โมเดลคิด 2 ทาง สู่เป้าหมายหนึ่งเดียว

โมเดลคิด 2 ทาง สู่เป้าหมายหนึ่งเดียว
ความน่าสนใจที่สุดของ “โครงการหัตถกรรมทางภาคเหนือกับความเป็นไปได้ไม่รู้จบ” ไม่ได้อยู่เพียงความสวยหรูของโปรดักท์ ดีไซน์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ลึกถึง “ความแตกต่าง” ของวิธีคิดระหว่างดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทย กับ นักศึกษาด้านการออกแบบทางวิศวกรรมจาก Royal College of Art (RCA) ประเทศอังกฤษ

จากมุมมองนักออกแบบไทยจะยึดออกแบบผลิตภัณฑ์โดยยึดความสวยงามของสีสัน ฟอร์ม ความประณีตของเส้นสายของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ซึ่งคอนเซปต์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ได้จากแรงบันดาลใจมาจากปรัชญาชีวิต วัฒนธรรมของไทย

ในขณะที่นักศึกษาจากลอนดอนจะมีวิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยการ “ตั้งคำถาม” จากวัสดุและสิ่งของรอบตัว มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันแบบสุดขั้ว จนในที่สุดก็ได้สินค้าที่มีฟังก์ชันแปลกใหม่ จากนั้นจึงสร้างสรรค์ฟอร์ม และความสวยงามของผลิตภัณฑ์ภายหลัง

“ฝรั่งจะตั้งคำถามเยอะมาก คิดแหวกแนวและคิดเยอะมาก เช่น พอเห็นศาลพระภูมิก็จะถามแล้วว่าเป็นวัดขนาดจิ๋วหรือเปล่า เพราะนักศึกษากลุ่มนี้จะมีพื้นฐานการคิดแบบวิทยาศาสตร์ คือ การตั้งคำถาม แก้ปัญหา ซึ่งก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ สุดท้ายพวกเขาอาจจะได้คำตอบที่นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในงานออกแบบก็ได้ แต่นักออกแบบของไทยจะให้ความสำคัญกับเชฟ ฟอร์ม อารมณ์ ทำให้มี 2 ความคิดที่สุดขั้ว” พิเสธ วิรันคบุตรา หนึ่งในทีมดีไซเนอร์ไทย และเป็นอาจารย์สอนด้านออกแบบที่สถาบันการออกแบบแฟชั่นราฟเฟิล ลาซาร์

แม้ว่า 2 วิธีคิดนี้จะแตกต่าง แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกันที่จะได้โปรดักท์ดีไซน์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรม ในที่สุดผลงานที่ได้รับคัดเลือกรอบสุดท้าย 15 ชิ้นมาจากการตัดสินของคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 7 คน

“รู้สึกท้าทายที่ต้องมาร่วมงานเวิร์คชอปกับดีไซเนอร์ไทยที่มีความสามารถกันทุกคน ที่สำคัญการได้มาสำรวจผลิตภัณฑ์ในเมืองไทยทำให้พวกเราตื่นตาตื่นใจมาก เป็นต้นว่า เราไม่มีตลาดสดที่มีสินค้าวางขายเกลื่อนกลาด ผมถ่ายรูปเป็นพันรูปจากสิ่งที่ได้พบเจอแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน” แอนเดรน เวสทาเวย์ นักศึกษาจาก RCA ภาควิชาวิศวกรรม

ผลงานของแอนเดรนมีชื่อว่า “Chopkick” เป็นตะเกียบที่มีโซ่คล้องติดกันได้รับความฮือฮาที่สุด เพราะมีการนำไปให้คนในเชียงใหม่ได้ทดลองใช้ตะเกียบนี้ ทุกคนที่เห็นตะเกียบของเขาต่างหัวเราะกันทุกคน และถือว่าเป็นขั้นแรกของการวิจัยตลาดที่ได้ผล

“ที่มาของตะเกียบนี้มาจากเรานั่งคุยตอนรับประทานอาหารจนได้คอนเซปต์ Play with food พอได้งานต้นแบบออกมาก็นำไปให้หลายๆ คนทดลองใช้ พอทุกคนเห็นก็สนุกและหัวเราะออกมา ผมเลยคิดว่านี่แหละใช่เลย” เขา กล่าว

ส่วนนักศึกษาด้านเครื่องจักรกลอีกคนจาก RCA “ดันเคน ฟิตส์ไซมอนส์” ได้แนวคิดจากการออกแบบถ้วยซุปที่มีชื่อว่า “Chicken Feet” จากการเห็นตีนไก่ที่วางขายในตลาดสด เขาจึงต้องการออกแบบผิวสัมผัสที่แปลกใหม่ ถ้วยซุปนี้จะมีผิวสัมผัสโดยรอบเป็นลายตีนไก่ และการออกแบบถ้วยอีกใบที่ใช้เมล็ดถั่วลิสงต้มต่อกันเป็นฟอร์มถ้วยที่ใช้ประโยชน์ได้ และสร้างอารมณ์ขันได้

ไอเดียตัวอย่างที่สร้างเสียงหัวเราะให้กรรมการและผู้เห็นผลิตภัณฑ์ในแวบแรกได้ ล้วนมาจากแรงบันดาลใจที่คนไทยต่างมองข้าม เพราะเป็นความเคยชินที่เห็นทุกวันๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่นักออกแบบไทยได้ไปฝังตัวอยู่ในต่างแดนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ แล้วละก็ คาดไม่ถึงเหมือนกันว่าไอเดียที่ฝรั่งมองข้าม อาจสร้างออกมาให้โลกตะลึงก็เป็นได้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *