“ถูกต้อง เฉียบขาด" สู่ยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์

“ถูกต้อง เฉียบขาด” สู่ยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในแต่ละปีด้วยความคาดหวังว่าในปีต่อไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และบางองค์กรในยุคปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเกือบจะทุกไตรมาส หรือพยายามปรับตัวปรับยุทธศาสตร์ เปลี่ยนกลยุทธ์กันแทบจะตลอดเวลา เพราะรู้ว่าปัจจุบันเป็นโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จะรอปรับแผนตอนสิ้นปีจะช้าเกินไป

แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์กันอย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นมักจะลงท้ายด้วยความล้มเหลวมากกว่าสำเร็จในทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์

คำถามก็คือเพราะอะไร

1.การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ คือการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้นำที่เล็งเห็นทิศทางหรือช่องทางใหม่ๆ และรู้ว่าจะต้องขับเคลื่อนองค์กร เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ ปรับแต่งสินค้า-บริการ ไปจนถึงสร้างสรรค์สินค้า-บริการใหม่ๆ ฯลฯ เพื่อให้องค์กรไปสู่เป้าหมายจากยุทธศาสตร์ใหม่ที่ผู้นำและผู้บริหารระดับสูงมองเห็น

แต่…

2.ยุทธศาสตร์ใหม่ บ่อยครั้งเป็นสิ่งดี น่าสนใจ แต่ห่างไกลจากความเป็นจริง

เพราะ…

3.ความผิดพลาดในเรื่องของยุทธวิธี (ช่องทาง /การสนับสนุน / ทักษะใหม่ๆ ฯลฯ) ยังคงเป็นยุทธวิธีแบบเดิมๆ

แม้กระทั่ง…

4.ความผิดพลาดในเรื่องของการสร้างความเข้าใจ “อย่างชัดเจน” ให้กับ “ทุกคน” ทำให้ยุทธวิธีใหม่ๆ ที่พยายามปรับเปลี่ยนตามยุทธศาสตร์ ขาดความถูกต้อง ขาดความเฉียบคม เพราะ “เข้าใจไปคนละทาง”

จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของความล้มเหลวจากยุทธศาสตร์ใหม่

ลอง “ปรับมุมคิด” โดยเริ่มต้นที่คำถาม…

“ยุทธวิธีที่มีอยู่ในปัจจุบัน อะไรบ้างที่จำเป็นต้องปรับ ต้องเปลี่ยน ต้องเลิก!?”

ตัวอย่างเช่น ยุทธวิธีในเรื่องของช่องทางการตลาด และช่องทางขายในปัจจุบัน ถ้าเป็นการใช้ช่องทางการขายที่มากมายเกินไป ก่อให้เกิดทั้ง “ความสับสน ความซ้ำซ้อน” และ “สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย” ช่องทางขายใดบ้างที่ควรทำต่อ ช่องทางขายใดที่ควรเลิกทำ ช่องทางขายใดบ้างที่ควรเปลี่ยนไปให้พันธมิตรใหม่เป็นผู้ทำ เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ จากพันธมิตรใหม่โดยใช้ช่องทางขายหลักของพันธมิตรและแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ

ลดค่าใช้จ่ายจากการเลิกช่องทางขายที่ไร้ประสิทธิภาพ

ขยายฐานลูกค้าใหม่จากการใช้ช่องทางของพันธมิตรใหม่ในต้นทุนที่ต่ำลง

เปลี่ยนวิธีการเข้าถึงลูกค้าจากรูปแบบและช่องทางเดิมๆ ไปสู่รูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างประสบการณ์ใหม่

จากการตั้งคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับยุทธวิธีที่มีและใช้ในปัจจุบัน จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยน การเพิ่มประสิทธิภาพของ “สิ่งที่มีอยู่ และสิ่งที่จะเพิ่ม” จะค่อยๆ พัฒนาไปสู่ “การสร้างยุทธศาสตร์ใหม่โดยใช้ยุทธวิธีเป็นจุดเริ่มต้น”

วิธีคิดและวิธีการแบบนี้ เป็นวิธีการที่ “เริ่มจากความเป็นจริง เริ่มจากสิ่งที่มีอยู่” พัฒนาไปสู่สิ่งที่จะทำ ซึ่งต่างกับวิธีการแบบเดิมๆ ที่มักจะเริ่มต้นที่การคิดการสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ โดยไร้ราก ไร้ที่มา มีแต่ความใฝ่ฝันในลักษณะเพ้อฝัน และลงเอยด้วยฝันร้ายเกือบทุกครั้ง

เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ในโลกแห่งความเป็นจริง จะต้องเริ่มต้นโดย

การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีที่ถูกต้องและเฉียบขาด คือการสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ที่เข้าใกล้ความสำเร็จ

แล้วทุกวันนี้ ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่ท่านกำลังคิดกำลังสร้าง ท่านใช้วิธีคิดและวิธีสร้างแบบใด

ที่มา : ธีรพล แซ่ตั้ง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *