“บุญชู โรจนเสถียร” จากนักบัญชีสู่อาจารย์ใหญ่

“บุญชู โรจนเสถียร” จากนักบัญชีสู่อาจารย์ใหญ่
บริหารรัฐจัดการธุรกิจ : ธงชัย สันติวงษ์ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2550
ได้ทราบข่าวคุณบุญชู โรจนเสถียร อดีตผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงเทพ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ได้ถึงแก่อนิจกรรมในท่ามกลางข่าวปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของไทย
ผมได้ไปร่วมงานสวดอภิธรรมที่หัวหิน ได้เห็นชัดว่า มีคนจำนวนมากได้ถือโอกาสคารวะท่านเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ร่างของท่านที่ท่านได้อุทิศให้กับการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “อาจารย์ใหญ่” หลังเสร็จพิธีสวดอภิธรรมแล้ว
ประวัติ ชีวิตและผลงานของคุณบุญชู นับเป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีประสบการณ์โชกโชน น่าศึกษายิ่งนัก โดยเฉพาะในท่ามกลางสภาพสังคมไทยที่ยังคงต้องเหนื่อยวนเวียนกับการพัฒนาหาทางออกในโลกที่เปลี่ยนแปลงที่รุนแรง
ตลอดชีวิตของคุณบุญชู ท่านเองคือ บุคคลที่น่าจะเป็นต้นแบบของคนไทยที่หวังดีกับประเทศ และได้มีบทบาทในทางต่างๆ ที่จะช่วยสร้างสรรค์ประเทศให้เจริญทันอารยประเทศในทุกโอกาสที่มี
ที่ผ่านมา ผมได้เคยรับใช้ทำงานกับคนดีของไทยที่หวังดีและมีคุณานุปการกับประเทศหลายท่าน ตั้งแต่กรมหมื่นนราธิปฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาจนถึง คุณบุญชู โรจนเสถียร ยาวนานเกือบสิบปีที่แบงก์กรุงเทพ ต้องขอบอกว่าประวัติและผลงานคุณบุญชู โรจนเสถียร มีความโลดโผน มีสีสันและความผกผันและพิสดารมากมาย อย่างน้อยดูได้จากชื่อสมญานามที่มีคนเรียกท่านต่างๆ นานา
ที่จำกันได้มากที่สุดคือ “ซาร์เศรษฐกิจ” หรือ ราชาทางเศรษฐกิจที่เข้ามาเล่นการเมืองในยุคของพระเจ้าซาร์แห่งอิหร่าน บางคนพูดถึงท่านในฐานะ “นักการเมือง” จอมโอหัง หลายคนนับถือท่านในฐานะนักบัญชี ที่ประสบความสำเร็จสูงในทางวิชาชีพ
ขณะที่พ่อค้าประชาชนรู้จักท่านในฐานะนายธนาคาร ส่วนข้าราชการและนักการเมืองจะนิยมเรียกท่านว่า “อาจารย์ใหญ่” ในความที่ท่านจะเป็นผู้นำนักการเมืองคนแรก ที่ชอบนำเอาความรู้ทางบริหารจัดการจากภาคเอกชนไปใช้อย่างเข้มงวดจริงจัง ในระบบราชการ โดยเฉพาะในวาระ การซักถามให้ต้องตอบอย่างละเอียด และมีหลักการกับตรงหลักวิชาการในทุกครั้ง ของการพิจารณางบประมาณแผ่นดิน
จนใช้คำว่า “อาจารย์ใหญ่” เพื่อสะท้อนถึง “ภาพลักษณ์” อันเป็นบุคลิกการทำงานของท่านที่พิถีพิถันหวังผลให้ข้าราชการ และนักการเมืองทำงานอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น คล้ายกับที่ท่านได้ทำมาแล้วแสนนานในธนาคาร
สำหรับตัวผมที่เคยทำงานใกล้ชิดท่านที่แบงก์กรุงเทพ โดยเฉพาะ ในฝ่ายวางแผนอันเป็นศูนย์กลาง ของการบริหารในสมัยของท่าน นามหนึ่ง ผมกลับจะต้องเรียกท่านว่า “นักบริหารมืออาชีพ” หรือ “นักยกเครื่ององค์กร” เพราะ ผมในฐานะ อดีตผู้อำนวยการโครงการ MBA อดีตคณบดีคณะพาณิชย์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาการทั้งบัญชีและบริหารจัดการ ทราบชัดว่า คุณบุญชู โรจนเสถียร คือ ผู้มีความรู้ทางการบัญชีอย่างดี โดยขณะเดียวกัน ท่านยังมีความรู้ในทางบริหารจัดการอย่างดีเยี่ยม ทั้งกว้างและลึกซึ้งในทางวิชาการบริหารจัดการ กับที่สำคัญ คือเป็นนักปฏิบัตินิยม ที่ไม่ใช่พูดเพ้อฝันหรือเจื้อยแจ้ว
นั่นคือ เป็นผู้ที่สามารถนำเอาวิชาการมาใช้ให้เกิดผลได้จริง และสามารถใช้วิชาการมาประยุกต์กับการบริหารอย่างแนบเนียน และมีบูรณาการอย่างดี ความรู้ทั้งทางการบัญชี เศรษฐศาสตร์ การเงินการคลัง การธนาคาร และการจัดการ โยงมาถึง ไอทีและเรื่องบริหารคน จะถูกนำมาใช้อย่างครบเครื่อง สไตล์การจัดการของคุณบุญชู โดยพื้นฐานที่เป็นนักบัญชี ซึ่งน่าจะลงรายละเอียด ท่านกลับเก่งบัญชีบริหารตัวยง ที่ก้าวนำไปใช้กับการวางแผนกลยุทธ์ และการควบคุมในทางการจัดการได้อย่างมีสาระและแก่นสาร
ถ้าจะโยงมาถึงการจัดการสมัยใหม่ คุณบุญชู โรจนเสถียร คือ ผู้มี “วิสัยทัศน์” (หรือ ทัศนวิสัย) ที่มองได้กว้างไกล โดยจุดเด่นที่ตามมาคือ ท่านจะให้บริหารโดยให้มีการคิด วิเคราะห์และวางแผน หรือ ใช้แผนเป็นเครื่องมือ และจะไม่ปล่อยนิ่งเหมือนคนอื่น แต่จะติดตามผลการปฏิบัติแบบจี้ติดอย่างเป็นระบบ โดยมีข้อมูลสนับสนุนชัดเจน
ส่วนฤทธิ์เดช ทางบริหารของท่าน ที่ผู้ร่วมงานทุกท่านต่างรู้ดีคือ “การบริหารโดยมุ่งผลสำเร็จ” ตามแนวทางของ Peter F. Drucker ได้จริงๆ โดยเลี่ยงกิจกรรมรายละเอียดด้วยการกระจายอำนาจอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดศักยภาพการแข่งขันก่อนเวลา และก่อนการเปลี่ยนแปลงจะมากระทบถึงผลงานเด่น 2 ด้านที่คนไทยควรทราบคือ
ด้านแรก คือ ตำนานการบิรกาหารแบงก์ที่ชาวแบงก์กรุงเทพถือเป็นตำนาน จากสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ให้กับแบงก์คือ การวางยุทธศาสตร์ในฐานะแบงก์ชั้นนำของประเทศ และการเปลี่ยนสไตล์การบริหาร และการทำงาน รวมถึงการยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ ในช่วงปี พ.ศ.2520-2525
ด้านที่สอง คือ การนำเอาประสบการณ์ของท่านออกไปใช้ กับระบบราชการกับรัฐวิสาหกิจ ในยุคที่ท่านตัดสินใจเล่นการเมือง จะเรียกว่า ท่านคือ ผู้เชี่ยวชาญและเป็นต้นตำรับของเรื่อง “การบริหารภาครัฐกับการจัดการภาคธุรกิจ” หรือ “Public and Private Management” ก็ดูจะไม่ผิดนัก ผมเชื่อว่าความคิดของท่านเกี่ยวกับการบิรหารราชการเป็นเรื่องที่ข้าราชการ และนักการเมืองต่างรู้กันดีว่า
ท่านได้คิดอะไรไว้สำหรับประเทศบ้าง ท่านเป็นผู้ริเริ่ม กรอ. เป็นผู้ประสาน Asean Bankers เป็นผู้ริเริ่มให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งทำ “แผนวิสาหกิจ” ให้ราชการทำงบประมาณตามแผนงาน อีกทั้งเป็นนักนิยมการสหกรณ์และนิยมเคารพ ท่าน ม.จ.สิทธิพร กฤตดากร
ประวัติชั่วชีวิตของท่านมีผลงานมากมาย แม้จะทำไม่ได้สำเร็จทุกเรื่อง แต่ก็ต้องนับว่ามากที่สุดที่คนๆ หนึ่งจะทำได้ ทั้งนี้จุดอ่อนของท่านคือ ท่านคิดไวเกินไป โดยผิดพลาดที่ท่านคิดไวล้ำหน้าไป โดยคิดก่อนเวลาถึงสิบยี่สิบปี ด้วยลักษณะนี้เอง ท่านจึงถูกบางคนเรียกว่า “จอมกลยุทธ์” อีกจุดอ่อนคือ การเชื่อคนง่ายและมักแพ้ภัยคนที่เข้าหา ตรงข้ามกับจุดแข็งของท่านคือ ท่านเลือกใช้คนเก่ง แต่มักจะถูกใช้กลับ (หรือ หาประโยชน์จากท่าน) จากคนที่ไม่จริงใจกับท่าน ที่น่าชมเชย คือ คุณบุญชู คือ บุคคลตัวอย่างที่ “นิยมการเรียนรู้” ซึ่งสำคัญมากสำหรับคนยุคนี้
ครั้งหนึ่ง ดร.ทักษิณ อดีตนายกฯ เคยกล่าวว่า ท่านอยากจะสร้างบริษัทชินวัตร ให้มีความเป็น “สถาบัน” ให้เป็นเช่นเดียวกับที่คุณบุญชู ได้สร้างสถาบันแบงก์กรุงเทพจนเติบโตแข็งแรงเป็นสถาบันทางสังคม
ยังมีเกล็ดเล็กที่คนนอกควรรู้คือ ท่านเป็นนักบริหารที่รู้รับผิดชอบต่อสังคม หรือ มี CSR โดยรักและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และการกีฬา โดยตั้งศูนย์สังคีตศีล ขึ้น
เรื่องราวประวัติและผลงานของท่านบุญชู โรจนเสถียร ได้ทำไว้ให้กับสังคมไทยมีอีกมากมาย ที่จะนำมาเล่ากันได้ เพียงในชั้นนี้ ผมอยากเรียกคุณบุญชู โรจนเสถียร ในฐานะศิษย์จากสถาบันการศึกษาเดียวกันและอยู่ในวิชาชีพเดียวกันว่า “คุณบุญชู คือ นักบัญชีผู้เกรียงไกร” เป็นคนเก่งที่มีเอกลักษณ์พิเศษ 2 ด้านคือ เป็น “นักบัญชีผู้บริหาร” ที่สามารถพัฒนา และแปลงตนเองยกระดับจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูง กับเป็น “นักบริหารผู้ (รู้จัก) ใช้บัญชี” เพื่อสร้างความเป็นนักบริหารที่สูงเด่นที่มีความแตกต่าง ที่นักบัญชีทั้งหลายควรถือเป็นตัวอย่าง
ท้ายที่สุด ในฐานะลูกน้องเก่า ผมขอให้ดวงวิญาณของท่านบุญชู โรจนเสถียร ไปสู่สุคติในสัมปรายภพเทอญ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *