“ภาวะสมองเสื่อม” ตอน 2

“ภาวะสมองเสื่อม” ตอน 2

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม?

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการภาวะสมองเสื่อมอาจมีความรู้สึกว่าจำอะไรได้แย่ลง โดยเฉพาะเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง การตัดสินใจแย่ลง หรือบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ผู้ใกล้ชิดอาจสังเกตได้ว่าผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เช่น อารมณ์ที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย พฤติกรรมผิดปกติ เช่น ถามเรื่องเดิมๆ บ่อย ทำอะไรซ้ำๆ พูดถึงแต่คนที่คุ้นเคยในอดีต

มีการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงในกิจวัตรประจำวัน เช่น เคยทำอาหารทุกวัน อาจเริ่มที่จะไม่ทำเหมือนเดิม เคยอ่านหนังสือทุกวัน เริ่มที่จะไม่อ่าน การดูแลตัวเอง เช่นการอาบน้ำ แปรงฟัน อาจทำด้วยตัวเองไม่ได้ การสื่อสารพูดคุยอาจคุยกันไม่รู้เรื่อง ถามอีกอย่างตอบอีกอย่าง ถ้ามีอาการดังกล่าวควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ และหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม

เมื่อมีอาการสงสัยภาวะสมองเสื่อมและได้พบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติทั้งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดเพื่อหาข้อมูลการดำเนินโรคและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความสำคัญมากในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา หลังจากนั้นก็จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปและระบบประสาท การทดสอบสมรรถภาพสมอง การตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น การตรวจเลือด การตรวจสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการทำเอกซเรย์อาจไม่จำเป็นต้องตรวจทุกรายขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยและการวินิจฉัยของแพทย์

หลักการรักษา

การรักษาภาวะสมองเสื่อมคงต้องรักษาที่สาเหตุ เช่น ถ้ามีสาเหตุจากการได้ยากดประสาท การหยุดยาอาจทำให้ภาวะสมองเสื่อมดีขึ้นได้ หรือสาเหตุสมองเสื่อมจากโรคไทรอยด์ต่ำ การรักษาโรคไทรอยด์ต่ำให้ปกติก็อาจทำให้ภาวะสมองเสื่อมกลับมาปกติได้ ส่วนสาเหตุที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ได้แก่ กลุ่มโรคความเสื่อมของเซลสมอง อย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองนั้น อาจเน้นไปในแนวทางการรักษาตามอาการมีทั้งการให้ยาและการปรับพฤติกรรม เพื่อชะลอความเสื่อมของสมองและลดภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ การสร้างความเข้าใจในการดำเนินโรค เพื่อให้พร้อมที่จะปรับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและญาติให้สอดคล้องกัน และการดูแลเรื่องสุขภาพจิตเนื่องจากทั้งผู้ป่วยและญาติที่เผชิญกับภาวะนี้อาจมีทั้งความเครียด กังวล ซึมเศร้า ได้

การป้องกัน

ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าพิจารณาตามสาเหตุแล้วพบว่า ถ้าเราใช้ชีวิตดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารให้เพียงพอครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่มีโทษต่อร่างกาย การปลอดจากโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่เครียด ไม่กังวลใช้สมองมีความคิดอย่างสร้างสรรค์ ยึดหลักศีลธรรมในการดำเนินชีวิตได้ดี ตั้งแต่กำเนิด จนถึงวัยชรา ก็น่าจะทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมลดลงไปได้มาก
ข้อมูลจาก นายแพทย์กฤติ รื่นอารมณ์ อายุรแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2
น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Update 18-03-52

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *