โลจิสติกส์กับการแข่งขันสมัยใหม่
โลจิสติกส์กับการแข่งขันสมัยใหม่
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์…ที่การแข่งขันในด้านธุรกิจและการค้าทวีความรุนแรงขึ้นไปทุกขณะ ทั้งราคาน้ำมันที่ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราต้องหันกลับมามองเรื่องการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น
ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในโลกการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าไปทั้งในและต่างประเทศ
อาจกล่าวได้ว่าโลจิสติกส์เกิดขึ้นมาพร้อมกับการอุบัติขึ้นของมนุษย์บนโลกนี้มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่กันเป็นกลุ่ม ชุมชน สังคม ประชาคมโลกต่างต้องทำมาหากิน ไปมาหาสู่กัน แลกเปลี่ยนสินค้าวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งมีการต่อสู้ศึกสงครามเพื่อแย่งชิงการครอบครองทรัพยากรตามความปรารถนาของตนกิจกรรมการเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บทรัพยากรของมนุษย์ล้วนแล้วแต่เป็นงานการจัดการโลจิสติกส์ทั้งสิ้น
บทบาทของโลจิสติกส์มีความสำคัญในทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นช่วงศึกสงครามโลจิสติกส์ก็เป็นกลยุทธ์ในการลำเลียงอาหารและยุทธปัจจัยต่างๆที่เราเรียกว่า “การจัดกำลังบำรุง”ที่เป็นชื่อในแบบไทยๆของคำว่าโลจิสติกส์นี่เอง
แน่นอนว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากที่ต่างๆการจัดการโลจิสติกส์นี้จึงเป็นเหมือนการจัดการขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าในระดับประเทศหรือแม้แต่องค์กรนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในปี 2550มีการประเมินโดยหลายๆหน่วยงานว่าประเทศไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อ GDPอยู่ที่ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนดังกล่าวบ่งชี้อะไรได้น่ะหรือ?
ยกตัวอย่างเช่นประมาณ 1 ใน 5 ของราคาสินค้านั้นตกอยู่ที่ต้นทุนค่าขนส่งค่าบริหารสินค้าคงคลังและจัดเก็บสินค้า เป็นต้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆในแถบยุโรปมีต้นทุนการจัดการที่ต่ำกว่ามาก โดยในปี2548 นิตยสาร Economist ได้ระบุว่า ประเทศในกลุ่ม EUและประเทศญี่ปุ่นมีต้นทุนโลจิสติกส์รวมเพียง 11เปอร์เซ็นต์และประเทศอินเดียอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เท่านั้นนั่นหมายความว่าหากต้นทุนด้านอื่นๆของเขามีระดับต่ำกว่าแล้วจะทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านราคาของเราต่ำลงทันที
ปัจจัยที่ทำให้ประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นมีต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ก็เช่นโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการคมนาคมไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางท่าเรือ สนามบินพานิชย์ ประเทศไทยเองมีนโยบายในการวางแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศแต่ก็คงไม่ลุล่วงได้ในเร็ววันนี้แน่ๆ….
ด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานอย่างไม่มีที่ท่าจะหยุดนี้….บริษัทต่างๆก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ด้วยตนเอง…บ่อยครั้งที่ผู้บริหารระดับสูง มักมองข้ามการจัดการโลจิสติกส์บางครั้งก็รู้อยู่ว่าต้นทุนโดยเฉลี่ยนั้นสูงขึ้นแต่ก็ไม่รู้ว่ามาจากตรงไหนต้นทุนเหล่านี้มักจะซ่อนอยู่ในค่าบริหารจัดการทั่วไปและสามารถเริ่มต้นการจัดการง่ายๆได้ ด้วยการ….
1.บริหารต้นทุนการขนส่ง- โดยการวางแผนสถานที่ตั้งของลูกค้าจัดโซนนิ่งในการส่งสินค้าให้กับลูกค้าในละแวกเดียวกันหรือวางแผนการจัดส่งสินค้าเป็นเวลา เช่น สัปดาห์ละสองครั้งตามความเหมาะสมและปัจจัยที่สามารถใช้ประโยชน์จากการขนส่งได้อย่างเต็มที่ก็คือการใช้รถเปล่าที่กลับจากการส่งของอย่างเต็มที่เช่นรับวัตุถดิบจากผู้ขาย
2.บริหารต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง –การเก็บกักวัตถุดิบที่มากเกินความจำเป็นถือเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็นเช่นกันและยังมีความเสี่ยงที่จะใช้สินค้าไม่หมดอีกด้วย การบริหารระดับสินค้าคงคลังในแต่ละรอบควรพยากรณ์จากความต้องการของลูกค้าในรอบนั้นด้วย
3.บริหารโกดังหรือสถานที่เก็บสินค้า-วัตถุดิบ –โกดังนั้นควรได้รับการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่มีนั้นตรงกับข้อมูลที่มีอยู่รวมทั้งสามารถหยิบหาสินค้าเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วแม่นยำหลายๆบริษัทผลิตสินค้าและนำมาเก็นไว้ในโกดังจนลืมมารู้อีกทีสินค้านั้นก็มากเกินความต้องการของลูกค้าไปเสียแล้ว
4.ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ -หากสามารถทำได้การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดการกับการบริหารที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นจะมีความสะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้นเช่นการบันทึกผังของสินค้าในโกดัง จำนวนสินค้าและวัตถุดิบที่เหลืออยู่ต้นทุนต่างๆ เป็นต้น
5.ให้เป้าหมายที่ชัดเจนแก่พนักงาน -การจัดการจิสติกส์นี้สามารถทำได้อย่างมีรูปธรรมได้ด้วยความร่วมมือจากพนักงานหน้างานแต่ผู้จัดการหรือผู้บริหารนั้นก็ต้องมี KPIที่ชัอเจนเพื่อการประเมินอย่างมีประสิทธิผลรวมถึงสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงานได้ด้วยในบริษัทอิเลคทรอนิคส์ชั้นนำระดับโลกหลายแห่งมีการวัดต้นทุนด้านนี้อย่างจริงจังจนสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เหลือเพียง6-7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ทั้ง 5ข้อนี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้นในการบริหารต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของคุณและเป็นสิ่งที่บริษัทชั้นนำต่างๆของโลกไม่ว่าจะเป็นSeagate, 7-11 และอื่นๆ นำไปใช้เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ที่มา ดร.ปัญญลักษณ์ อุดมเลิศประเสริฐ ผู้บริหาร บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น และอาจารย์พิเศษด้าน การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ม.เอแบคและ ม.ราชภัฎจันทรเกษม