โกลว์ พลังงาน ข่าวร้ายที่มาก่อน ข่าวดี
|โกลว์ พลังงาน ข่าวร้ายที่มาก่อน ข่าวดี
ของดีที่สุดจะเป็นของที่ถูกที่สุดในภายหลังถ้าหาจังหวะลงทุนไว้เสียแต่เนิ่นๆ”โกลว์ พลังงาน”หนึ่งในหุ้นที่รู้ว่า “ต้องดี”แต่วันนี้ยัง “ต้องรอ”
เพราะโรงไฟฟ้าใหม่ของบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างจะสร้างเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
แม้จะเป็น “น้องเล็ก” ที่สุดในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า แต่เสียงจากผู้บริหารกลับหนักแน่นว่าโกลว์ พลังงานมี “สตอรี่การเติบโต” น่าตื่นเต้นกว่ารุ่นพี่อีก 2 ตัว (ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และผลิตไฟฟ้า) แต่ “ข่าวร้าย” ก็คือ ปีนี้น่าจะเป็น “จุดต่ำสุด” ในแง่ของผลการดำเนินงาน ก่อนจะติดปีกทะยานในปี 2555
สุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงินกลุ่มบริษัทโกลว์ ยอมรับกับกรุงเทพธุรกิจ Biz Week ว่า ปีนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมคงลดลงประมาณ 5% จากปัญหาเศรษฐกิจ “ไตรมาส 4 ปีที่แล้วลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีของเราหลายรายหยุดการผลิตไปเลย ส่วน 4 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-เมษายน) เริ่มดีขึ้นแต่ยังถือว่าน้อยกว่าปกติ”
ผู้บริหารรายนี้ บอกว่า ถ้าไม่ใช่ปี 2551 (มีรายได้รวม 33,854 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,539 ล้านบาท) ก็อาจจะเป็นปีนี้ที่รายได้รวมของบริษัทจะอยู่ใน “จุดต่ำที่สุด” เนื่องจากปี 2552 จะเป็น “ปีสุดท้าย” ที่โกลว์ พลังงาน ไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเลย
สำหรับรายได้ใหม่ที่จะเข้ามา ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกำลังการผลิต 115 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิงจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในสิ้นปี 2552 ปัจจุบันสามารถเซ็นสัญญากับลูกค้าได้แล้ว 70% มั่นใจว่าปีหน้าเศรษฐกิจดีขึ้นจะขายได้หมด และสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและไอน้ำ กำลังการผลิต 382 เมกะวัตต์เทียบเท่า จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2554
เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้า IPP ขนาด 660 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2554 เช่นกัน ซึ่งโครงการขยายโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทั้ง 3 โครงการนี้กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
ส่วนทิศทางผลการดำเนินงานในปี 2552 นี้ มือการเงินกลุ่มบริษัทโกลว์ ให้ความมั่นใจว่า แม้ความต้องการไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมจะลดลงกว่าทุกปีแต่กำไรสุทธิอาจจะ “ไม่ลดลง” ตาม ปีนี้ “มาร์จิน” น่าจะดีกว่าสองปีที่ผ่านมาเพราะช่วงปี 2550-2551 ต้นทุนพลังงานใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาตลอด แต่ กฟผ.ซึ่งเป็นคู่สัญญาไม่ได้มีการปรับเพิ่มค่าเอฟทีตามราคาพลังงานเลย ตรงกันข้ามในปี 2552 ที่ต้นทุนราคาเชื้อเพลิงปรับลดลงมาก
เพราะฉะนั้นสถานการณ์ในปี 2552 จะเป็นว่าดีมานด์ลดลงแต่มาร์จินดีขึ้น และเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่มีการปรับลดค่าเอฟทีลงแน่นอนเพราะต้องชดเชยผลขาดทุนสองปีย้อนหลัง แต่ถ้าปรับขึ้นก็ยิ่งเป็นผลดีกับโกลว์ ที่ประเมินว่าค่าเอฟทียังต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ 30 สตางค์
สุทธิวงศ์ มองโลกในแง่ดีว่า ถ้าลูกค้าอุตสาหกรรมขยายตัว บริษัทเคยมองถึงการเพิ่มทุนด้วยซ้ำแต่ถึงตอนนี้ไม่มีความจำเป็นแล้ว ที่ผ่านมาโกลว์ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ 3 ฉบับ กับธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และทหารไทย วงเงิน 6,000 ล้านบาท สามารถรองรับการลงทุนตามแผนได้จนถึงประมาณเดือนมีนาคม 2553 เงินกู้ดังกล่าวมีอายุประมาณ 4.5 ปี โดยมีต้นทุนทางการเงินรวมต่ำกว่า 4.9% ต่อปีคงที่ตลอดอายุเงินกู้
โกลว์ยังคงมีแผนที่จะจัดหาเงินทุนอีก 9,000 ล้านบาทในปี 2553 และ 7,000 ล้านบาทในปี 2554 เพื่อใช้ลงทุนตามแผนการลงทุนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เมื่อแผนการลงทุนเสร็จสิ้นจะทำให้กำลังการผลิตรวมของกลุ่มบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 67% จาก 1,966 เมกะวัตต์เทียบเท่าในปัจจุบัน เป็น 3,275 เมกะวัตต์เทียบเท่าในสิ้นปี 2554
สำหรับสถานะการเงินกลุ่มโกลว์ เขาอธิบายว่า ปัจจุบันมี EBITDA ปีละ 8,000 ล้านบาท แต่ถ้ามีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ จะมี EBITDA เพิ่มขึ้นเกิน 50% แน่นอน เพราะ 2 โรงไฟฟ้าใหม่จะใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งต้นทุนต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติมาก
ส่วนเรื่องของหนี้ต่อทุน (D/E Ratio) อยู่เกือบๆ 1 เท่า และจะทยอยเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี 2554 โดยไปหนักที่โรงไฟฟ้า IPP แม้ว่าจะถือหุ้นสัดส่วน 65% แต่ระบบบัญชีใหม่ทำให้ต้องรับภาระหนี้ 100% แต่รับรู้รายได้เท่ากับสัดส่วนการถือหุ้น แต่เมื่อเริ่มเดินเครื่องผลิตรายได้ที่เข้ามาจะทำให้หนี้ค่อยๆ ลดลง
“ธุรกิจโรงไฟฟ้าถ้าเปรียบเป็นการขับรถก็เหมือนวิ่งทางตรงเพราะรายได้แน่นอน จะให้วิ่งแค่ความเร็ว 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ดูไม่คุ้ม เราจึงมีช่องพอที่จะขอกู้แบงก์มาขยายธุรกิจได้”
ส่วนสาเหตุที่ไม่ออกหุ้นกู้ เพราะมองว่าตอนนี้ต้นทุนการออกหุ้นกู้สูงกว่ากู้เงินจากธนาคารมาก แต่เชื่อว่าทุกธนาคารยินดีที่จะปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งยังคิดดอกเบี้ยไม่แพงด้วย
อย่างไรก็ตาม โกลว์ตั้งเป้าที่จะคงเครดิตเรทติ้งไว้ที่ระดับ A จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ส่วนนโยบายการชำระหนี้คืนนั้นจะคง EBITDA ต่อปีมากกว่า 5 เท่าของภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เพื่อที่จะคงกระแสเงินสดไว้ปีละ 6,500 ล้านบาท โดยใช้ในการคืนหนี้ 3,000 ล้านบาท ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า 1,000 ล้านบาท และจ่ายเงินปันผล 2,500 ล้านบาท โดยในปี 2551 ที่ผ่านมาจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 1.736 บาท เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,539 ล้านบาท
“เราจำเป็นที่จะต้องคงกระแสเงินสดให้คงที่เพื่อการันตีว่าจะไม่จ่ายปันผลน้อยลงแม้จะมีการลงทุนใหญ่เพราะผู้ถือหุ้นที่มาลงทุนต้องการผลตอบแทนที่แน่นอน”
มือการเงินกลุ่มบริษัทโกลว์ ฝากไปยังผู้ถือหุ้นว่า ขอให้อดใจรออีกนิดช่วงนี้อาจเป็นช่วงที่เติบโตช้านิดนึง แต่เห็นอนาคตที่สดใสรออยู่เบื้องหน้าแล้ว เพราะอีก 2-3 ปีข้างหน้ารายได้กลุ่มโกลว์จะเติบโตแบบพรวดพราดและเป็นหุ้นโรงไฟฟ้าที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มเพราะคู่แข่งรายอื่น (RATCH และ EGCO) จะไม่มีสตอรี่ใหม่เลย
ส่วนการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นใหญ่ (GDF SUEZ) ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งต้องกลายมาเป็นบริษัทพลังงาน “รัฐวิสาหกิจ” สุทธิวงศ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลฝรั่งเศสเข้ามาถือหุ้นเพื่อเสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนในประเทศไทยอย่างแน่นอน
ในตลาดหุ้นมีคำกล่าวว่า…นกที่จับได้แล้วตัวเดียว ย่อมมีค่ามากกว่านกในพุ่มไม้ (ที่ยังจับไม่ได้) เป็นฝูง หุ้น GLOW ถ้าจับให้มั่นในช่วงที่ราคาปรับตัวลดลง วันข้างหน้าจะสร้างผลตอบแทนให้อย่างคุ้มค่า…