ไอคิวของลูกสัมพันธ์กับฐานะและสถานะของพ่อแม่

ไอคิวของลูกสัมพันธ์กับฐานะและสถานะของพ่อแม่

โดยทั่วไป ครอบครัวที่มีฐานะดี พ่อแม่มีการศึกษาดี จะเอื้ออำนวยให้เด็กได้รับการกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านความฉลาดทางสติปัญญามากกว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน

เคยมีการศึกษาระดับสติปัญญาของเด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ขาดแคลนโอกาสในการเรียนรู้ เช่น สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และชุมชนแออัด แล้วถูกย้ายไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ดีกว่า พบว่าหลังจากที่เด็กมีสิ่งกระตุ้นและได้รับโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น ระดับความฉลาดทางสติปัญญาของเด็กสูงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้รูปธรรมที่ปรากฏอยู่จริงก็คือ เด็กในชนบทซึ่งขาดแคลนของเล่นและหนังสือที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาจะมีระดับไอคิวที่ต่ำกว่าเด็กเมืองอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ การสำรวจระดับสติปัญญาของเด็กไทยในวัยเรียนและวัยรุ่น ในโครงการวิจัยพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทย พ.ศ.2544 ยังระบุว่า ระดับการศึกษาของแม่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาของลูก โดยแม่ที่มีการศึกษาสูงย่อมถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีและสามารถจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี

การอบรมเลี้ยงดูมีผลต่ออีคิวอย่างนึกไม่ถึง
ผลการสำรวจพัฒนาการด้านความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทย ในโครงการวิจัยพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทย พ.ศ.2544 พบประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงดูกับพัฒนาการความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กที่น่าสนใจ ดังนี้
– เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูในเกณฑ์ต่ำจะมีพัฒนาการทางอารมณ์ต่ำกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในระดับปานกลางถึง 1.7 เท่า
– เด็กที่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงมีพัฒนาการทางอารมณ์ต่ำกว่าเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดู 1.3 เท่า
– เด็กที่เติบโตในสภาพครอบครัวที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ คือ ความสงบสุขถูกรบกวน มีเหตุการณ์คุกคามความมั่นคง หรือประสบปัญหายุ่งยากที่แก้ไขไม่ได้ จะมีพัฒนาการทางอารมณ์ต่ำกว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีภาวะ วิกฤติปานกลาง 1.3 เท่า
– เด็กเติบโตในครอบครัวที่สัมพันธภาพไม่ดี จะมีพัฒนาการทางอารมณ์ต่ำกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีสัมพันธภาพสมดุล รักใคร่ปรองดอง และเอื้ออาทรต่อกัน 1.4 เท่า

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *