โจทก์ซื้อทรัพย์สินของจำเลยในการขายทอดตลาดได้หรือไม่?
โจทก์ซื้อทรัพย์สินของจำเลยในการขายทอดตลาดได้หรือไม่?
PLAINTIFF PURCHASE DEFENDANT’S ASSETS
IN AUCTIONS, OR NOT?
อภิชาติ แจ้งยุบล
เมื่อศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ปัญหาที่มีอยู่เสมอคือหาคนมาซื้อทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเช่นนี้เรียกว่าเข้าสู้ราคา เมื่อไม่มีผู้เข้าสู้ราคาทรัพย์สินนั้นย่อมขายไม่ได้ เจ้าหนี้ดังกล่าวก็ไม่ได้รับชำระหนี้ บางครั้งบางคราวเสียเวลาเพราะเหตุนี้เป็นปี ๆ
ปัญหาก็มีว่าตัวเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะเป็นผู้เข้าซื้อทรัพย์สินหรือเข้าสู้ราคาได้หรือไม่
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมีโฉดครบ 2 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 3 หลังของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดโดยวิธีปลอดจำนองเพื่อเอาเงินชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2528 และโจทก์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 1,490,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขายทรัพย์ที่ยึดทั้งหมดให้แก่โจทก์
ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2528 จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดว่าการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 และไม่เป็นธรรมต่อจำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งทำการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยใหม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 3188/2531
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกในปัญหาที่ว่าการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าสู้ราคานั้นไม่ชอบ เพราะตามอุทธรณ์ของจำเลยและคำขอท้ายอุทธรณ์ก็ได้มีคำขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดและขายทอดตลาดทรัพย์ใหม่ เนื่องจากการขายทอดตลาดทรัพย์ไม่เป็นธรรมแก่จำเลย และขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 ซึ่งห้ามมิให้โจทก์เข้าสู้ราคา แม้จำเลยจะมิได้ระบุในอุทธรณ์คำสั่งว่าอุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 9 ตุลาคม 2528 ด้วยก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2528 ภายในอายุอุทธรณ์คำสั่งทั้งสองฉบับและตามข้ออุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์คัดค้านทั้งคำสั่งลงวันที่ 3 ตุลาคม 2528 และคำสั่งลงวันที่ 9 ตุลาคม 2528 ที่สั่งยกคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ด้วย อีกทั้งโจทก์ก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์คำสั่งทั้งสองฉบับไว้ด้วยแล้วเช่นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 9 ตุลาคม 2528 ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดหรือไม่นั้น จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี ชอบที่จะยกเสีย แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงเป็นอันยุติและเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้อยู่แล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวอีก ซึ่งในปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลดาหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 บัญญัติ ห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคา เว้นแต่จะได้แถลงไว้โดยเฉพาะในคำโฆษณาบอกการขายทอดตลาดว่าผู้ขายถือสิทธิจะเข้าสู้ราคาด้วยก็ตาม แต่การขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีนี้เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดตามคำสั่งศาลตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อได้ยึด…อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำขอต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ฯลฯ” และมาตรา 308 บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดได้ ฯลฯ” ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดซึ่งเป็นของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ขายตามคำสั่งศาล โจทก์ซึ่งเป็นผู้ชนะคดีมิใช่เป็นผู้ขาย โจทก์จึงหาต้องห้ามมิให้เข้าสู้ราคาตามมาตรา 512 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวห้ามเฉพาะผู้ขายมิให้เข้าสู้ราคาเองเท่านั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า การที่จำเลยจะหาผู้ที่อยู่ในฐานะจะเข้าประมูลสู้ราคาทรัพย์ ซึ่งมีราคานับล้านบาทภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน เป็นระยะเวลาที่น้อยมาก หากให้โอกาสแก่จำเลยมากกว่านี้จำเลยก็ย่อมจะหาผู้อื่นเข้าประมูลสู้ราคาได้และย่อมได้ราคาสูงกว่าที่ขายให้โจทก์แน่นอน จึงขอให้มีคำสั่งประกาศขายใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้ ได้มีการประกาศขายรวม 13 ครั้ง และมีผู้เข้าสู้ราคาเพียง 3 ครั้ง ทั้งโจทก์ผู้เข้าสู้ราคาเป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 2 ครั้งแล้ว แต่จำเลยก็แถลงคัดค้านว่ายังต่ำอยู่อีก และแถลงต่อศาลรับรองว่าจะจัดหาผู้อื่นมาสู้ราคาด้วย แต่จำเลยก็ไม่สามารถจัดหาผู้อื่นมาสู้ราคาในราคาที่สูงกว่าโจทก์ผู้ให้ราคาสูงสุดแต่ละครั้งได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นเงินจำนวน 1,490,000 บาท มากนัก หากจะให้โอกาสจำเลยหาผู้อื่นมาสู้ราคาดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมากอีกก็ไม่แน่นอนว่าจำเลยเห็นว่าราคาประมูลพอสมควรจึงตกลงขายไปและศาลล่างทั้งสองก็เห็นว่าราคาพอสมควรแล้วนั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
คดีนี้จะเห็นได้ว่ามีการประกาศขายถึง 13 ครั้ง นับว่าเสียเวลามาก ซึ่งบางครั้งในการบังคับคดีนั้นจะเสียเวลามากกว่าชั้นพิจารณาคดีเสียอีก
เมื่อมีการประกาศขาย หาคนเข้าสู้ราคาไม่ได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือโจทก์ก็จำเป็นต้องเข้าสู้ราคาเอง จำเลยกลับคัดค้านว่าโจทก์ไม่มีสิทธิสู้ราคา จนคดีต้องพิพาทกันขึ้นไปถึงศาลฎีกาในชั้นบังคับคดี และศาลฎีกาได้วินิจฉัยในหลักว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 ห้ามมิให้เข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคา แต่การขายทอดตลาดที่ยึดตามคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 และ 308 นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ขายตามคำสั่งศาล โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิใช่ผู้ขาย จึงหาต้องห้ามมิให้เข้าสู้ราคาไม่
หลักกฎหมายดังกล่าวคงชี้หรือแสดงให้เห็นว่าในคดีที่มาสู่ศาลนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เพราะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิใช่ผู้ขายฝ่ายจำเลยก็ควรเข้าใจหลักการนี้ มิใช่อ้างเหตุนี้เพราะอาจถือเป็นการประวิงคดีต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ไม่จำเป็น
เอื้อเฟื้อบทความโดยสำนักงานกฎหมายติลลีกี แอนด์ กิบบินส์