ได้เวลา RFID หรือยัง

ได้เวลา RFID หรือยัง
Source: นิลุบล พรพิทักษ์พันธุ์

ช่วง 5-6 ปีมานี้เราได้ยินวงการอุตสาหกรรมพูดกันมากถึง RFID เทคโนโลยีอัจฉริยะตัวใหม่ที่ว่ากันว่าจะปฏิวัติการผลิต การจัดจำหน่ายและกระบวนการซัพพลายเชนทั่วโลก จากการศึกษาการสำรวจในช่วงเวลาดังกล่าว ล้วนแล้วแต่ชี้ในแนวทางเดียวกันว่าการปรับใช้ RFID คงจะรุกกันขนานใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม แต่จากการสำรวจความเห็นจากผู้ให้บริการเทคโนโลยี RFID เมื่อต้นปีนี้ สมาคม Computing Technology Industry ในอเมริกาพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ผลิต ร้านค้าปลีกและบริษัทการค้าต่างๆ ทั่วโลกยังไม่เริ่มใช้ RFID การขยับตัวรับเทคโนโลยียังเชื่องช้าอยู่
เกิดอะไรขึ้นอย่างนั้นหรือ ทำไมการใช้ RFID จึงค้านการสำรวจและการคาดการของผู้เชี่ยวชาญในวงการ

RFID ยังถือเป็น niche เทคโนโลยี และสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้การใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะตัวนี้ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรอยู่ที่ราคา นั่นคือ อุปกรณ์ยังมีราคาแพง และผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ยังไม่เด่นชัด โดยเฉพาะในวงการซัพพลายเชน เมื่อซัพพลายเออร์ของวอลมาร์ทที่ถูกบังคับให้ใช้ RFID กับสินค้าที่ส่งให้ทางห้าง ออกมาบอกว่าการลดต้นทุนการผลิตและดำเนินการจากการใช้ RFID ที่คาดหวังไว้ไม่ไม่มีตัวเลขที่เด่นชัดออกมา ผลตอบแทนการลงทุนไม่ได้น่าพอใจนัก และปัญหาสุดท้ายคือ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีจริงๆ ยังมีน้อยราย
แม้จะมีอุปสรรคอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็มีผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีตัวนี้กันมากขึ้น เพียงแต่ไม่ใช่ระดับความเร็วอย่างที่ใครต่อใครคาดหวังไว้ บางบริษัทก็เลือกทดลองใช้งานเป็นบางส่วน เพื่อดูว่าจะมีปัญหาติดขัดตรงไหนหรือเปล่าก่อน ผู้ใช้งานในบางกรณีก็แสดงความพอใจในการใช้งาน อาทิเช่น Best Buy ที่ทำโครงการทดสอบการใช้ RFID เพราะต้องการลดจำนวนดีวีดีหนังและวิดีโอเกมที่หมดสต๊อค และรายงานผลว่าในแผนกที่ติด RFID tag มียอดขายดีวีดีสูงขึ้น 18%

ประโยชน์นอกเหนือจากการติดตาม
ประโยชน์ของ RFID ไม่ได้อยู่ที่การสามารถตรวจสอบปริมาณคลังสินค้าหรือแสดงการเคลื่อนไหวของสินค้าแบบ real time ได้เท่านั้น แต่ยังเอื้อประโยชน์ในการปฏิบัติงานด้านอื่นๆได้หลายประการ เช่น ป้องกันการโกง ลดขั้นตอนการทำงานทำให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ช่วยปกป้องแบรนด์ ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและในการขาย กิจการที่ใข้ประโยชน์จาก RFID ได้อย่างมีประสิทธิผลคือ
ช่วยในด้านการบำรุงรักษาระบบอัตโนมัติให้กับอุตสาหกรรมที่ลงทุนด้านด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์สูง เช่นบริษัทด้านพลังงาน
ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ติดตั้ง RFID สำหรับติดตามและตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลและที่บ้านคนไข้
อุตสาหกรรมรถยนต์ ใช้ RFID ในไลน์การผลิตทำให้ตรวจสอบคุณภาพได้ทุกขั้นตอน
ธุรกิจการบินใช้ RFID ในการบริหารงานสินทรัพย์และตรวจสอบอะไหล่เป็นของแท้หรือเปล่า
เมื่อราคาฮารด์แวร์ของเทคโนโลยีตัวนี้ถูกลงกว่านี้ อีกทั้งซอฟแวร์ได้รับการพัฒนาให้เป็น plug and play มากขึ้น ลดความยุ่งยากในการติดตั้งระบบ เมื่อนั้นก็จะก่อให้เกิดการใช้ RFID อย่างกว้างขวางขึ้น
ปัจจุบันการตลาดของ RFID กำลังเปลี่ยนโฉม ได้มีความพยายามในการกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี RFID ผู้ผลิตและผู้ให้บริการ RFID ได้มีการผนึกกำลังเพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถเสนอ solution แบบต่างๆ เป็นระบบและเป็น package มากขึ้น มีการปรับปรุงการวางแผน RFID และเพิ่มทักษะการใช้งาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่กำลังชั่งใช้จะใช้เทคโนโลยีตัวนี้อยู่
มาตรฐานของ RFID ในปัจจุบันอยู่ในขั้นที่ 2 แล้ว ผู้ผลิตได้พัฒนาฮาร์ดแวร์ที่ใช้เชื่อมต่อได้มากขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานปรับเปลี่ยนการใช้งานแบบ mix-and-match ได้ด้วย
แม้ราคา tag ก็ลดลงมามากแล้ว แต่ยังไม่ทันใจอย่างที่หวัง ปัจจุบันอยู่ที่ 8-10 เซ็นต์ต่ออัน ถูกลงกว่าครึ่งจาก 5 ปีก่อนแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังอยากให้ราคาลงมาอยู่ที่ 1-5 เซ็นต์ เพราะเป็นอัตราที่พอรับได้ หากต้องการให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง

RFID ยังเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและมีการปรับปรุงตลอดเวลา จำต้องใช้ผู้มีความชำนาญเพื่อให้การติดตั้งประสบความสำเร็จ ความชำนาญด้าน RFID ที่ต้องมีนั้นมีหลายด้านและแตกต่างกันไป เพราะการใช้งานของ tag หนึ่งเริ่มตั้งแต่การติดระบบบนสินค้าที่ผลิตเสร็จจากโรงงานสู่การขนส่งทางถนน ราง น้ำ และอากาศ จนถึงจุดหมายปลายทาง ถึงท่าเรือ อยู่ในคลังสินค้า อยู่ในห้องเก็บของ ถูกย้ายไปบนหิ้งจนถึงลูกค้าซื้อสินค้าไป ในแต่ละจุดนั้น ตัวอ่าน RFID จะบอกให้รู้ว่าสินค้านั้นอยู่ที่ไหนและสามารถรายงานในเวลา real time ได้ด้วย ในทางกลับกันหากเกิดการขัดข้องณ จุดใดจุดหนึ่ง ก็จะทำให้ข้อมูลติดขัดได้

RFID ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีรายละเอียดมาก และมีลักษณะเฉพาะตามประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เช่น ใช้ติดกับกล่อง คาร์ตัน หรือพาเลท ชนิดของสินค้าที่ติด tag สภาพแวดล้อมของที่เก็บสินค้าที่ติด tag ปัญหาพวกนี้สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ แต่ต้องใช้ผู้ชำนาญการทางคลื่นความถี่วิทยุ การออกแบบการใช้งาน การบริหารซัพพลายเชน โลจิสติกส์ การบริหารคงคลัง ความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์และมาตรฐานของ RFID ตลอดจนความเชี่ยวชาญอื่นๆ

จากการสำรวจของ Computing Technology Industry Association พบว่าผู้ให้บริการ RFID ยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ และดูเหมือนคนเก่งด้านนี้จะลดลงด้วยซ้ำไป จากตัวเลขในอเมริกาพบว่า ปี 2549 มี 75% ปี 2548 มี 80% การขาดแคลนผู้ชำนาญการทาง RFID ทำให้ผู้ที่คิดจะใช้ลังเล และจะเป็นปัญหามากขึ้นหากมีการใช้เทคโนโลยีนี้กันอย่างกว้างขวางขึ้นมาจริง ๆ
การใช้ RFID ยังหมายถึงการต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และต้องดูเป็นธุรกิจๆ ไปว่าอันไหนเหมาะสมที่จะนำไปใช้ ซึ่งคนที่ตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้ไม่ใช่แผนกไอทีอยู่ดี แต่เป็นเจ้าของกิจการ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *