอะ ประการสำคัญคือ การแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องมีความเป็นอิสระ)
เป็นอย่างไรครับ ตัวอย่างทั้งสองประการอ่านๆ ดูก็ไม่น่าเชื่อ สัปดาห์หน้าจะขอเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับ ความฉลาดของกลุ่มชนต่อ แต่ถ้าผู้อ่านอยากไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน Surowiecki มีเวบอยู่ที่ www.wisdomofcrowds.com ครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *