ไอคิว ตอน…ไอคิวบอกอะไรจ๊ะ

ไอคิว ตอน…ไอคิวบอกอะไรจ๊ะ
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ

สวัสดีจ้ะ ลูกๆ เอ้าวันนี้ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้าน และทำการบ้านเสร็จหมดทุกคนแล้วใช่ไหม เอานั่งเรียงกันเข้ามาฟังเรื่อง ไอคิว ต่อจากเมื่อวานนะจ้ะ อ้อ แต่ก่อนที่จะคุยกันต่อ ลูกๆ อาจจะสงสัยว่า เรื่องนี้มันสำคัญอย่างไร ลูกๆ คงจะเห็นว่าประเทศไทยเรายังมีปัญหาอีกมากมายซึ่งต้องการรวมพลังกันแก้ไข

จะแก้ไขได้ มิใช่ว่าจะให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือฝ่ายราชการเท่านั้น แต่คนไทยส่วนใหญ่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน อดทน ทำงานหนัก ฉะนั้นประเทศเราจะต้องมีคนที่มีคุณภาพพอสมควร ข้อมูลเรื่องระดับสติปัญญาของคนไทยจึงมีความสำคัญที่จะช่วยสะท้อนให้เรารู้ว่า เราพอจะมีทางแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้ไหม ลูกๆ คงพอเข้าใจแล้วนะจ้ะ เอาล่ะ ป้าจะเล่าต่อนะจ้ะ

ค่าไอคิว บอกอะไรได้บ้าง

คนทั่วไปอาจคิดว่าไอคิวคือค่าความฉลาดของบุคคลที่กำหนดระดับสติปัญญาและกำหนดอนาคตหรือความสำเร็จของบุคคลนั้นชนิดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

คนที่มีไอคิวสูงหมายถึงฉลาดเฉลียวจริงหรือไม่ อาจจะตอบลำบากพอสมควร เพราะความสามารถในการเรียนก็อาจไม่ไปกับระดับไอคิว

มีเด็กหลายคนที่มีไอคิวสูงแต่เรียนหนังสือไม่ดี หรือเด็กไอคิวค่อนข้างต่ำเรียนหนังสือพอใช้ได้ หรือเราอาจประทับใจเด็กหลายคนที่มีความถนัดบางด้าน เราคงเคยเห็นเด็กที่มีฝีมือในการวาดรูปตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือชอบแกะของเล่นแล้วประกอบเข้าไปใหม่ในแวดวงวิชาการ คนจำนวนมากเห็นด้วยว่าไอคิวสามารถคาดถึงความสำเร็จในอนาคตได้พอสมควร แต่ต้องไม่ลืมว่าไอคิวไม่ใช่ตัวแทนของระดับสติปัญญาทั้งหมด

แบบทดสอบไอคิวที่ใช้กันทั่วไป มักเป็นการทดสอบทักษะการแก้ปัญหาตามวัย คือจะมีการกำหนด
อายุไว้ โดยใช้มาตรฐานค่าเฉลี่ยที่คนแต่ละวัยทำได้เป็นส่วนใหญ่ ในการทดสอบก็จะประเมินว่าผู้ทดสอบมีระดับความสามารถของอายุสมองเป็นเท่าไรเมื่อเทียบกับอายุจริง โดยถามความรู้ทั่วไป ทดสอบการจำตัวเลข หรือการแก้ปัญหาจากการดูรูปภาพ ต่อบล็อก จะเห็นว่ายังมีทักษะอีกมากมายที่ไม่ได้ประเมิน เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการอ่าน ทักษะด้านดนตรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามในเชิงทฤษฎียอมรับกันว่า คนที่ทำแบบทดสอบไอคิวได้ดี น่าจะมีทักษะในการแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ค่อนข้างดีตามไปด้วย แต่ไม่สามารถบอกถึงความถนัดของคนคนนั้นได้ทุกด้าน

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจระดับประเทศซึ่งจะต้องทดสอบประชากรจำนวนมากๆ ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอายุต่างๆ นักวิจัยจะคัดเลือกแบบทดสอบบางชนิดที่สะท้อนระดับสติปัญญาที่มีความสำคัญต่อ
การพัฒนา อาทิเช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพ

การสำรวจระดับไอคิวของเด็กไทย
ที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้ง ก็ใช้แบบทดสอบที่เรียกว่า “โทนี่ 3” ซึ่งเป็นแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการใช้ภาษาทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดอคติอันเนื่องจากความแตกต่างในการเรียนหรือการอ่านหนังสือ โดยเป็นการให้ดูรูปภาพรูปทรงเรขาคณิต ให้ผู้ตอบวิเคราะห์และหาคำตอบ

เมื่อได้คะแนนมาแล้วก็นำมาเทียบเคียงกับระดับไอคิวที่ได้จากการทดสอบด้วยแบบทดสอบละเอียด
เอาละจ้ะ ลูกๆ วันนี้ป้าพูดยาวไปหน่อยมันอาจจะฟังยากไปนิดสำหรับพวกหนูนะจ้ะ ก็ไม่เป็นไรเพราะพวกหนูคงได้แนวคิดเบื้องต้นแล้วว่า ไอคิวที่เขาพูดถึง กันน่ะหมายถึงอะไร และมันบอกอะไรกับเราบ้าง
พรุ่งนี้หลังจากช่วยงานคุณพ่อคุณแม่ และทำการบ้านเสร็จแล้ว ลูกๆ แวะมาหาป้าอีกนะจ้ะ ป้าจะคุยให้ฟังเรื่อง วิธีการที่จะพัฒนาสติปัญญาของคนไทยว่ามีแนวทางอย่างไร อ๊ะ พวกหนูอย่าเพิ่งคิด ไม่เห็นเกี่ยวกับหนูเลย….ป้าต้องขอบอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับทุกคนจ้ะ เพราะถ้าเรารักชาติอยากให้ประเทศพัฒนาไปในทางที่ก้าวหน้า และมีทิศทางถูกต้อง เรื่องนี้มีความสำคัญทีเดียวเพราะคุณภาพของคนไทยก็ถือเป็นต้นทุนทางสังคม

ถ้าคนส่วนใหญ่ของเรามีระดับสติปัญญาดี ก็เท่ากับเรามีหลักประกันเบื้องต้นว่าสิ่งที่รัฐบาลคิด หรืออยากทำ จะดำเนินไปได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือและความสามารถของคนไทยเราจะไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของต่างชาติ อย่างเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไงจ้ะ

เอาล่ะค่ำแล้ว ลูกๆ กลับบ้านได้ แล้วอย่าดูโทรทัศน์นะจ้ะ
กลับบ้านอาบน้ำแล้วนอนแต่หัวค่ำ จะได้ตื่นเช้าไปโรงเรียน สวัสดี ไหว้พระจ้ะลูก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *