ไอคิวเด็กไทย 6-12 ปี เฉลี่ย 88 จุด
ไอคิวเด็กไทย 6-12 ปี เฉลี่ย 88 จุด
น.พ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ค่ามาตรฐานไอคิวปกติอยู่ที่ 90-110 จุด หรือเฉลี่ย 100 จุด ไอคิวระดับ 80-90 จุด
จัดอยู่ในระดับปัญญาทึบ ส่วนไอคิวระดับ 70-80 จุด เรียกว่าคาบเส้นปัญญาอ่อน ต่ำกว่าระดับ 70 ลงมาเรียกว่าปัญญาอ่อน ซึ่งพื้นฐานเชาวน์ปัญญาและอารมณ์ของแต่ละคนเป็นผลจากพันธุกรรมประมาณ 50%
ที่เหลือ 50% เกิดจากปัจจัยแวดล้อมที่สามารถสร้างขึ้นได้ เช่น สุขภาพมารดาขณะตั้งครรภ์ การได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ลักษณะการเลี้ยงดู ที่ไม่ควรเข้มงวดจนเกินไป ส่งเสริมการเรียนรู้โดยอิสระ เล่นและพูดคุยกับลูก ที่สำคัญต้องให้เด็กพัฒนาตามวัย เช่น การคลาน การวิ่ง โดยพ่อแม่ไม่ควรห้ามเพราะกลัวลูกเจ็บ กลัวสกปรก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลถึงพื้นฐานทางเชาวน์ปัญญาและอารมณ์ของเด็ก
ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ครั้งที่ 3 ประจำปี 2549 เรื่อง “พัฒนาอย่างไรให้เด็กไทยฉลาด” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 มีการเปิดเผยข้อมูลระบุว่าเด็กไทยอายุ 6-12 ปี มีไอคิวเฉลี่ย 88 จุด อายุ 13-18 ปี ไอคิวเฉลี่ย 87 จุด ส่วนในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ สายตา การสัมผัสในระดับปกติเพียง 80% ที่เหลือ 20% หรือประมาณ 8 แสนคน พัฒนาการล่าช้ากว่าวัย ในขณะที่ไอคิวเฉลี่ยของเด็กในทวีปยุโรปและอเมริกาอยู่ที่ 98 จุด ส่วนเด็กญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีไอคิวเฉลี่ย 104 จุด
ล่าสุดกรมสุขภาพจิตสำรวจเชาวน์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ (IQ. EQ.) ของเด็กไทย โดยใช้แบบประเมินความสามารถทางเชาวน์ปัญญา เด็กอายุ 2-15 ปี จัดทำโดย ดร.ปราณี ชาญณรงค์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอิงจากแบบประเมินระดับสติปัญญาและความลาดทางอารมณ์ในต่างประเทศ ในกลุ่มตัวอย่าง 8,437 คน ใน 15 จังหวัด
ประกอบด้วยกรุงเทพฯ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ หนองคาย สุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ชลบุรี ตรัง สงขลา พังงา แบ่งเป็นเด็กในระดับชั้นอนุบาล 2 และ 3 (อายุ 1-3 ปี) จำนวน 3,469 คน จาก 30 โรงเรียน และเด็กในระดับชั้นประถม 1 ถึง 6 (อายุ 6-11 ปี) จำนวน 4,913 คน จาก 45 โรงเรียน คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าว่าภายในปี 2551 จะต้องยกระดับไอคิวของเด็กไทยให้ไม่ต่ำกว่า 100 จุด