‘โทรศัพท์กระป๋อง’ สะท้อนเสียงหัวใจเด็กชายแดนใต้

‘โทรศัพท์กระป๋อง’ สะท้อนเสียงหัวใจเด็กชายแดนใต้

From MGRonline

เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้คนในพื้นที่ตลอดจนชาวไทยทั้งประเทศรวดร้าวเพียงไหนคงไม่ต้องบอก ทว่าเสียงสะท้อนน้อยๆ จากหัวใจสีขาวก็ไม่อาจถูกปิดกั้นได้เช่นกัน “การเดินทางของเสียง (โทรศัพท์กระป๋อง)” ของกลุ่มเยาวชนจาก จ.ยะลา ก็ได้นำเรื่องดังกล่าวมาตีแผ่โดยเชื่อมโยงกับแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู

ภาพยนตร์สั้นความยาว 3 นาทีเรื่อง “การเดินทางของเสียง (โทรศัพท์กระป๋อง)” ของทีม “เสียงเล็กๆ จากแดนใต้” เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการตัดสินการประกวด “ภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์เยาวชน House of Science” มาหยกๆ โดยการจัดงานของสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทยภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

จุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนระดับอุดมศึกษาในเครือข่ายทั่วประเทศได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตประจำวันเสนอผ่านแผ่นฟิล์มในแง่มุมวิทยาศาสตร์อย่างน่าสนใจ และจุดประกายให้สังคมไทยได้สนใจวิทยาศาสตร์ ซึ่งแทรกซึมในการดำรงชีวิตแบบแนบแน่นขึ้น

“การเดินทางของเสียง (โทรศัพท์กระป๋อง)” เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงชาวมุสลิมวัยเริ่มอ่านออกเขียนได้คนหนึ่ง ซึ่งเล่าเรื่องของตัวเองผ่านเรียงความให้เพื่อนร่วมชั้นได้ฟัง เกี่ยวกับเพื่อนต่างศาสนาบ้านใกล้เรือนเคียงของเธอ ที่มักแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำการบ้าน หรือเล่นด้วยกันเสมอๆ จนกระทั่งเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้น ทำให้ไม่สามารถพบปะกันได้เหมือนเช่นเคย แม้บ้านของทั้ง 2 จะอยู่ห่างกันเพียงช่วงตึกก็ตาม

มิหนำซ้ำ เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย โทรศัพท์มือถือยังไม่สามารถใช้การได้ เพราะทางการได้ตัดสัญญาณมือถือในท้องที่ออกอีก ทำให้ไม่มีช่องทางใดๆ เลยที่ทั้ง 2 จะติดต่อกันได้ เด็กหญืงจึงหวนระลึกถึงบทเรียนของคุณครูที่เคยสอนให้ทำโทรศัพท์กระป๋องง่ายๆ เพื่อใช้จำลองการติดต่อสื่อสารกัน เด็กหญิงจึงคิดได้เและประดิษฐ์โทรศัพท์กระป๋องขึ้นเป็นช่องทางที่เธอและเพื่อนจะได้ติดต่อสื่อสารถึงกันดังเดิม

“พวกหนูอยากให้สังคมได้ทราบว่าจริงๆ แล้ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีแง่มุมดีๆ อยู่มาก แม้ว่าอาจจะต่างกันบ้างในแง่ศาสนา วัฒนธรรม หรือภาษา แต่พวกเราก็ยังอยู่กันได้อย่างสงบสุข มีเพียงกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ก่อเหตุขึ้น” น.ส.โนรอาซาร์ อดุลศรีศิลป์ หนึ่งในผู้สร้างสรรค์กล่าว พร้อมเสริมว่า โทรศัพท์กระป๋องจึงเป็นวิทยาศาสตร์ง่ายๆ รอบตัวเราที่สามารถนำมาเป็นสื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยในสังคมได้อย่างลงตัว

ขณะที่อีก 6 เยาวชนเจ้าของผลงานยังได้แก่ น.ส.นีฮาซนรรต หะยีนิมะ น.ส.ซาร่าห์ ปาทาน น.ส.กรรธิณีร์ ปุโรง น.ส.ซาพีเราะห์ สามอ นายคอยโร อีซอ อีก 5 เยาวชนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ น.ส.โนรฮาวา อดุลศรีศิลป์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก จ.นนทบุรี

ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 19 -22 ก.ค. พวกเขาได้เข้าค่ายอบรมเวลา 4 วัน เพื่อรับความรู้ความเข้าใจเรื่อง “วิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน” ในแง่มุมต่างๆ จากฝ่ายจัดงานก่อนเป็นสิ่งแรก เพื่อให้เยาวชนในโครงการหลายสิบชีวิตในโครงการได้ซึมซับว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และคิดหากลวิธีการถ่ายทอดที่แยบยล โดยฝ่ายจัดการประกวดเผยว่าจะมีการสอนถึงกรรมวิธีการผลิตภาพยนตร์สั้นน้อยมาก ซึ่งเยาวชนจะต้องสร้างสรรค์ของตัวเอง ทั้งการคิดเนื้อเรื่อง ถ่ายภาพ และตัดต่อเองในช่วง 7 วันก่อนการตัดสิน

ทว่า “การเดินทางของเสียง (โทรศัพท์กระป๋อง)” ยังได้รับคำชมเชยจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลด้านสื่อและด้านวิทยาศาสตร์ของการประกวดอย่างมากมายด้วยว่า สามารถดำเนินเรื่องและสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ได้ดีอย่างสารคดีเรื่องหนึ่งทีเดียว ขณะเดียวกันยังสามารถเชื่อมโยงแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืนทว่ามีความเรียบง่ายแฝงอยู่ตลอดทั้งเรื่อง

“ปกติพวกเราก็จะทำสารคดีทำนองนี้ให้กับศูนย์ข่าวเยาวชนไทยเพื่อเสนอต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และช่อง 11 นำออกอากาศอยู่แล้ว เช่น รายการใต้ร่มธงไทย ช่อง 7 และรายการมุมทอล์ควัยทีนของช่อง 11 แต่ก็รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่เราได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งก็จะนำไปเป็นขวัญกำลังใจเพื่อผลิตงานชิ้นต่อๆ ไปตามมาแน่นอน” น.ส.โนรอาซาร์ เล่าถึงประสบการณ์ย้อนหลัง

พวกเขา เล่าอีกว่า จากการอาศัยความเป็นคนในพื้นที่ที่เกิดความไม่สงบก็ทำให้เยาวชนทั้ง 7 ประสานงานและรังสรรค์ “การเดินทางของเสียง (โทรศัพท์กระป๋อง)” ได้แบบไม่มีอุปสรรคมากเมื่อเทียบกับคนนอกพื้นที่ที่อยากหยิบยกแง่มุมนี้มาสะท้อนบ้าง อีกทั้งสิ่งที่พวกเธอนำเสนอยังชมได้อย่างสบายตาและสบายอารมณ์ แถมปนแง่มุมซึ้งๆ ให้ติดลึกอยู่ในใจผู้ชมกลับไปยังบ้านได้อีกด้วย

“วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ใกล้ตัวและรอบๆ ตัวเรา ตัวอย่างเล็กๆ อย่างโทรศัพท์กระป๋องที่อาศัยหลักการเดินทางของเสียงที่สั่นสะเทือนบนเส้นด้าย ซึ่งโทรศัพท์จริงๆ ก็อาศัยหลักการเดียวกันนี้ แต่ซับซ้อนกว่าเท่านั้น” คอยโร สมาชิกหนุ่มหนึ่งเดียวสรุป

ทั้งนี้ โครงการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีเยาวชนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งมีอยู่ 2 ทีมคือ “ยุทธการกำจัดหนู” ของทีม “มิกกี&เลิฟลี” ประกอบด้วย น.ส.ชุมาภรณ์ สมพงศ์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และ น.ส.พิมพร ถาวร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี

รางวัลรองชนะเลิศอีกผลงานคือ “แรง (คานดีด คาดงัด)” ของทีมหลานย่า ประกอบด้วยนายศุภวัฒน์ ศรีสุวรรณ น.ส.พัชรมน แสนเสนาะกุล มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายเทียนเทพ ชื่นศิริพงษ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายยุทธพงษ์ แก้วประสพ และนายรวิน โรจนวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 อีก 1 รางวัลคือผลงาน “น้ำแข็ง” ของทีมซีโร ซี (Zero C) ประกอบด้วยนายอุดม เสาร์เอ้ย มหาวิทยาลัยฟาร์อิสเทริ์น นายอรรถวุฒิ ศิริปัญญา นายศตวรรษ แย้มเจริญ และนายสราวุธ ชาญเชี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แม้จะเป็นเพียงการจัดประกวดเวทีแรกในโครงการ “House of Science” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่ก็ทำให้รู้สึกน่าสนใจไม่น้อย จนหวังว่าจะได้ติดตามชมพัฒนาการของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เวทีนี้อย่างใจจดใจจ่อไม่แพ้เวทีไหนในปีต่อๆ ไปทีเดียว

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *