‘เอ็นจีวี’สัญชาติไทย ต้นทุนต่ำรับวิกฤติน้ำมันแพง

“เอ็นจีวี”สัญชาติไทย ต้นทุนต่ำรับวิกฤติน้ำมันแพง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 มีนาคม 2548 17:02 น.

ต้นยนต์อีจีวีต้นแบบจากฝีมือคนไทย

นักวิจัยไทยพัฒนาชุดติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติหรือ “เอ็นจีวี” สำหรับแท็กซี่ พร้อมแก้ปัญหาน้ำมันแพงควบไปกับการควบคุมมลภาวะ ทั้งแผงวงจรและซอฟต์แวร์ “เมดอินไทยแลนด์” 100 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนต่ำกว่านำเข้า และสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องซื้อนอกอย่างเดียวเหมือนที่เป็นมา

ในยุคที่น้ำมันแพงเราทุกคนต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แต่กลุ่มอาชีพที่ต้องอาศัยยานพาหนะในการขับเคลื่อนเพื่อรับส่งผู้โดยสารอย่างคนขับรถแท็กซี่ดูจะเดือดร้อนมากกว่าใคร และการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติด้วยอุปกรณ์เอ็นจีวี (NGV) ดูจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ปัญหาคือในการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวต้องใช้งบประมาณราว 6 หมื่นบาท เนื่องจากทั้งอุปกรณ์และซอฟแวร์ควบคุมต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด นับว่าเป็นภาระที่หนักพอสมควรสำหรับผู้มีเงินทุนน้อย

ระบบควบคุมภายในรถ

ทางศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค (NECTEC) ซึ่งเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้พัฒนาอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติพร้อมด้วยซอฟต์แวร์จากสมองคนไทยภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “งานวิจัยเอ็นจีวี” ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาให้ใช้กับเครื่องยนต์เบนซินได้แล้วและพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนขับรถแท็กซี่

แผงวงจร “อีซียู” ที่ควบคุมการจ่ายก๊าซธรรมชาติ

ระบบเอ็นจีวีประกอบไปด้วยแผงวงจรควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ที่เรียกว่า “อีซียู” (ECU: Electronics Control Unit) ที่ถูกออกแบบให้แปลงค่าพลังงานน้ำมันที่ต้องการสำหรับเครื่องยนต์ขณะขับเคลื่อนให้อยู่ในหน่วยของปริมาณก๊าซที่ให้พลังงานเท่ากันเพื่อควบคุมการจ่ายก๊าซ และซอฟต์แวร์สำหรับใช้ใน 2 ส่วนคือ 1.ควบคุม “อีซียู” และ 2.ในตรวจสอบสภาพต่างๆ ของเครื่องยนต์

นายถนัด เหลืงนฤทัย นักวิจัยเนคเทคผู้พัฒนาระบบ “อีจีวี”

นายถนัด เหลืองนฤทัย นักวิจัยจากเนคเทค เป็น 1 ในทีมวิจัยกล่าวว่าโครงการนี้จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และจากเดิมที่ต้องนำเข้าอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ควบคุมจากต่างประเทศซึ่งมีความเหมาะสมกับเครื่องยนต์แต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน คนไทยจึงต้องซื้อเทคโนโลยีต่างชาติไปเรื่อยๆ แต่เมื่อสามารถผลิตขึ้นได้เอง นอกจากจะทำให้ต้นทุนต่ำลงแล้วยังสามารถพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งเป็นผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจและในแง่วิชาการที่ก้าวหน้า

และหลังจากทำให้รถยนต์สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติได้แล้ว นายถนัดกล่าวว่าจำเป็นต้องทดสอบสมรรถนะหลังการดัดแปลง ซึ่งต้องทดสอบใน 2 ส่วนคือ 1.ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ 2.ต้องไม่ทำให้เกิดมลภาวะ และในการทดสอบประสิทธิภาพสนใจในเรื่อง 1. ความเร็ว 2.กำลัง และ 3.แรงบิด ที่ต้องไม่ลดต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน

โดยเนคเทคมีห้องทดสอบยานยนต์ก๊าซธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายในมีแท่นทดสอบ (chassis dynamometer) ที่จำลองสภาพการขับเคลื่อนบนท้องถนนได้เหมือนจริง ทั้งแรงต้านทานจากผิวถนน แรงปะทะจากลม (อาศัยเครื่องเป่าลมที่ให้แรงลมเหมือนเวลาขับรถจริงๆ) ซึ่งลักษณะของแท่นดังกล่าวคล้ายท่อเรียงกัน 2 ท่อที่หมุนได้

นายถนัดได้สาธิตการทดสอบรถยนต์ต้นแบบของโครงการที่ความเร็ว 40 ก.ม./ชม. โดยเปรียบเทียบเมื่อรถคันเดียวกันใช้น้ำมันเบนซิน 95 กับเมื่อใช้ก๊าซธรรมชาติ ได้ผลจากการใช้น้ำมัน แรงบิดอยู่ที่ 225 นิวตัน-เมตร (N-m) และมีกำลัง 20 กิโลวัตต์ (kW) ส่วนผลจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ แรงบิดอยู่ที่ 190 นิวตัน-เมตร (N-m) และมีกำลัง 18 กิโลวัตต์ (kW) ซึ่งผลดังกล่าวไม่ได้เลวร้ายนักหากพิจารณาว่าได้ช่วยลดการใช้น้ำมันและประหยัดเงินไปได้เท่าไหร่

รถยนต์เข้าทดสอบสมรรถนะในห้องทดสอบยานยนต์ฯ มก.

สำหรับผลวิจัยนี้พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มคนขับแท็กซี่ได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า และเทคโนโลยีดังกล่าวจะนำไปถ่ายทอดความรู้บางส่วนให้แก่นักศึกษาอาชีวะ และนักศึกษาวิศวกรรมยานยนต์ในระดับมหาวิยาลัย นายถนัดกล่าวว่าผลงานวิจัยนี้ผลงานเดียว ส่งผลกระทบถึง 3 ด้าน คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ 2.ด้านวิชาการ และ 3.ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

“ด้านเศรษฐกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันชิ้นส่วนยานยนต์ ลดการใช้น้ำมันและเชื้อเพลิง ผลกระทบด้านวิชาการ เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีข้นใช้เองและถ่ายทอดความรู้ให้กับสถานศึกษา สุดท้ายผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ใช้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ลดความตึงเครียดทางด้านความต้องการพลังงาน” นายถนัดกล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถทดลองขับขี่รถยนต์ต้นแบบในการติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาตินี้ได้ใน การประชุมวิชาการประจำปี 2548 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค.

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *