AEC : โลจิสติกส์ศาสตร์แห่งการเอาชนะในเวทีแข่งขัน
AEC : โลจิสติกส์ศาสตร์แห่งการเอาชนะในเวทีแข่งขัน
โลจิสติกส์ เป็นคำที่หลายคนไม่คุ้นเคยว่าหมายความว่าอะไรแน่ แต่คงทราบว่ามีความสำคัญ เพราะอย่างน้อยก็มีแผนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีคณะกรรมการเพื่อดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะที่ตั้งโดยคณะรัฐมนตรี มหาวิทยาลัยตื่นตัวเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับโลจิสติกส์ 20 กว่าแห่ง และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็มีกรรมการร่างยุทธศาตร์ในการสร้างกำลังคนโลจิสติกส์ หากค้นหาจาก google ด้วยคำ “โลจิสติกส์” ก็จะพบ web เกือบ 600 web
คนจำนวนมากคิดว่า โลจิสติกส์เป็นแค่เพียงการขนส่งของ เพราะเห็นรถบรรทุกจำนวนมากเขียนข้างรถว่า logistics แต่หากอ่านงานวิจัยที่ สกว. สนับสนุนในประชาคมวิจัยเล่มนี้แล้วจะเห็นว่า โลจิสติกส์มีความหมายมากกว่านั้น เช่น รวมถึงการจัดการและกฎระเบียบที่เอื้อให้การขนย้ายทำได้ง่ายด้วย เช่น พิธีการศุลกากรที่ด่านชายแดน ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลจิสติกส์ของการค้าระหว่างประเทศ
ความโกลาหลในการจัดการลำเลียงของและคน และการสื่อสารคมนาคม ที่จังหวัดพังงาและภูเก็ตในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หลังภัยพิบัติสึนามิ เป็นบทเรียนที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของโลจิสติกส์ จนเรียกได้ว่าเป็น “สึนามิของโลจิสติกส์” เองก็ได้
โสเครตีส กล่าวว่า “คนจะเป็นจอมทัพต้องรู้แจ้งว่าจะจัดสรรปันส่วนเครื่องยังชีพทั้งหลายให้แก่นักรบของตนได้อย่างไร”
โลจิสติกส์เป็นศัพท์ในวงการทหารหมายถึง “การส่งกำลังบำรุง” เพื่อให้กำลังพลมีปัจจัยเข้าทำสงครามได้ หากใครชมภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” คงเห็นภาพที่กองทัพต้องขนปืนใหญ่ ว่าต้องเตรียมการทั้ง.พาหนะ แรงงานคน พาหนะล้อเลื่อน คนคุมการขนส่ง น้ำ-หญ้าให้. ดินดำ กระสุนปืน เมื่อจะข้ามน้ำก็ต้องต่อแพ สร้างสะพาน โลจิสติกส์จึงเป็นทั้งส่งกำลังบำรุงในขณะเป็นฝ่ายรุก และจัดการถอยทัพขณะเป็นฝ่ายถอย สรุปว่า โลจิสติกส์ไม่ใช่แค่เพียงการขนส่ง แต่รวมถึงการวางแผนจัดการเพื่อให้การขนส่งนั้นดำเนินการได้ด้วย
ในสมัยก่อนที่การคมนาคมยังลำบาก การเดินทัพต้องใช้เวลามาก ในการวางแผนส่งกำลังบำรุง บางคราวถึงกับต้องส่งกองทัพล่วงหน้าไปยึดพื้นที่แล้วแปรสภาพทหารเป็นชาวนาปลูกข้าวเป็นเสบียงกันแรมปี พม่ามาตั้งกองทำนาที่พิจิตรเพื่อเข้าตีอยุธยา พระเจ้านโปเลียนเจ้าของคำพูด “กองทัพเดินด้วยท้อง” เจงกีส ข่าน และพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ก็ใช้วิธีการเดียวกัน จึงเดินทัพทางไกลได้ และบางคราว การศึกไม่ต้องรบมาก เพียงแต่ใช้โลจิสติกส์เป็นประโยชน์ เช่น การรบแบบกองโจรตัดเสบียงข้าศึก
คำอธิบายศัพท์ทางทหารอธิบายว่า “โลจิสติกส์คือศิลปะแห่งการวางแผนและการเคลื่อนกำลังพลออกไป รวมทั้งการคงไว้ซึ่งอานุภาพของกำลังพลนั้น” นักการทหารที่พิสูจน์ให้เห็นว่าโลจิสติกส์คือหัวใจของการทำสงคราม คือ พลโทกัส พาโกนิส (Gas Pagonis) ที่รับผิดชอบด้านพลาธิการในสงครามอ่าว (สงครามพายุทะเลทราย) ท่านให้คำนิยามว่า “โลจิสติกส์ คือ การขนส่ง การจัดหาอุปทาน การคลัง การบำรุงรักษา การจัดซื้อจัดหา การจัดจ้างผู้รับเหมา และการทำให้เป็นอัตโนมัติ ให้อยู่ในรูปแบบฟังก์ชันการทำงาน ที่ทำให้เราแน่ใจว่า กิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำงานประสานกัน ไม่มีใครล้ำหน้ากัน เพื่อที่จะได้บรรลุผลสำเร็จทั้งหมดของกลยุทธ์ เป้าหมาย หรือพันธกิจที่เฉพาะเจาะจง” พลโท พาโกนิส ตอนหลังไปทำงานให้เซียร์ และเพราะการวางแผนทางโลจิสติกส์แท้ ๆ ที่ทำให้ห้างเซียร์ไม่หยุดชะงัก supply chain ของตนเลยหลังเหตุการณ์ถล่มตึก World Trade ทั้ง ๆ ที่ผลกระทบเกิดในวงกว้างมาก แม้แต่บริษัทบริการโลจิสติกส์ขนาดใหญ่หลายแห่งยังต้องหยุดไปถึง 3 วัน
การแข่งขันทางธุรกิจเพื่อเอาชนะกัน ก็ไม่ต่างกับการทำสงคราม คือต้องมีพวกสนับสนุนและมีกระบวนการจัดการ เพื่อให้การผลิตของเรามีต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งการจัดการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีบทบาทมากในธุรกิจปัจจุบัน ที่เรามีข้อตกลงการค้ากำกับอยู่ สกว. จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะสนับสนุนให้นักวิจัยไทยหาความรู้ในศาสตร์นี้ งานใหญ่ชิ้นแรกที่ สกว. ตั้งคำถามกับกลุ่มวิจัย คือ ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) จีน-อาเซียน จะบังคับใช้นั้น “ทำอย่างไรประเทศไทยซึ่งเป็นทางผ่านการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนจะได้ประโยชน์สูงสุด” นอกจากนั้นเมื่อเปิดเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมเมืองท่าดานังในเวียดนามกับเมาะละแหม่งในพม่า ซึ่งเป็นการเชื่อมฝั่งทะเลมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก ก็จะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะมีบทบาทให้บริการโลจิสติกส์ ทั้งเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เราจะแสวงหาโอกาสนี้ได้อย่างไร
แม้แต่การทำงานวิจัยก็ยังเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ทีมนักวิจัยจะลงพื้นที่เก็บข้อมูล ต้องจัดการตั้งแต่การเช่ารถ อาหารการกิน ที่พัก การนัดหมายคนที่จะไปพบด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการโลจิสติกส์ การบริหารงานวิจัยก็เช่นกัน นับตั้งแต่การส่งโจทย์ การจัดการกับข้อเสนอโครงการ การติดตามงาน แต่ละขั้นตอนก็ต้องมีการวางแผนทำงาน มีระบบเอกสาร เพื่อให้การส่งผ่านข้อมูลเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ถึงผู้รับอย่างมีเป้าหมายและแม่นยำ
เมื่อโลจิสติกส์ แฝงอยู่ในกระบวนการคุณภาพการทำงานเกือบทุกกระบวนการเช่นนี้ การสนับสนุนให้วิจัยหาความรู้ในศาสตร์นี้จึงจำเป็นมาก สกว. จึงสนับสนุนงานวิจัยในลักษณะชุดโครงการ (จัดการโดย ผศ.ดร.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์ ม. มหิดล) ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ชุดโครงการนี้ได้สร้างองค์ความรู้มากมาย ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการค้า การลงทุน และบริการของโลก ที่สำคัญคือเป็นที่รวมนักวิจัย (ซึ่งมีไม่มากนัก) และเครือข่ายผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ภาครัฐจนถึงภาคธุรกิจมากมาย จนสามารถระดมสมอง กำลังความคิด ในกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการได้ทุกมิติมุมมอง รวมทั้งเป็นเครือข่ายวิชาการที่มีบทบาทต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของประเทศ
งานวิจัยที่ สกว. สนับสนุนมีทั้ง โลจิสติกส์ คือจะส่งของให้ถึงเป้าหมายได้อย่างไร กับการจัดการโซ่อุปทาน (supply chain management) เพื่อเอาของต่างๆ จากแหล่งต่างๆ มาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร โดยทำให้ต้นทุนโดยรวมต่ำที่สุด นั้นคือ ผู้ประกอบการที่มีระบบโลจิสติกส์ดี ก็จะจัดการทั้งขาเข้าและขาออกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในที่สุดแล้ว ต้นทุนผลิตภัณฑ์จะต่ำสุดและแข่งขันได้นั่นเอง
ผลงานจำนวนหนึ่งได้นำมาเสนอในประชาคมวิจัยฉบับนี้ ซึ่ง สกว. หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่าน
ที่มา รศ.ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
รองผู้อำนวยการ สกว. และผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม