“หูดับ” ฟังเสียงดังนานเสี่ยงเป็นอาการปวดศีรษะ อาเจียน เวียนหัว

“หูดับ” ฟังเสียงดังนานเสี่ยงเป็นอาการปวดศีรษะ อาเจียน เวียนหัว
• คุณภาพชีวิต

“หูดับ” หมายถึง อาการที่หูไม่ได้ยินเสียงเลย หรือได้ยินเสียงน้อยลง ซึ่งอาจเกิดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียว โดยที่อาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ภาษาอังกฤษเรียกว่า sudden hearing loss เรียกย่อๆ ว่า SHL

ในทางทฤษฎีแล้วนั้น โรคหูดับ หรือ SHL หมายถึง ระดับการได้ยินลดลงมากกว่า 30 เดซิเบล เป็นเวลานานเกินกว่า 72 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้อาการมักจะปรากฏเด่นชัดในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก อาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันได้มาก และระดับเสียงที่ไม่ได้ยิน อาจเป็นระดับเสียงที่ความดังเท่าใดก็ได้ไม่แน่นอนเสมอไป อาการของโรค SHL อาจเป็นเพียงชั่วคราว หรือเกิดขึ้นอย่างถาวร

โรค SHL เกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิง อายุระหว่าง 30-60 ปี จากสถิติพบว่าผู้ป่วยหนึ่งในสามเกิดอาการในตอนเช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากตื่นนอนใหม่ ๆ ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ปวดศีรษะ อาเจียน เวียนหัว รู้สึกบ้านหมุน และมีเสียงดังในหู

สาเหตุ

ส่วนใหญ่โรค SHL เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาวิจัยในระยะหลัง ๆ พบว่าการเกิดโรค SHL มักจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสบางชนิด ซึ่งเป็นการติดเชื้อในหูชั้นในและเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 อีกทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายกลไกการเกิดโรค SHL และได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง เชื่อว่าการเกิดโรค SHL เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาทางอิมมูนที่เกิดขึ้นในหูชั้นใน

1. การติดเชื้อไวรัสบางชนิด

ในบางรายงานทางการแพทย์ พบสาเหตุของโรค SHL เกิดจากไวรัสมากถึงร้อยละ 60 โดยสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางน้ำเหลืองในห้องปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่า seroconversion ส่วนไวรัสที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza type B, ซัยโตเมกาโลไวรัส CMV, ไวรัสคางทูม mumps, รูบิโอลา rubeola, ไวรัสสุกใส-งูสวัด varicella-zoster

รายงานการศึกษาที่ยืนยันแนวความคิดที่ว่าการติดเชื้อไวรัสเป้นสาเหตุหนึ่งของโรค SHL คือการที่นักวิทยาศาสตร์สามารถเพาะเชื้อไวรัสคางทูมจากสารน้ำในหูชั้นใน และเพาะเชื้อไวรัส CMV จากสารน้ำในหูชั้นในของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อไวรัส CML ตั้งแต่แรกเกิด

ส่วนไวรัสชนิดอื่นๆ ที่อาจพบเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้บ้าง ได้แก่ ไวรัสหัด measles, เฮอร์ปีไวรัส herpes-1 และไวรัสอินเฟ็คเชียสโมโนนิวคลิโอสิส infectious mononucleosis ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไวรัสในตระกูลเฮอร์ปี herpes family ทั้งสิ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการตรวจทางพยาธิวิทยาจากเนื้อเยื่อหูชั้นในของผู้ป่วยที่เป็นโรค SHL จะพบการตายของเซลล์หลายชนิดภายในหูชั้นใน รวมทั้งลักษณะที่บ่งบอกถึงการเสื่อมของเซลล์อย่างชัดเจน

2. ภาวะหูชั้นในขาดเลือดไปเลี้ยง

เป็นทฤษฏีที่เชื่อกันมาเป็นเวลานาน เนื่องจากหูชั้นในมีความไวต่อปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงมาก และในสัตว์ทดลองพบว่าการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน มีผลทำให้เกิดการตายของเซลล์ได้ง่าย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการอุดตัน ตีบตัว การแตก ของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในจึงอาจเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่ง

3. ปฏิกิริยาทางอิมมูน

หลักฐานที่สำคัญที่ทำให้เชื่อว่าปฏิกิริยาทางอิมมูนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค SHL คือการพบอาหารหูดับในผู้ป่วยโรคออโตอิมมูนหลายชนิด เช่น โรคลูปุส กลุ่มอาการโคแกน เป็นต้น ปัจจุบันแม้ยังไม่สามารถตรวจ marker ที่เฉพาะเจาะจงได้ แต่งานวิจัยช่วงหลัง ๆ เชื่อว่า โรค SHL น่าจะเกิดจากภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานชนิดแอนติบอดี้ต่อเนื้อเยื่อตนเอง หรือที่เรียกว่า autoimmunity

4. การฉีกขาดของเยื่อภายในหูชั้นใน intracochlear membrane

เยื่อดังกล่าวทำหน้าที่แยกหูชั้นในออกจากหูชั้นกลางและแบ่งช่องของสารน้ำที่เป็นของเหลวที่อยู่ภายในหูชั้นใน ในกรณีที่มีการฉีกขาด จะทำให้ของเหลวเกิดการรั่วไหลได้ นอกจากนี้เสียงที่ดังมากๆ ทันที เช่น เสียงระเบิด เสียงฟ้าผ่า ก็ทำให้หูดับ ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินทันที

บางรายสาเหตุเกิดจากความเครียด ไม่ได้นอนพักผ่อน อดหลับอดนอน หรือเป็นเพราะโหมงานหนักมากเกินไป ผู้ที่ตรากตรำทำงานหนัก ติดต่อกันโดยไม่พักผ่อน อาจทำให้เกิดอาการหูดับขึ้นได้เช่นกัน

การวินิจฉัยโรค

เมื่อมีอาการหูดับหรือฟังเสียงไม่ได้ยิน ควรมารับการตรวจเพื่อวินิจฉัยในทันที แพทย์หูคอจมูกจะทำการตรวจหูโดยละเอียด และพิจารณาส่งตรวจวัดการได้ยิน ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี

การตรวจวัดระดับการได้ยิน เรียกว่า Hearing tests หรือ Audiometry แบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ

ระดับเล็กน้อย (mild) 25-39 เดซิเบล
ระดับปานกลาง (moderate) 40-68 เดซิเบล
ระดับรุนแรง (severe) 70-94 เดซิเบล

การตรวจพิเศษอื่นๆ

การตรวจพิเศษโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เรียกว่า เอ็มอาร์เอ MRA และ เอ็มอาร์ไอ MRI เป็นการตรวจเส้นประสาทหูชั้นในและชั้นกลางอย่างละเอียด รวมทั้งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทหู เพื่อดูว่ามีโรคอื่นแทรกซ้อน ทำให้ไม่ได้ยินหรือไม่ และสามารถตรวจพบเนื้องอกภายในสมองบริเวณนั้นที่อาจเป็นสาเหตุได้ เนื้องอกดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า อะคูสติก นิวโรมา (acoustic neuroma)

แนวทางการรักษา

การรักษาที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อให้ประสาทหูฟื้นตัวโดยเร็ว โดยทั่วไปแพทย์จะสั่งให้พักผ่อนเพื่อรักษาอาการอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และห้ามฟังหรือเข้าใกล้เสียงที่ดังมาก หากสามารถหยุดทำงานได้ก็จะเป็นการดี และควรพักผ่อนอยู่กับบ้าน ถ้าไม่สะดวก อาจพิจารณาเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการของโรคจะดีขึ้น หรือหายได้เอง ราวร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด ดังนั้นในรายที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาติดตามอาการเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาที่มากมาย เนื่องจากไม่ช่วยให้อัตราการหายจากโรคเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด

การรักษาโดยยาต้านไวรัสได้ผลดีในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ลักษณะอาการเข้าได้กับการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสเฮอร์ปีซิมเพล็ก herpes simplex virus จากการศึกษาวิจัย พบว่าเชื้อไวรัสในตระกูลเฮอร์ปี เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้บ่อย การรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสชื่อ อะซัยโคลเวีย acyclovir พบว่าได้ผลดีในสัตว์ทดลองที่เกิดโรคจากเชื้อไวรัส HSV-1 และได้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อให้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาสเตียรอยด์ ดังนั้น ถ้าคิดว่าสาเหตุอาจเกิดจากเชื้อเฮอร์ปี แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสดังกล่าว

การใช้ยาลดปฏิกิริยาอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ corticosteroids ได้ผลดีเช่นกัน แพทย์อาจพิจารณาใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ จากการศึกษาวิจัย พบว่าการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดในขนาดสูงได้ผลดีที่สุด แต่ก็มีการศึกษาที่ให้ผลในทางตรงข้าม จึงยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดในปัจจุบัน มีรายงานการรักษาโดยฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในเยื่อแก้วหู พบว่าได้ผลดีเช่นกัน

ในปี 2001 ได้มีรายงานการศึกษาวิจัยที่ใช้วิธีการรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูง หรือที่เรียกว่า hyperbaric oxygen therapy โดยใช้ออกซิเจน 2.2 ความดันบรรยากาศ เป็นเวลานาน 90 นาที ทั้งหมดรวม 10 ครั้ง พบว่าได้ผลดี แต่ยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *