โทษของการพูดไร้สาระ
โทษของการพูดไร้สาระ
การพูดเพ้อเจ้อนั้น ฟังผิวเผินเหมือนจะไกลตัวเรา ก็ใครเล่าจะคิดว่าตนเองเป็นคนพูดเพ้อเจ้อ คงจะต้องมีแต่คนที่พูดมากคนไร้สาระ เท่านั้นกระมังที่จะเป็นคนพูดเพ้อเจ้อ แต่ความจริงแล้วการพูดประเภทนี้เป็นการพูดที่เราท่านทั้งหลายพูดกันเสมอ เป็นการพูดที่แพร่หลายทั่วไปในสังคมปัจจุบัน และส่วนใหญ่เราก็ไม่ค่อยได้ระวัง เพราะไม่ทราบกันว่าเป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นข้อหนึ่งในอกุศลกรรมบถ 10 โทษอย่างมากถึงกับนำให้ไปเกิดในอบายภูมิได้ เช่นเดียวกับ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด พูดส่อเสียด เป็นต้น นั่นเชียว
ลองดูว่า การพูดเพ้อเจ้อ หรือ สัมผัปปลาปะ นั้นง่ายแค่ไหน มังคลัตถทีปนีแปล กถาว่าด้วยวินัยกล่าวไว้ว่า “อกุศลเจตนาที่ยังกายประโยคและวจีประโยค ซึ่งเป็นเครื่องยังผู้อื่นให้รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ให้ตั้งขึ้น ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ” ถ้าจะแปลไทยเป็นไทยก็จะได้ว่า การที่เรามีจิตใจที่ไม่ได้เป็นไปในทางบุญกุศล (ก็คือ มีจิตใจเป็นไปในทางตรงข้าม คือ ในทาง โลภ โกรธ หลง) แล้ว พูด หรือ เขียน เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ให้ผู้อื่นเขารู้เรื่อง เท่านี้ก็เป็นการพูดเพ้อเจ้อแล้ว
ดังนั้น หากจะลองนึกย้อนดูว่าวันหนึ่งๆ เราได้พูดเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะด้วยเจตนา พูดเล่น พูดเพื่อสนุก พูดเพื่อหลอก หรือเพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ กันบ้างไหม หรือเราพูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์เป็นคุณธรรม มีแง่คิดเป็นธรรมะจรรโลงโลก พูดด้วยเจตนาดี หรือพูดเรื่องที่มีประโยชน์มีสาระ นอกจากการพูดแล้ว การเขียน การพิมพ์ ตลอดจนการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมทั้ง การโฆษณา การปราศรัย การบรรยาย ก็จัดรวมในข้อนี้ด้วย
ดังนั้น การพูดที่ไม่มีสาระจึงเสี่ยงต่อ สัมผัปปลาปะ ในทางธรรม ได้กล่าวถึง นิรัตถกถา คือ คำพูดที่หาประโยชน์หาสาระมิได้ไว้ถึง 32 อย่างด้วยกัน ในที่นี้ขอยกมาเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย ได้แก่ พูดเรื่องกษัตริย์เรื่องราชวงศ์ พูดเรื่องทหาร เรื่องอาหารการกิน เรื่องการทำมาหากิน เรื่องเสื้อผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องญาติ เรื่องหมู่บ้าน เรื่องผู้หญิง ผู้ชาย เรื่องเด็ก เรื่องโลก เรื่องมหาสมุทร เรื่องป่า เรื่องภูเขา และเรื่องไม่เป็นเรื่องต่างๆ ขอให้ได้พูด เป็นต้น
ผู้ที่ควรระวังเป็นพิเศษในเรื่องนี้ก็คือ ผู้ที่เป็นนักพูด นักบรรยาย นักโฆษณา นักเขียน นักแสดง เพราะถ้าเรื่องที่ท่านพูด ที่ท่านแต่งขึ้น ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณธรรมแต่ประการใด นอกจาก จะกระตุ้นให้เกิดกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ เท่านั้น ก็จัดเป็น สัมผัปปลาปะทั้งสิ้น เพราะเป็นการกล่าวเพ้อเจ้อ ให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลินหลงใหล เต็มไปด้วยโลภะ หรือเกิดความโกรธเกลียด หรือ ทำให้เกิดความประมาทตกอยู่ในอำนาจของกิเลส
ดังนั้น ก่อนพูดก่อนสื่อสาร ควรเริ่มจากจิตใจที่ประกอบด้วยเจตนาที่ดี และเรื่องที่จะพูดก็ควรมีประโยชน์ ควรเกื้อกูลต่อคุณธรรม ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วอย่าพูดออกไปจะดีกว่า การพูดให้เขาสนุกบ้าง ให้เขาโลภ ให้เขาตีกันบ้าง เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ไม่มีสาระ ควรงดเว้น
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ การพูดเพ้อเจ้อ จะมีโทษมากหรือโทษน้อย ขึ้นอยู่กับการกระทำมากหรือกระทำน้อย (เรียกว่า อาเสวนะ) และ ถ้ามีผู้ฟังมาก ผู้ถือเอามาก ก็มีโทษมาก ถ้ามีการคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นมากหรือมีสื่อมวลชนเป็นอุปกรณ์ทำให้คนทั้ง หลายได้ยินได้ฟังคำพูดนั้นเป็นจำนวนมาก และตนก็มักกล่าวเพ้อเจ้ออยู่เสมอ มากครั้งมากหน อย่างนี้ก็มีโทษมาก (มหาสาวัชชะ)
ผู้ที่พูดเพ้อเจ้อยังได้ชื่อว่าเป็น “อธัมมวาที” คือ ผู้พูดไม่เป็นธรรม เป็นผู้มี “วาจาทุพภาษิต” เป็นอวมงคลแก่ตนเอง นำไปสู่ความเสื่อม จะเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจถ้ากล่าวคำเพ้อเจ้อมากๆ ก็จะเสื่อมจากอำนาจและ ไม่มีใครเชื่อถือ พูดมากบ่อยเข้าพูดไปมาเลอะเทอะเหมือนคนวิกลจริต การพูดเพ้อเจ้อนั้นมิใช่เป็นโทษเฉพาะผู้พูดเอง ผู้ที่ชักชวนให้ผู้อื่นพูด ผู้ที่พอใจในการพูดเพ้อเจ้อ ผู้ที่กล่าวสรรเสริญคุณของการพูดเพ้อเจ้อ ก็เป็นกรรมเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรระวังให้มาก
ผู้ที่ไม่กล่าววาจาเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ ชื่อว่ามี วาจาสุภาษิต ส่วนผู้ที่กล่าววาจาสุภาษิตอย่างสูงนั้น คือ ไม่กล่าวสิ่งที่ไม่เป็นธรรม กล่าวแต่สิ่งที่เป็นธรรม ไม่กล่าวคำไม่เป็นที่รัก กล่าวแต่คำเป็นที่รัก ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ กล่าวแต่คำจริง วาจานี้ชื่อว่ามงคล เพราะนำประโยชน์และความสุขทั้งในปัจจุบันและในอนาคตมาให้
อย่าลืมว่าวาจาที่แสดงธรรมต่อผู้อื่นสามารถเป็นปัจจัยให้ผู้อื่น บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการพูด เพราะคำพูดสามารถนำผู้ฟังและผู้พูดไปสู่ความสุขความเจริญ สู่สวรรค์ สู่นิพพานก็ได้ แต่ถ้าพูดไม่ดี เป็นการพูดที่ไร้สาระผิดศีลผิดธรรม ก็สามารถนำทั้งผู้พูดและผู้ฟังไปสู่ความทุกข์ ความลำบาก ความเสื่อม และแม้แต่นำไปตกนรกก็ได้เช่นกัน