ไอที : ภัยกำลังคุกคามอินเทอร์เน็ต(ตอน1)

ไอที : ภัยกำลังคุกคามอินเทอร์เน็ต(ตอน1)

เป็นข่าวครึกโครมกันขนานใหญ่ เมื่อผู้บริหารเว็บสากล มีแนวคิดจะ “เก็บเงิน” ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเราๆ ท่านๆ ทุกครั้งที่คลิกเปิดเว็บไซต์ ซึ่งหากแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็ถือเป็นการทำลายระบบอินเทอร์เน็ตที่เป็นเครือข่ายโยงใยโลกทั้งใบลงโดยพลัน จึงต้องค้นคว้าหาข้อมูลมานำเสนอผู้อ่านให้เตรียมตัวเตรียมใจกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และได้พบเนื้อหาที่น่าสนใจในบล็อกของ คุณมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับผู้บุกเบิกไอทีในประเทศไทย จึงได้ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนของบทความเรื่อง “ภัยกำลังคุกคามอินเทอร์เน็ต จากผู้กำกับเว็บสากล” ซึ่งท่านเจ้าของบล็อกแปลและเรียบเรียงมาจาก Net Threat : The Dangers From Global Web Regulation เผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านหน้าวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี ของ “คม ชัด ลึก” ในวันนี้

เนื้อหาบทความ พูดถึงภัยคุกคามครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ต เนื่องจากมีผู้พยายามเสนอให้แก้ไขสนธิสัญญาโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ถ้าข้อเสนอครั้งนี้สัมฤทธิ์ผล จะเกิดความเสียหายต่ออินเทอร์เน็ตอย่างมหาศาล โลกที่กำลังจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เป็นหนึ่งเดียวด้วยอินเทอร์เน็ต จะสลายกลายเป็นเครือข่ายกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่แยกกระจัดกระจาย การใช้บริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจะถูกผลักเข้าไปอยู่ภายใต้สนธิสัญญาของบริการโทรคมนาคม และการควบคุมของภาครัฐ ที่ล้าสมัย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1984 โลกเรามีโทรศัพท์ใช้เพียงเฉลี่ย 8 คู่สายต่อทุกๆ 100 คน หน่วยงานอิสระภายใต้สหประชาชาติ คือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้พยากรณ์ในขณะนั้นว่า ภายในต้นศตวรรษหน้า (ศตวรรษที่ 21) มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกจะต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยโทรศัพท์ และจะได้รับประโยชน์จากโทรศัพท์อย่างทั่วถึงกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 30 ปีให้หลัง ปรากฏว่า จำนวนคนที่เข้าถึงโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเพียงประมาณหนึ่งเท่าตัว คือ 17 คู่สายต่อทุกๆ 100 คนเท่านั้น ขณะที่ ความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์ กลับกลายเป็นพัฒนาการของระบบโทรศัพท์พกพาและอินเทอร์เน็ต เพราะจนถึงปี 1984 ยังไม่มีระบบโทรศัพท์ไร้สายและอินเทอร์เน็ตเลย แต่เพียงช่วงระยะสั้นๆ ณ วันนี้ ปรากฏว่า ในทุกๆ 100 คนของประชาการโลก มีโทรศัพท์พกพาจำนวน 86 เลขหมาย มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 33 คน และจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการบรอดแบนด์ ทั้งผ่านเบอร์โทรศัพท์พื้นฐานและมือถือ 24 ราย

โดยการเติบโตอย่างมโหฬารในด้านการสื่อสาร (ระบบเคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต) นั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับของไอทียู และไม่ได้อยู่ในความสนใจ ของสนธิสัญญาโทรคมนาคมสากล (ไอทีอาร์) ของปี 1988 ซึ่งเกิดจากเจตนารมณ์ของกลุ่มประเทศที่รับผิดชอบการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในยุคต้นๆ ผลที่ตามมา คือทำให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างมากมาย และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากถึงประมาณ 2.3 หมื่นล้านคน คาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มถึงกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (มากกว่า 7 พันล้านคน) ในอีก 5 ปีข้างหน้า

อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตของคนเรา และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สำคัญของเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21

แต่การเติบโต และนวัตกรรมที่กล่าวถึง กำลังถูกคุกคาม คนบางกลุ่มพยายามที่จะใช้โอกาส จากวาระทบทวนบทบัญญัติการกำกับโทรคมนาคมสากล ปี 1988 (ไอทีอาร์) ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ปีนี้ ที่ World Conference on International Telecommunications (WCIT) โดยในสัปดาห์หน้า เราจะมาติดตามกันต่อถึงภัยคุกคามนี้ ซึ่งในฐานะผู้บริโภคต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ที่มา : คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *