การไม่ยอมเสี่ยงเลย เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

การไม่ยอมเสี่ยงเลย เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง
โดย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรุงเทพธุรกิจ Fundamental ได้ลงบทสัมภาษณ์ เกี่ยวกับการลงทุนส่วนตัวของดิฉัน โดยพาดหัวประโยคที่ดิฉันพูดว่า “กลัวความเสี่ยง…ก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง” ตลอดสัปดาห์ดิฉันจึงได้รับคำถามจากผู้คนมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้
หลักของการบริหารเงินออมคือ เมื่อเราทำงานหนักเพื่อหาเงินมาแล้ว เราต้องแบ่งเงินออมนั้นเก็บไว้ และนำไปลงทุน ผู้ลงทุนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง คือเวลาลงทุนจะสนใจแต่ที่ปลอดภัยไว้ก่อน ถึงแม้ผลตอบแทนจะน้อยเพียงใดก็ตาม
แต่หากท่านนำ “กฎของเลข 72” มาใช้ ท่านจะพบว่าหากท่านไม่สนใจผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ท่านอาจจะเสียโอกาสมหาศาล และการเสียโอกาสนั้นดิฉันถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง
กฎของเลข 72 บอกว่า หากจะคำนวณหาจำนวนปีที่เงินลงทุนของท่านจะเพิ่มเป็นเท่าตัว ให้ใช้เลข 72 ตั้ง แล้วหารด้วยอัตราผลตอบแทนที่ท่านคิดว่าจะได้รับ เช่น หากอัตราผลตอบแทนเท่ากับ 1% เงินลงทุน 1,000 บาทของท่านจะเติบโตเป็นเงิน 2,000 บาท จะต้องใช้เวลา 72 หารด้วย 1 เท่ากับ 72 ปี!
แต่ถ้าอัตราผลตอบแทนเพิ่มเป็น 10% เงินลงทุน 1,000 บาทของท่าน จะเพิ่มเป็น 2,000 บาท ในเวลาเพียง 7.2 ปีเท่านั้น (72 หารด้วย 10) ผลตอบแทนจากการลงทุนจึงมีความสำคัญ
หากท่านออมเงินปีละ 5,000 บาทเป็นเวลา 30 ปี เงินต้นของท่านจะเท่ากับ 150,000 บาทในปีที่ 30 แต่หากท่านนำไปลงทุนได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ในสิ้นปีที่ 30 ท่านจะมีเงิน 384,804 บาท หากผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 10% ต่อปี เงินของท่านจะเพิ่มเป็น 904,717 บาท และหากผลตอบแทนเท่ากับ 15% ต่อปี ในสิ้นปีที่ 30 ท่านจะมีเงินถึง 2,499,785 บาทเลยทีเดียว
ดังนั้น ความเสี่ยงของการไม่ยอมเสี่ยง ก็คือการที่ท่านยอมให้เงินออมเติบโตช้า และเงินออมและเงินลงทุนของท่าน อาจจะไม่เพียงพอให้ท่านใช้เมื่อท่านเกษียณอายุงาน
ท่านที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นทุน แต่ยังไม่เคยลงทุนเลย ดิฉันขอแนะนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ไม่ใช่ว่าทำงานด้านนี้แล้วจึงเชียร์กองทุนนะคะ แต่เพราะว่าเป็นกองทุนที่มีประโยชน์จริงๆ สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มลงทุนในหุ้น แต่ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะลงทุน และยังกลัวความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นอยู่
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long-Term Equity Fund (LTF) เป็นการลงทุนในหุ้นโดยมีมืออาชีพบริหารให้ นอกจากนั้น ท่านยังมีแต้มต่อ คือเงินที่ท่านนำมาลงทุนจะสามารถนำไปหักออกจากรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ในตอนปลายปีได้ โดยรัฐบาลยอมให้หักถึง 15% ของรายได้ทุกประเภทของท่าน แต่ต้องไม่เกินปีละ 300,000 บาท
ท่านที่มีรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากท่านจัดการภาระต่างๆ ในแต่ละเดือนแล้ว ยังมีเงินที่พอจะลงทุนได้ ท่านน่าจะพิจารณาลงทุนในกองทุนประเภทที่สามารถใช้สิทธิทางภาษีได้คือ LTF และอีกประเภทหนึ่งคือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) ดิฉันแนะนำว่า ส่วนที่ท่านต้องการลงทุนในหุ้น ให้ซื้อกองทุน LTF และส่วนที่ท่านต้องการลงทุนในกองทุนผสม กองทุนตราสารหนี้หรือพันธบัตร ให้ลงทุนใน RMF
และต้องขอเตือนว่า ท่านต้องจัดการดูแลภาระการผ่อน ดูแลการจัดเงินและสภาพคล่องไว้ใช้ในช่วงเวลาต่างๆ ให้ดี นะคะ เพราะการลงทุนในกองทุน LTF ท่านจะต้องลงทุนนานถึง 5 ปีปฏิทิน คือหากลงทุนในปี 2549 นี้ ก็จะสามารถขายคืนได้ในปี 2553 ค่ะ และหากลงทุนใน RMF ท่านต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง ขาดได้ไม่เกินปีเว้นปี และต้องลงทุนจนถึงอายุ 55 ปี ท่านจึงจะได้สิทธิทางภาษีครบถ้วน หากท่านผิดเงื่อนไขท่านต้องนำภาษีที่ท่านได้ลดหย่อนไปคืนรัฐบาลค่ะ
นอกจากเงินที่ลงทุนจะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้แล้ว กองทุน LTF และ RMF ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นๆ คือผลตอบแทนที่กองทุนได้รับไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น หรือดอกเบี้ย ล้วนแล้วแต่ไม่ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น สำหรับผลตอบแทนที่กองทุนจ่ายให้กับผู้ลงทุน หากเป็นมูลค่าเพิ่มหรือกำไรส่วนเพิ่ม (Capital Gain) ไม่ต้องเสียภาษีเพียงแต่หากเป็นเงินปันผล ถ้าหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แล้ว ก็ไม่ต้องนำไปคำนวณภาษีอีกค่ะ
กองทุน LTF เปิดให้ผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนไปหักออกจากรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีได้อีกเพียง 11 ปีเท่านั้น คือปี 2549 ถึงปี 2559 ช่วงนี้จนถึงสิ้นปี บลจ.ต่างๆ ก็มีรายการพิเศษให้มากมาย และยังมีสิทธิลุ้นรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ หากลงทุนต่อเนื่องทุกเดือนด้วยค่ะ
การลงทุนในหุ้นไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือเป็นการลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวม เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง แต่ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยก็ได้ลดลงมาในระดับหนึ่งแล้ว โดยความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วง ปี 2543-2545 วัดจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 22-45% ต่อปี ในช่วงปี 2546-2547 เท่ากับ 18-40% ต่อปี และในช่วงปี 2548-2549 ลดลงเป็น 12-22% ต่อปี
ความเสี่ยงที่กล่าวถึงทั้งหมดเป็นความเสี่ยงในการลงทุนนะคะ แต่ถ้าเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตแล้วละก็ ไม่ควรจะเสี่ยงเลยค่ะ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *