โค้ชว่าที่นักศึกษาฝึกงาน

โค้ชว่าที่นักศึกษาฝึกงาน
Post Today – บีหลานสาวผมต้องการฝึกงาน เธอเรียนปีสุดท้ายคณะบริหารธุรกิจ หกเดือนข้างหน้าเธอมีเวลาว่าง 3 วันต่อสัปดาห์ ผมแนะนำให้เธอสมัครเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า (Service Officer – SO) ที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษวอลล์สตรีท สยามดิสคัฟเวอรี่ กับผู้อำนวยการ …
ผมโทร.ไปถามเธอว่าการสมัครงานคืบหน้าเพียงใด บีบอกว่ายื่นใบสมัครไปแล้วรอสัมภาษณ์

“บีควรทำยังไงต่อดีคะ” เธอถาม

“บี ตั้งแต่นี้ต่อไป ลุงจะปฏิบัติกับเราแบบผู้ใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง อย่าเข้าใจลุงผิดนะที่ต่อไปนี้ลุงจะถามให้คิด สร้างแรงกดดัน และบางครั้งอาจจะต้องเคี่ยวเข็ญเราเพื่อให้เราแกร่งขึ้น คิดว่ารับได้ไหม”

“ค่ะ” ตอบไม่ค่อยเต็มเสียง

“ดีมาก คราวนี้ลองบอกผมมาซิว่าเตรียมตัวสัมภาษณ์อย่างไรบ้าง”

“บีกำลังอยู่ในช่วงสอบค่ะ”

“บี ไม่มีข้ออ้าง ในที่ทำงานเราต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดังนั้นต้องเรียนรู้ที่จะบริหารเวลา นอกจากเตรียมตัวสอบแล้ว เราจะเตรียมตัวสัมภาษณ์ได้อย่างไรบ้าง”

“บีคิดว่าในตอนสัมภาษณ์บีจะบอกผู้อำนวยการว่า บีจะพยายามและตั้งใจ ตลอดจนรับผิดชอบในช่วงฝึกงานค่ะ”

“ดีแล้วที่มีความคิดอย่างนั้น แต่ว่ายังดีไม่พอ อย่าลืมนะว่าลุงพยายามปฏิบัติต่อเราแบบผู้ใหญ่แล้ว เราจะทำอะไรได้อีก”

“ไม่ทราบค่ะ ทำไมลุงไม่บอกบีละคะ”

“บี ถ้าลุงบอกเรา เราก็จะต้องกลับมาถามอยู่ร่ำไป เรามีความคิดนี่นา ลองคิดดูซิว่าจะทำอะไรได้บ้าง”

“บีจะหาข้อมูลเกี่ยวกับวอลล์สตรีทจากอินเทอร์เน็ตค่ะ”

“ดี เอาละ คราวนี้ลุงจะบอกแนวทางให้ก่อน แต่ว่าคราวหน้าต้องคิดให้หนักกว่านี้นะ”

“ขอบคุณค่ะ”

“ลุงจะบอกให้ว่านักศึกษาฝึกงานไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริหารจะชอบนะ เพราะว่าเสียเวลาเขาต้องมาสอนงาน เสร็จแล้วต้องมาคอยแก้ไขงานเพราะเด็กขาดประสบการณ์ แล้วยังต้องอดทนมากด้วย เพราะหากบ่นหรือตำหนิก็จะดูไม่ดี โดยรวมแล้วเป็นภาระของผู้บริหาร โดยทั่วๆ ไปนักศึกษาฝึกงานมักจะรอให้สั่งว่าจะให้เขาทำอะไร แล้วก็รอให้สอนว่าจะทำอย่างไร สมัยนี้องค์กรไม่มีเวลามากที่จะมาสอนและสั่งเราตลอดเวลาหรอก

ทำไมนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นล่ะ”

“คงจะเป็นเพราะว่าการเลี้ยงดูในครอบครัว และโรงเรียน ออกมาในแนวป้อน สั่ง ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เราคิดเองเท่าไรค่ะ”

“ดีแล้วที่รู้ คิดว่านักศึกษาฝึกงานในฝันควรจะเป็นอย่างไรล่ะ”

“ทำงานได้เลย และช่วยเขาแบ่งเบาภาระ แทนที่จะเป็นภาระเสียเอง”

“เก่งนี่ แล้วเราจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไรล่ะ”

“บีจะไปทำงานเช้ามากๆ เลย แล้วสังเกตว่าคนอื่นทำอย่างไร แล้วลองเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเองในงานง่ายๆ เช่น การรับโทรศัพท์ การถ่ายสำเนาเอกสาร”

“เก่งมาก เห็นไหมล่ะ เราก็มีความคิดริเริ่มที่ดีได้นี่ ถ้าเป็นลุงนะ ลุงจะไปทั้งสี่สาขาแล้วสังเกตว่าแต่ละคนที่ทำงาน SO ในแต่ละสาขาเขาทำงานกันอย่างไร บันทึกสิ่งที่ดีและควรปรับปรุง แล้วฝึกฝนสิ่งดีที่เห็นมา ส่วนสิ่งที่ควรแก้ไข ก็ศึกษาหาแนวทางว่าควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง แค่นี้ก็พร้อมแล้ว”

“ถ้าบีใช้กล้องมือถือบันทึกภาพแล้วนำเสนอในเพาเวอร์พอยต์ตอนสัมภาษณ์ ลุงว่าจะเว่อร์หรือโชว์ออฟมากเกินไปไหมคะ”

“ไม่เลย นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องเรียนรู้ การนำเสนองานนั้นไม่เป็นการโชว์ออฟหรอก การทำงานในบริษัทข้ามชาตินั้นจำเป็น เขาไม่ต้องการพนักงานติ๋มๆ หรอก ต้องกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม และควรซ้อมหลายๆ รอบจนคล่องแคล่ว อย่าลืมว่าไม่มีครั้งที่สองสำหรับความประทับใจครั้งแรก (No second chance for first impression).”

“แต่ว่าบีกำลังอยู่ในช่วงสอบค่ะ”

“ต้องบริหารเวลา”

“บีจะทำสองอย่างในเวลาเดียวกันได้อย่างไร”

“นี่เรียกว่า Reactive thinking คือคิดแบบตั้งรับ ต้องคิดแบบ Proactive ด้วยการตั้งคำถามให้ถูกต้อง การที่บอกว่าทำสองอย่างในเวลาเดียวกันทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะนอกเหนือการควบคุมของเรา ลองคิดดูว่าหากสตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งแอปเปิลคอมพิวเตอร์คิดแบบนี้ เราคงยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้

มันอยู่ที่วิธีการตั้งคำถามให้ถูก เช่น เราจะทำสองอย่างในเวลาเดียวกันได้อย่างไร”

“บีคิดว่าบีจะนำหนังสือไปอ่านในแต่ละสาขาในช่วงสังเกตการณ์ โดยอาจจะอ่านหนังสือครึ่งชั่วโมง สังเกตการณ์สิบห้านาที แล้วสลับกลับไปอ่านหนังสือ”

“ดีมาก”

“เชื่อมช่องว่าง” กับ เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย Executive Coach ภายใต้แบรนด์ The Coach คุณสามารถติดต่อเขาได้ที่ coachkriengsak@yahoo.com หรืออ่านงานเขียนที่เคยตีพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ ที่ www.thaicoach.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *