โลจิสติกส์ย้อนกลับของอุตสาหกรรม

โลจิสติกส์ย้อนกลับของอุตสาหกรรม

บริษัทต่างๆ จะนำโลจิสติกส์ย้อนกลับมาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ในการศึกษาการจัดการโซ่อุปทาน  (Supply Chain Management) ทั่วไปส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การจัดการกระบวนการแปรรูปและเคลื่อนย้ายวัตถุดิบขั้นต้นจนถึงการกระจายสินค้าสำเร็จรูปไปถึงมือลูกค้า ในขณะที่การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ/หรือสินค้า จากลูกค้าปลายทางกลับไปถึงซัพพลายเออร์ในขั้นต้นนั้น หรือที่เรียกว่าโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse logistics) ได้รับความสนใจน้อยกว่า

สภาผู้บริหารโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics Executive Council) ได้ให้คำนิยามของโลจิสติกส์ย้อนกลับ ว่าเป็นกระบวนการของการวางแผน การประยุกต์ใช้ และการควบคุมการไหลของวัตถุดิบ สินค้าคงคลัง สินค้าสำเร็จรูป และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จากจุดที่ทำการบริโภค (Point of Consumption) มายังจุดเริ่มต้น (Point of origin) เพื่อทำการกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพหรือ ดึงมูลค่าเพิ่มของสินค้านี้ได้อีก

ในปี 2004 มูลค่าของโลจิสติกส์ย้อนกลับในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 0.5% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ ดำเนินการนำชิ้นส่วนของรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานมาใช้ประโยชน์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีวัตถุอันตรายไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่วหรือปรอท ซึ่งถูกนำไปทิ้งทุกปีนั้น บริษัทชั้นนำ เช่น Apple Sony หรือ Dell ได้เริ่มโครงการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยที่อัตราการนำกลับมาใช้จะอยู่ที่ 5% ถึง 50% ขึ้นอยู่กับในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้โลจิสติกส์ย้อนกลับมีความน่าสนใจมากขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งบริษัทต่างๆ จะนำหลักการของโลจิสติกส์ย้อนกลับมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ลดต้นทุนในโซ่อุปทาน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า อีกทั้งยังสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งหลายๆ ประเทศในยุโรป และประเทศแคนาดาได้บังคับใช้กฎหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

กระบวนการส่งคืนสินค้า
โดยส่วนใหญ่บริษัท มีกระบวนการส่งคืนสินค้าตามการไหลของสินค้า  ได้แก่การับสินค้า การจัดเรียง การทดสอบ การจัดเก็บและการส่งสินค้าออกไป สินค้าที่แตกต่างกันจะถูกนำส่งไปในเส้นทางที่ต่างกัน ในขณะเดียวกันสินค้าชนิดเดียวกันแต่มีข้อบกพร่องต่างกัน จะถูกนำส่งไปในเส้นทางที่ต่างกันได้ จากข้อมูลที่ทำการสำรวจภาคอุตสาหกรรม กระบวนการส่งสินค้า

โดยทั่วไปสามารถแสดงได้ในรูปที่ 1 โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ เช่น ความต้องการสินค้าสภาพของสินค้าและบรรจุภัณฑ์  การทดสอบและการซ่อมแซมสินค้า ตลาดมือสองและการกำจัดสินค้า

กระบวนการส่งคืนสินค้าเริ่มจากการผู้ผลิต หรือร้านค้าปลีกรับสินค้าคืนจากลูกค้า หรือที่เรียกว่าผู้ซื้อเป็นผู้ขับเคลื่อน (Buyer-driven) ซึ่งสินค้าที่ทำการนำส่งคืนจะถูกนำส่งไปยังสถานที่ที่ทำการคัดแยกเพื่อดึงมูลค่าสินค้าที่ยังคงเหลืออยู่ออกให้มากที่สุด

ทั้งนี้ กระบวนการโลจิสติกส์ย้อนกลับมีความจำเป็นต้องใช้เทคโลโลยีสารสนเทศ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องเห็นการเคลื่อนที่ของสินค้าอย่างชัดเจนในโซ่อุปทานและการเข้าถึงฐานข้อมูลระหว่างพันธมิตร เป็นขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญของโลจิสติกส์ย้อนกลับ  เช่น เดียวกันกับโซ่อุปทานทั่วไป

การวางแผนพยากรณ์ร่วมกัน การวางแผนการผลิตร่วมกับการสร้างตัววัดประสิทธิภาพการผลิตด้วยกัน รวมทั้งการทบทวนกระบวนการของความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กร
นอกจากนี้ การสนับสนุนของผู้บริหารมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคล หรือเงินทุนรวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลจิสติกส์ย้อนกลับ นอกจากนี้กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ย้อนกลับควรกำหนดเป็นงานประจำ/หรือภารกิจหลัก ที่ต้องมีผู้บริหารรับผิดชอบในเรื่องนี้ หากกำหนดเป็นงานชั่วคราวจะทำให้พนักงานขาดความเอาใจใส่ มูลค่าและประสิทธิภาพจะสร้างประโยชน์อย่างมากมาย เช่น เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า การปฏิบัติการมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ การวางแผนด้านแรงงาน และการบริหารสินค้าคงคลัง  นอกจากนี้ยังส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินการลดลงและส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถสร้างกระบวนการออกแบบและพัฒนาสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเด็นอื่น ๆ
ในบางกรณีของโลจิสติกส์ย้อนกลับสินค้าส่วนใหญ่จะมีกระบวนการจัดการให้สามารถมาวางจำหน่ายได้อีก ทั้งนี้อาจจะมีการดัดแปลง หรือแก้ไขสินค้านั้น หรือไม่ก็ได้ เนื่องจาก 75% ของสินค้าที่ถูกส่งกลับคืนไม่ได้เป็นสินค้าที่ชำรุดหรือบกพร่อง แต่จะเป็นสินค้าที่ถูกส่งคืน เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง หรือมีข้อมูลผิดพลาด ส่วนสินค้าที่เหลืออาจจะถูกส่งไปขายที่ตลาดมือสอง หรือแยกเพื่อนำเอาชิ้นส่วนไปใช้งานต่อ หรืออาจจะนำไปกำจัด

สรุป 
โลจิสติกส์ย้อนกลับ มีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้ โดยมีส่วนในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า พร้อมทั้งเป็นการนำมูลค่าของสินค้าที่อยู่จะยังคงเหลือในสินค้าที่ส่งคืนกลับมาใช้ได้อีก นอกจากนี้การสนับสนุนของผู้บริหารโดยการกำหนดเรื่องของการส่งคืนสินค้าเป็นงานประจำหรือภารกิจหลักขององค์กร จะสามารถส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้

 

ที่มา: บทความเรื่อง “An  exploration of reverse logistics practices in three companies ในวารสาร  Supply Chain Management : An International  Journal  ฉบับที่ 13 เล่มที่ 5 ปี 2008 หน้า 381-386  โดย  Xiaoming Li  และ Festus Olorunniwo

 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *