‘แซลมอน’ ออกลูกเป็น ‘เทราต์’ ไม่ต้องตัดต่อพันธุกรรมก็ทำได้

‘แซลมอน’ ออกลูกเป็น ‘เทราต์’ ไม่ต้องตัดต่อพันธุกรรมก็ทำได้

เอพี/เอเอฟพี/เนเจอร์ – แปลกแต่จริง! แซลมอนออกลูกเป็นปลาเทราต์ได้ ฝีมือนักวิจัยยุ่น งานนี้โคลนนิง-จีเอ็มโอไม่เกี่ยว เตรียมขยายผลสู่ทูน่า สัตว์น้ำเศรษฐกิจแดนปลาดิบ มะกันเห็นผลสวย ดึงนักวิจัยอาทิตย์อุทัยร่วมงาน หวังขยายพันธุ์แซลมอนแดงในสหรัฐฯ

วารสารไซน์ (Science) ตีพิมพ์ผลงานของทีมนักวิจัยญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ ในการทำให้ปลาแซลมอนออกลูกเป็นปลาเทราต์ได้เป็นครั้งแรก โดยอาศัยเซลล์สืบพันธุ์ปลาเทราต์ที่เก็บรักษาไว้ด้วยการแช่แข็ง เผยเทคนิคนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ปลาที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ แต่ที่แน่ๆ นักวิจัยเตรียมทดลองกับทูน่า ปลาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก และร่วมมือกับสหรัฐฯ ขยายพันธุ์แซลมอนแดงที่ใกล้สูญพันธุ์

โกโร โยชิซากิ (Goro Yoshizaki) หัวหน้าคณะวิจัยจากภาควิชาชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งโตเกียว (Tokyo University of Marine Science and Technology) ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ทางคณะนักวิจัยต้องการหาวิธีอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาเทราต์และปลาแซลมอน ซึ่งเป็นสัตว์ในสกุลแซลมอนิดี (Salmonidae) เหมือนกันและใกล้สูญพันธุ์เช่นเดียวกัน

“พวกเราจำเป็นต้องช่วยเหลือไม่ให้พวกมันต้องสูญพันธุ์ไปด้วยวิธีใดก็ตามที่เราสามารถทำได้” โยชิซากิ กล่าว

ทีมวิจัยได้ทดลองทำให้ปลาแซลมอนออกลูกเป็นปลาเทราต์โดยการเหนี่ยวนำให้ปลาแซลมอนเป็นหมัน จากนั้นฉีดเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (spermatogania) ของปลาเทราต์เข้าไปในตัวอ่อนของแซลมอนที่เป็นหมันทั้งเพศผู้และเพศเมีย เมื่อแซลมอนเติบโตเต็มวัยจะกลายเป็นแซลมอนที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ของปลาเทราต์ได้ 100% แซลมอนเพศผู้ก็จะสร้างอสุจิของปลาเทราต์ได้ ขณะเดียวกัน แซลมอนเพศเมียก็สามารถสร้างเซลล์ไข่ปลาเทราต์ได้

เมื่อผสมอสุจิกับไข่ปลาเทราต์ที่ได้จากปลาแซลมอน ลูกปลาที่เกิดมาทั้งหมดเป็นปลาเทราต์ที่สมบูรณ์แข็งแรงทุกตัว และเมื่อให้ปลาเทราต์ที่เกิดจากแซลมอนผสมพันธุ์กันเอง ก็ได้ลูกปลาเทร้าท์รุ่นที่ 2 แข็งแรงสมบูรณ์ดีเช่นกัน

สำหรับเซลล์สืบพันธุ์ของปลาเทราต์ที่นำมาใช้เป็นของเรนโบว์เทราต์ (rainbow trout) ชนิด ออนโครินคัส มายคิส (Oncorhynchus mykiss) และฉีดให้กับแซลมอนชนิด ออนโครินคัส มะโซ (Oncorhynchus masou) เป็นแซลมอนญี่ปุ่น หรือ มะสึแซลมอน (masu salmon) ซึ่งเป็นแซลมอนที่พบเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตก แถบญี่ปุ่น เกาหลี และจีน

อย่างไรก็ดี โยชิซากิ เผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้พยายามทำปลาลูกผสมระหว่างปลาเทราต์และแซลมอนมาแล้ว โดยการฉีดเซลล์สืบพันธุ์ของปลาเทราต์ให้กับตัวอ่อนเซลล์มอนเพศผู้ปกติ ที่ไม่ถูกทำให้เป็นหมัน ซึ่งเมื่อโตเต็มวัยจะสร้างอสุจิได้ทั้งที่เป็นของแซลมอนเองและอสุจิที่เป็นของปลาเทราต์ แต่เมื่อนำไปผสมกับไข่ของปลาเทราต์ กลับไม่พบว่ามีลูกปลาตัวใดรอดชีวิต

ทั้งนี้ นักวิจัยสามารถเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์ของปลาเพศผู้ไว้ได้นานด้วยเทคนิคการแช่แข็งที่เรียกว่าครายโอพรีเซอร์เวทีฟ (cryopreservative) แต่ไข่ปลาทั้งใหญ่และมีไขมันมาก ที่ผ่านมาจึงไม่สามารถเก็บรักษาด้วยวิธีเดียวกันนี้ได้ ทำให้เป็นปัญหาในเวลาต่อมาเมื่อต้องการผสมพันธุ์ปลาจากเซลล์สืบพันธุ์ที่เก็บเอาไว้ ทว่าจากความสำเร็จของทีมโยชิซากิได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้จะไม่สามารถเก็บรักษาไข่ปลาไว้ใช้ในอนาคตได้ แต่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้โดยการกระตุ้นด้วยเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ดังกล่าว

จากความสำเร็จของทีมโยชิซากิในครั้งนี้ ทำให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐไอดาโฮ (University of Idaho) สหรัฐฯ ที่กำลังศึกษาหาวิธีอนุรักษ์พันธุ์ปลาแซลมอนแถบสหรัฐฯ ชนิดออนโครินคัส เนอรกา (Oncorhynchus nerka) หรือซอคอายแซลมอน (sockeye salmon) หรือแซลมอนแดง ที่นับวันก็หายากเต็มที ได้ติดต่อให้โยชิซากิไปร่วมทำวิจัยด้วย ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเก็บเซลล์อสุจิของแซลมอนไว้แล้ว และเตรียมจะฉีดให้ปลาเทราต์ที่เป็นหมันในเดือนหน้า

ส่วนที่ญี่ปุ่น โยชิซากิกำลังทดลองทำให้ปลาแมคเคอเรล (mackerel) ออกลูกเป็นปลาทูน่า (tuna) ให้ได้ ซึ่งหากทำสำเร็จจะช่วยประหยัดต้นทุน พื้นที่ และแรงงานได้มากมาย เพราะทูน่านั้นเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่น และมีขนาดใหญ่กว่าแมคเคอเรลราวพันเท่าเลยทีเดียว

นักวิจัยฉีดเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ของปลาเทราท์ให้ตัวอ่อนแซลมอนที่เป็นหมัน เพื่อเหนี่ยวนำให้แซลมอนสร้างอสุจิและไข่ปลาเทราท์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *