“สวนโมกข์กรุงเทพฯ” มากกว่าหอจดหมายเหตุศาสนธรรม

“สวนโมกข์กรุงเทพฯ” มากกว่าหอจดหมายเหตุศาสนธรรม
• สุขภาพใจ
สวนที่เปิดให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงหัวใจของศาสนา

“หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” ไม่ใช่ทำหน้าที่เก็บรักษา อนุรักษ์ ศึกษาค้นคว้าและเผยแผ่ผลงานของท่านพุทธทาสเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงหัวใจของศาสนา สวนโมกข์กรุงเทพฯ จึงเป็นสวนที่เปิดให้ทุกคนมีโอกาสชิมนิพพาน คือชิมความเย็นในใจ ในกายเรา ชิมให้เข้าใจ บริหารจิตใจให้เย็น นิ่งสงบ

อีกประมาณหนึ่งปี คนกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงไม่ต้องไปสวนโมกข์ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี และยังสามารถเข้ามาศึกษางานของท่านพุทธทาสภิกุขได้ครบถ้วนภายในที่เดียว เพราะ “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” จะสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) อุทยานจตุจักร กรุงเทพฯ ราวเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

ตลอดช่วงชีวิต 87 ปี ระหว่างปี 2449-2536 ท่านพุทธทาสได้ศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่ธรรมอย่างสม่ำเสมอและแพร่หลาย มีผลงานการเผยแผ่เป็นรูปธรรมและประจักษ์พยานอย่างมาก ซึ่งหลังมรณกรรมของท่าน สวนโมกขพลาราม, คณะธรรมทาน และคณะศิษยานุศิษย์ ได้ประมวลรวบรวมสิ่งศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหลายของท่านไว้

สิ่งศึกษาเรียนรู้ทั้งหมดนี้เป็นมรดกทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ สมควรจัดเก็บอนุรักษ์ไว้ให้เป็นระบบ เพื่อความสะดวกในการสืบค้นเพื่อเผยแผ่ และเป็นประโยชน์เกิดสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งในเบื้องต้นจากการสำรวจเอกสาร สิ่งพิมพ์ ภาพ แถบเสียงโสตทัศน์ และวัตถุสิ่งของต่างๆ ของท่านพุทธทาส มีปริมาณมากกว่า 27,347 รายการ ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพที่เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย เสื่อมสภาพ ควรได้รับการอนุรักษ์ รักษาอย่างเร่งด่วน

และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางในการจัดตั้ง “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” หรือ “สวนโมกข์กรุงเทพฯ” ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงหอจดหมายเหตุศาสนธรรม (Religious Archives) ทำหน้าที่เก็บรักษา อนุรักษ์ ศึกษาค้นคว้าและเผยแผ่ผลงานของท่านพุทธทาสเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงหัวใจของศาสนา ตามปณิธานของท่านพุทธทาสด้วย

นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เปิดเผยถึงสาเหตุที่เลือกสวนจตุจักรเป็นที่ตั้งของสวนโมกข์กรุงเทพฯว่า “เราเห็นว่าสวนจตุจักรเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว ผู้คนมาออกกำลังกายกัน แล้วเราก็พบว่า ที่ไหนๆ ก็มีฟิตเนสเซ็นเตอร์ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของกาย แต่ยังขาดแคลนฟิตเนสจิตใจ คนเรามีปัญหาเรื่องจิตใจเยอะมาก”

“ที่นี่น่าจะเป็นอะไรที่คล้ายกับฟิตเนสให้เหมาะกับคนยุคนี้ สุดท้ายก็ออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ Spiritual Edutainment Center & Spiritual Fitness คือ ทำอย่างไรให้ที่นี่กลายเป็นที่…ถ้าเป็นภาษาของท่านพุทธทาส ท่านบอกว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คือ ความประเล้าประโลมใจและสติปัญญา แจ่มใส นิ่มนวล ขณะเดียวกันก็มีความเข้มแข็ง สวนโมกข์กรุงเทพฯ จึงเป็นสวนที่เปิดให้ทุกคนมีโอกาสชิมนิพพาน คือชิมความเย็นในใจ ในกายเรา ชิมให้เข้าใจ บริหารจิตใจให้เย็น นิ่งสงบ”

สำหรับการก่อสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ นั้น ล่าสุดเพิ่งได้ฤกษ์ตอกเสาเข็มอาคาร ซึ่งข้ากว่ากำหนดการเล็กน้อยเนื่องจากมีกการตอกเสาเข็มอาคารลงในน้ำของสระด้านทิศเหนือ แต่ นพ.บัญชายืนยันว่า จะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ สามารถเปิดดำเนินการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2552 โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดแถลงข่าว “เปิดประตู…สวนโมกข์กรุงเทพฯ” อย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก

นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานคณะกรรมการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ กล่าวถึงรูปแบบของอาคารว่า เน้นความเรียบง่าย ประกอบด้วย ลานหินโค้ง และสระนาฬิเกร์ ซึ่งจำลองจากสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี แล้วยังมีห้องบริการหนังสือและสื่อธรรม, ห้องค้นคว้า, ห้องนิทรรศการ “มหรสพทางวิญญาณเพื่อนิพพานชิมลอง”, สถานที่ปฏิบัติสมถวิปัสสนา ที่สำคัญเป็นสถานที่ในการจัดเก็บผลงานของท่านพุทธทาส ทั้งหนังสือ บันทึก และลายมือต้นฉบับ จำนวน 575,000 หน้า ภาพ 51,300 ชิ้น เสียงและโสตทัศน์ 234 แผ่น

นพ.เกษมเผยถึงค่าใช้จ่ายในโครงการนี้ว่า “งบประมาณแบ่งเป็นสองส่วนคือ การก่อสร้าง 185 ล้านบาท และการบริหารจัดการอีกประมาณ 50 ล้านบาท ผู้ที่สนใจสามารถร่วมเป็นอาสาสมัครสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ หรือสมทบทุนการก่อตั้งและการดำเนินการ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2305-9589-90 หรือเว็บไซต์ www.bia.or.th”

“พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง โดยเฉพาะผลงานทางธรรมที่ท่านพุทธทาสสร้างไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะผ่านการบันทึกตัวอักษรด้วยลายมือ เสียงเทปบันทึกการเทศน์ และปริศนาธรรมในสวนโมกข์ แต่ที่ผ่านมานั้นสวนโมกขพลารามจัดว่าตั้งอยู่ค่อนข้างไกล ทางภาคใต้ของประเทศ ขณะที่สื่อธรรมะ แม้มีอยู่อย่างมากมาย แต่ก็กระจัดกระจาย

การกำเนิดของสวนโมกข์กรุงเทพฯจึงเปรียบเสมือนย้ายสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี มาอยู่ใจกลางของประเทศ เอื้ออำนวยให้ผู้คนทุกภาคเดินทางมาสัมผัสได้ใกล้และง่ายขึ้น พร้อมกันนั้นยังรวมสื่อธรรมะของท่านพุทธทาสอย่างครบถ้วน ณ สถานที่เดียว อีกด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *