ไอคิวความฉลาด…เพิ่มได้

ไอคิวความฉลาด…เพิ่มได้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่ผลสำรวจล่าสุดก็ออกมาว่า เด็กไทยเรามีไอคิวต่ำกว่าระดับมาตรฐานโลกถึง 10 จุด!
ตัวเลขนี้มาจากผลวิจัยสุขภาพจิตของคนไทยปี 2546 ที่เปิดเผยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำเอาผู้เป็นพ่อแม่และครูอาจารย์สะดุ้งไปตามๆ กันเลยทีเดียว ตัวเลขที่ควรจะเป็นของค่ามาตรฐานไอคิวปกติควรอยู่ที่ 90-100 จุด แต่ระดับสติปัญญาเด็กไทยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 88 จุดเท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะมีผลให้ความสามารถในการเรียนรู้ การคิดสร้างสรรค์ของเด็กต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ตัวเลขไอคิวเด็กสูงๆ
สาเหตุสำคัญเชื่อว่าปัจจุบันพ่อแม่เลี้ยงลูกเฉพาะด้านร่างกาย แต่ลืมฝึกฝนด้านสติปัญญา โดยยกภาระให้แก่ครูและโรงเรียน ทั้งที่แท้จริงแล้วการพัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กต้องเริ่มต้นจากที่บ้าน พ่อแม่และครอบครัวคือกุญแจสำคัญในการพัฒนาเด็กทางสติปัญญา เพราะเด็กแต่ละคนมีการคิด การเรียนรู้ และมุมมองความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน พ่อแม่ที่เปรียบเสมือนครูคนแรกที่ต้องสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้แก่เด็ก การศึกษาจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงการให้ความรู้แก่เด็ก แต่ต้องให้ความรู้แก่พ่อแม่ เพื่อให้สามารถสร้างการเรียนรู้ให้แก่ลูกได้อย่างถูกต้อง พ่อแม่ไม่ควรคาดหวัง เพียงหวังแค่ให้เด็กเก่ง แข็งแรง หรืออัจฉริยะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น พ่อแม่ต้องเรียนรู้ว่าจะสร้างเสริมลูกน้อยให้เก่งครบรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการเรียนรู้อื่นๆ ได้อย่างไร
นพ.อุดม เพชรสังหาร ผู้อำนวยการศูนย์อัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก เปิดเผยว่า เด็กยุคใหม่จะฉลาดด้านสติปัญญาเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีพหุปัญญา หรือ Multiple Intelligence ซึ่งพ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการคิดเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการครบรอบด้านได้ โดยเฉพาะในช่วงวัย 0-6 ปี เป็นช่วงจังหวะเวลาทองของการเรียนรู้จากประสบการณ์รอบๆ ตัว เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาของลูกน้อย
– การพัฒนาความสามารถทางภาษา เด็กที่มีความสามารถด้านภาษามักจะเป็นเด็กที่ชอบคิดเป็นถ้อยคำ เรียบเรียงภาษาและเล่าเรื่องได้ดี พ่อแม่สามารถส่งเสริมได้โดยเล่านิทาน หรืออ่านหนังสือให้ฟัง เพื่อช่วยให้เด็กได้ความรู้ใหม่ๆ หรือชวนเด็กเขียนบันทึก และส่งเสริมด้านอาชีพที่เหมาะ เช่น นักเขียน นักกฎหมาย นักการเมือง
– ความสามารถทางศิลปะและมิติสัมพันธ์ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะพัฒนาสู่ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ วิธีสังเกตว่าเด็กมีความสามารถด้านนี้ คือ จะเป็นเด็กที่คิดเป็นภาพ เข้าใจดีหากมีการอธิบายเป็นภาพ แผนภูมิ หรือแผนที่ ซึ่งพ่อแม่สามารถส่งเสริมความสามารถด้านนี้ได้โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางศิลปะ ซื้อหนังสือภาพสวยๆ ให้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกแบบสิ่งของ หรือเล่นตัวต่อจิ๊กซอว์ ส่งเสริมอาชีพที่เหมาะ เช่น จิตรกร สถาปนิก นักออกแบบ ศัลยแพทย์
– ความสามารถด้านดนตรีและจังหวะ จะช่วยส่งเสริมความสามารถทางด้านการเรียนรู้ หรือทางคณิตศาสตร์และตรรกะ เด็กมีความสามารถด้านนี้ คือ เด็กจะชอบร้องเพลง ฟังเพลง ไวต่อเสียงของธรรมชาติรอบตัว ส่งเสริมโดยให้ฟังดนตรีที่หลากหลาย เรียนดนตรี ฝึกให้แต่งเพลง หรืออ่านประวัตินักดนตรีให้ฟัง
– ความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เด็กจะชอบเคลื่อนไหว ทรงตัวดี ไม่อยู่นิ่งกับที่ คล่องแคล่ว ควบคุมตัวเองได้ดี มีการศึกษาในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า เด็กที่มีความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดี เล่นกีฬา ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง จะทำให้เด็กสดชื่น และเรียนได้ดี ซึ่งพ่อแม่สามารถส่งเสริมความสามารถด้านนี้ได้ โดยสนับสนุนให้เป็นสมาชิกที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกีฬา และหาหนังสือกีฬาให้อ่าน
– ความสามารถทางคณิตศาสตร์และตรรกะ เป็นความสามารถทางด้านสติปัญญา (IQ) เด็กที่มีความสามารถด้านนี้จะเป็นเด็กที่ชอบตั้งคำถาม ชอบทดลองหาคำตอบ มีการเชื่อมโยงข้อมูล ดังนั้น ควรสนับสนุนให้ทำตามความคิด พ่อแม่อย่าเบื่อที่จะตอบคำถาม ถ้าเด็กทำผิดพลาดช่วยให้เด็กทราบว่าผิดพลาดตรงจุดไหน และกระตุ้นให้ทดลองใหม่
– ความสามารถในด้านสัมพันธภาพ ชอบเกี่ยวข้องกับคนอื่น ชอบช่วยเหลือคนอื่น เข้าใจความรู้สึกคนอื่น พ่อแม่ควรสนับสนุนการเข้ากลุ่ม ส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม คือ นักวิจัย นักปรัชญา นักธุรกิจ นักวาดรูป นักกีฬา นักเขียน
– ความสามารถในการเข้าใจตนเอง เด็กจะเข้าใจความรู้สึกตนเอง มีเป้าหมายชีวิต และมักจะมีคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนความสามารถด้านนี้ได้โดยบันทึกเป้าหมาย ช่วยให้เข้าใจขั้นตอนของการบรรลุเป้าหมาย
– ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติ ชอบสงสัยเกี่ยวกับธรรมชาติ ชอบเล่นกับสัตว์หรือพืช ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น การหาหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ให้อ่าน ส่วนการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม เช่น นักชีววิทยา สัตวแพทย์ นักพฤกษศาสตร์
**ไอคิว ความฉลาดที่เพิ่มพูนได้
ไอคิว (IQ) มาจากคำเต็มว่า Intelligent Quotient คือระดับสติปัญญา ซึ่งได้มาจากการวัดโดยแบบทดสอบทางสติปัญญา แล้วแปลผลออกมาเป็นตัวเลข ระดับของไอคิวปกติอยู่ในช่วง 90-110 ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้เฉพาะระดับสติปัญญาในบางด้านของเด็กที่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ไม่ได้เป็นตัวหลักในการบ่งบอกว่าผิดปกติหรือไม่ ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
ทางด้าน นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า ผลที่ได้จากการวัดไอคิว ต้องรู้ในรายละเอียดด้วยว่าใช้แบบทดสอบใดเป็นแบบทดสอบมาตรฐานหรือไม่ ใครเป็นผู้ทดสอบ ช่วงเวลาที่ทำการทดสอบเด็กมีความพร้อมแค่ไหน เด็กให้ความร่วมมือดีหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อความเชื่อถือในผลลัพธ์ที่ได้ทั้งสิ้น เราคงไม่จำตัวเลขเพียงอย่างเดียวแล้วมาตีตราว่าเด็กฉลาดหรือโง่ การทดสอบไอคิวไม่ได้ทำให้รู้ว่าใครเก่งกว่าใคร แต่ทำเพื่อช่วยค้นหาปัญหาแล้วหาแนวทางช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาให้เด็กแต่ละคนมีความฉลาดด้านต่างๆ แตกต่างกันไป บางด้านมาก บางด้านน้อย ผสมผสานกันเป็นสัดส่วนที่ลงตัวสำหรับบุคคลนั้นๆ ความฉลาดเหล่านี้ส่วนหนึ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิด ถือว่าเป็นต้นทุนของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน แต่อีกส่วนหนึ่งได้จากประสบการณ์การเรียนรู้เพิ่มเติม โอกาสในการฝึกฝน การให้ความสำคัญ และสภาพสังคม วัฒนธรรม ที่เอื้ออำนวยให้มีการนำออกมาใช้
สำหรับความฉลาดในด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น และด้านความเข้าใจตนเอง ได้ถูกหยิบยกมาทำความรู้จักในมุมมองใหม่ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า อีคิว (Emotional Quotient) ได้มีความพยายามที่จะวัดออกมาเป็นตัวเลขเหมือนไอคิว ถึงยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในด้านการวัด แต่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งที่ควรมีการส่งเสริมเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มีคู่ขนานไปกับไอคิว แต่ไม่สัมพันธ์กัน คนไอคิวดีไม่จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ดี คนมีความคิดสร้างสรรค์ดี ก็ไม่จำเป็นต้องมีไอคิวดีเช่นกัน ถ้าพ่อแม่สามารถหาสัดส่วนที่ลงตัวของความฉลาดด้านต่างๆ ของลูกรักได้ และให้การส่งเสริม พัฒนาในแนวทางที่เหมาะสม ถูกทิศทางก็จะช่วยให้เขาเป็นผู้ที่ฉลาด มีภูมิปัญญาตามทิศทางเหมาะสมกับตัวเขา สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเขาเองได้ในที่สุด แต่ถ้าเขาฉลาดผิดทิศทาง ไม่เหมาะสมกับตัวเขา ถึงจุดหนึ่งอาจหยุดชะงัก พัฒนาด้วยตัวเองไม่ได้ และถอยหลังในที่สุด
**คำแนะนำจากคุณหมอ
-ส่งเสริมสุขภาพกาย ร่างกายที่แข็งแรงคือรากฐานที่สำคัญ ทำให้สมองมีพลังทำงานเต็มศักยภาพ การส่งเสริมสุขภาพกายให้แข็งแรง โดยหลักใหญ่มีอยู่ 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย เอกเขนก สารอาหารครบถ้วน ปริมาณพอเหมาะ ถูกสุขลักษณะ ช่วยพัฒนาสมอง แต่ไม่ต้องคำนวณให้ละเอียดยิบ ควรทำให้การกินเป็นเรื่องสนุก กินแล้วอร่อย ไม่ใช่เคร่งเครียดกับการกิน ให้เด็กรู้จักหิวบ้าง อย่าป้อนตลอด แต่ก็อย่าให้หิวตลอดจนสมองย่ำแย่ เพราะขาดสารอาหาร ออกกำลังกายพอเหมาะ ออกแดดรับลมบ้าง อย่าปล่อยให้เด็กอยู่แต่ในห้องแคบๆ เพราะจะทำให้เด็กมีความคิดคับแคบไปด้วย การออกกำลังกายต้องเป็นไปโดยอิสระตามความสนใจ การออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือ การเล่น โดยเล่นอย่างอิสระ และสร้างสรรค์ตามจินตนาการความคิดของเขา ซึ่งจะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วย และช่วยระบายความก้าวร้าวรุนแรงไปในตัว ได้เรียนรู้กฎกติกาของสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย เอกเขนก ควรพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เด็กแต่ละวัยมีความต้องการในการนอนไม่เท่ากัน การได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอก็ช่วยให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่สมวัยได้ ช่วงที่นอนหลับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตก็ทำงานได้เต็มที่ ในขณะเดียวกันสมองก็เริ่มจัดระบบความคิด งานอดิเรกก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง มีเวลาว่างหางานอดิเรกทำบ้าง เป็นกิจกรรมที่เด็กสนใจเป็นพิเศษ จะเป็นการสะสม ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ หรืออะไรก็ได้ ซึ่งอาจจะดูไร้สาระบ้างก็ไม่เป็นไร แต่อย่าไปบังคับให้เด็กทำงานอดิเรกที่เราชอบและเห็นว่ามีประโยชน์ ควรให้เด็กมีส่วนเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง
– ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย พ่อแม่ควรใส่ใจกับพัฒนาการในแต่ละวัยของเด็ก เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ ถ้าพัฒนาการด้านไหนช้าก็ต้องรีบกระตุ้นทันที ถ้าไม่ช้าก็ส่งเสริมให้เร็วขึ้นได้เช่นกัน แต่ถ้าทำมากเกินไปก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน การเร่งเร้าเร็วจนเกินความสามารถในวัยนั้น อาจทำให้เด็กหมดความมั่นใจ แล้วไม่กล้าเรียนรู้ต่อก็ได้ โดยการพัฒนาของเด็กมี 4 ด้าน คือ กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ด้านภาษา และด้านสังคม การส่งเสริมควรพิจารณาทุกด้าน เด็กจะมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อจากศีรษะจรดปลายเท้า เป็นขั้นๆ เช่น เริ่มชันคอได้ เอามือยัน นั่ง คลาน ลุกยืน และเดิน ถ้าเด็กขวบครึ่งแล้วยังไม่พูดเป็นคำก็ต้องรีบหาสาเหตุ รีบแก้ไข
– สอนให้คิดเป็น ทำเป็น (ไม่ใช่แค่จำได้ ลอกเลียนแบบเป็น) การสอนให้เด็กคิดแบบมีเหตุมีผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จะทำให้เด็กคิดเป็นระบบ แต่การให้คิดนอกกรอบไม่ไปจำกัดความคิด ไม่ใช้เหตุผลบ้างจะได้มีความคิดสร้างสรรค์ดี ในขณะเดียวกันถ้าคิดแล้วเกิดผลเสียต่อตนเองและผู้อื่นก็คงไม่ดี จึงควรคิดในเชิงบวกด้วย การสอนคิดต้องสอนให้เด็กคิดได้ทุกรูปแบบ คือ
คิดเป็นระบบ (Systematic Thinking) จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการถามให้คิดเป็นระยะ เช่น “แล้วลูกคิดว่าอย่างไร” “แล้วถ้าเป็นแบบนี้จะได้ไหม” พยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “ผิด” กับ “ไม่ใช่” แต่ให้บอกว่า “ลองดูใหม่อีกที” สร้างความมั่นใจให้เด็กกล้าคิดก่อน พอมั่นใจแล้วช่วงหลังจะมีคำว่า ผิดบ้างก็คงไม่เป็นไร เพราะถ้าเด็กไม่เคยผิดเลย ก็คงปรับตัวในสังคมได้ลำบากเช่นกัน การคิดที่เป็นระบบจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการทดลองลงมือทำด้วย ต้องเปิดโอกาสให้เด็กเผชิญความยากลำบากบ้าง หรือเรียนรู้การคิดแก้ปัญหา ถ้าเด็กไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเล็กๆ มาก่อน โตขึ้นจะให้แก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ลำบาก เพราะไม่เคยมีระบบวิธีคิดในการแก้ปัญหา แต่ถ้าเด็กพยายามแล้วแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องเข้าไปชี้แนะด้วย อย่าปล่อยให้เขาแก้ไขปัญหาจนท้อแท้ หมดกำลังใจ ไม่มีความมั่นใจ
คิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ เป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว เพียงรักษาไว้ ให้โอกาสเด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่หายไป การเล่นคือการแสดงออกของความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ให้โอกาสเด็กเล่นอย่างอิสระ อย่ามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ให้เขาทำในสิ่งที่เขาต้องการทำบ้าง
คิดเชิงบวก (Positive Thinking) เด็กจะคิดเชิงบวกได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัย ถ้าพ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน เด็กอยู่ในความเครียดตลอดเวลา จะทำให้เด็กคิดในแง่ดีคงเป็นไปได้ยาก เพราะมีแต่ความหวั่นไหว หวาดกลัวตลอดเวลา ฝึกให้เด็กรู้ว่าทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและด้านลบ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดว่าจะมองด้านไหน คิดด้านไหน – สร้างนิสัยรักการอ่าน เด็กจะฉลาดได้บางครั้งก็ไม่สามารถคิดทุกอย่างเองได้หมด ต้องมีการหาข้อมูลเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเช่นกัน การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของการได้มาซึ่งข้อมูล แต่เด็กที่ถูกบังคับให้อ่านหนังสือตลอด ถูกเร่งรัดในด้านการเรียน พอจบออกจากมหาวิทยาลัยก็เป็นศัตรูกับหนังสือไปเลย ไม่ยอมแตะต้องหนังสืออีก สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของเด็กไทย ทำให้การขับเคลื่อนทางปัญญาหยุดชะงัก ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะเขาไม่ได้ถูกบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เล็ก เขาอ่านเพราะว่าเขาต้องอ่าน ไม่ใช่อ่านเพราะว่าเขาอยากอ่าน
– เล่นให้สนุก เล่นให้เป็น เล่นให้สมตามวัย การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน และเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาสติปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้ทุกด้านของเด็ก นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์มากมาย ตั้งแต่เป็นการออกกำลังกาย ฝึกฝนเชาวน์ปัญญาผ่านการเล่นสมมติ จัดระบบความคิดในสมองให้เป็นขั้นตอน ลำดับเรื่องราว ต้องปล่อยให้เด็กเล่นบ้าง ซนบ้าง การเล่นต่างๆ จะต้องเป็นการเล่นให้เหมาะสมตามวัยและระดับพัฒนาการ พ่อแม่จะช่วยในเรื่องการเลือกของเล่นและเล่นกับลูกได้ โดยในขวบปีแรกควรเลือกของเล่นที่เคลื่อนไหว มีสีสด มีเสียง เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการได้ยินและการมองเห็น เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นปูไต่ เป็นต้น พอโตขึ้นควรกระตุ้นพัฒนากล้ามเนื้อ ก็ต้องเลือกของเล่นที่ช่วยกระตุ้นการใช้มือ ใช้เท้า การประสานงานของกล้ามเนื้อ เช่น รถสามล้อถีบ ลูกบอล ดินน้ำมัน ความฉลาด เป็นส่วนหนึ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิด ถือว่าเป็นต้นทุนของแต่ละคนที่มีมาไม่เท่ากัน แต่อีกส่วนหนึ่งได้จากประสบการณ์การเรียนรู้เพิ่มเติม โอกาสในการฝึกฝน การให้ความสำคัญ และสภาพสังคม วัฒนธรรม ที่เอื้ออำนวยให้มีการนำออกมาใช้ ซึ่งพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดปัจจัยเหล่านี้
________________________________________
เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *