“ขี้หู” ปราการสำคัญป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าหู

“ขี้หู” ปราการสำคัญป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าหู
• คุณภาพชีวิต
แนะเช็ดหูแบบเอาน้ำผ่านรอบๆ เวลาสระผมหรืออาบน้ำ

ธรรมชาติของหูเรานั้นจะสร้างขี้หูออกมา เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหูชั้นใน และการที่เราพยายามแคะขี้หูออกมามานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นโรคร้ายแรงเฉพาะที่ที่มีความจำเป็นต้องมีการนำเอาขี้หูออกไปเพื่อทำการรักษาทางการแพทย์

ปีเตอร์ โรแลนด์ คุณหมอที่เชี่ยวชาญทางด้านหู ตา จมูก ของ University of Texas Southwestern Medical Center ที่ดัลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ทำการทดลองและยืนยันข้อมูลชิ้นนี้ โดยในส่วนของการวิจัยนั้นคุณหมอโรแลนด์ได้มุ่งประเด็นในการศึกษาค้นคว้าไปยังสองคำถามคือ สภาวะใดที่เหมาะสมที่ควรจะแคะขี้หูออกไป และการหาวิธีการนำเอาขี้หูออกจากหูที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตราย

จากข้อมูลการรักษาทางการแพทย์ที่บันทึกไว้ของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีประชากรมากกว่า 12 ล้านคนต่อปีที่ต้องมาพบแพทย์เนื่องจากมีอาการเกี่ยวกับหู

ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ คันในช่องหู หูอื้อ ลมออกหู น้ำในหูไม่เท่ากัน หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ภายในหู ที่ในกรณที่ร้ายแรงคือ ไม่สามารถได้ยินเสียงหรือหูหนวกนั่นเอง

โดยเกราะป้องกันตามธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นมาคือขี้หูนั้น จากการศึกษาได้ข้อสรุปว่าขี้หูเป็นตัวทำความสะอาดภายในหูได้ตามธรรมชาติและอัตโนมัติ มีสารหรือตัวป้องกันเชื้อโรค แบคทีเรีย

นอกจากนั้น ขี้หูยังเป็นตัวหล่อลื่นที่ดีภายในช่องหู และเนื่องจากขี้หูจะมีความเหนียวอยู่เล็กน้อย จึงสามารถช่วยดักจับสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เข้ามาในหู ก่อนที่จะเข้าไปสู่หูชั้นในได้ โดยถ้าหากขี้หูถูกแคะออกไป ไม่ว่าจะเป็นจากการใช้สำลีก้าน ที่แคะหู หรืออะไรก็ตาม เจ้าขี้หูก็จะถูกสร้างขึ้นมาอีก เพื่อทำหน้าที่เป็นทหารรักษาหูของเรา

มีคนเป็นจำนวนมากที่ใช้หูฟังในการฟังเพลง หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ การใช้หูฟังเป็นเวลานานจะทำให้ขี้หูมีการสร้างขึ้นมาได้ช้าลงและไม่ปกติ

โดยคนในวัยรุ่นตอนปลายจะมีลักษณะการสร้างขี้หูที่มากกว่าคนที่อายุยังน้อย และลักษณะของเส้นขนภายในหูจะค่อนข้างหนาและแห้ง ทำให้พันกันและเป็นเกราะป้องกันสิ่งแปลกปลอมได้อีกชั้น

ดังนั้น สิ่งที่แพทย์แนะนำก็คือ อย่าไปยุ่งหรือไปแคะขี้หู ถ้าไม่เป็นโรคร้ายแรงเกี่ยวกับการมีขี้หูภายในหู การใช้สำลีก้านหรือที่แคะหู รวมไปถึงวิธีที่ใช้แท่งเทียนเป็นตัวดูดขี้หูออกก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และถ้าต้องการทำความสะอาดภายในรูหูก็มีข้อแนะนำ 3 ข้อคือ ใช้การเช็ดหูแบบเอาน้ำผ่านรอบๆ หู เช็ดเวลาสระผมหรืออาบน้ำ หรือการนำเอาขี้หูออกโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์โดยมองผ่านเครื่องจุลทัศน์ หรือวิธีใช้น้ำยาหยอดหูทำความสะอาด

ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *