แบบอย่างสตรีสร้างสรรค์สังคม


แบบอย่างสตรีสร้างสรรค์สังคม
 
วันที่ : 4 กันยายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : Hi-Class
 
             ผู้หญิง กับ บทบาทของความเป็น ‘แม่’ นั้นมักเป็นสิ่งที่มาควบคู่กัน ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ผู้หญิงที่ทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วน ในบทบาทต่าง ๆ ทั้งภรรยา แม่ ทำงานนอกบ้าน รวมทั้งสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวอย่างเต็มที่ เพื่อมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ยังคงมีจำนวนไม่มากนัก
             ทั้ง ๆ ที่ ในความเป็นจริง ผู้หญิงนั้นมีศักยภาพภาพและมีพลังเชิงบวกในการร่วมสร้างสรรค์สังคมได้เป็นอย่างมาก

             จากการที่ได้อ่านหนังสืออัตชีวประวัติของบุคคลต่าง ๆ มาโดยตลอด มีประวัติสุภาพสตรีหมายเลข 1 ท่านหนึ่งที่ผมชื่นชมในปรัชญาความคิด ลักษณะชีวิต และวิถีการดำเนินชีวิตของท่านเป็นอย่างมาก นั่นคือ อิลินอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา ภรรยาของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt)
             อิลินอร์ รูสเวลต์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ผู้มีอิทธิพลต่อโลกมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 โดยนิตยสารไทมส์ ผู้เขียนชีวประวัติของเธอได้กล่าวสรุปไว้ว่า เธอเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่มีอิทธิพลมากที่สุด ผู้เปิดทางให้กับผู้หญิงและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคมให้เกิดขึ้นทุกแห่ง
             ชีวิตของเธอน่าจะให้บทเรียนและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้หญิงทุกคน เพราะเธอมีลักษณะชีวิตที่โดดเด่นหลายประการ อาทิ

             ความคิดแง่บวก
ไม่จมอยู่กับความเศร้า ความไม่สมหวัง

             อิลินอร์จะไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง เข้มแข็ง และก่อคุณประโยชน์ได้อย่างมากมาย หากเธอมองโลกในแง่ลบ เพราะสถานการณ์ในชีวิตหลากหลายประการล้วนแล้วแต่สำทับให้เธอสิ้นหวังในการดำเนินชีวิตได้มากมายเหลือเกิน นับตั้งแต่ในวัยเด็ก แม้ว่า อิลินอร์มาจากครอบครัวที่มั่งคั่ง ลุงของเธอคือ ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) แต่ในวัยเด็กเธอมีชีวิตที่น่าเศร้า เธอถูกมารดาของเธอหัวเราะเยาะ และไม่ค่อยจะชอบเธอเท่าไหร่ ด้วยเหตุที่เธอมีหน้าที่ไม่สวย ส่วนพ่อของเธอนั้นติดสุราอย่างหนัก และเธอต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ปี
             ในช่วงต้นของการแต่งงานกับญาติห่าง ๆ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เธอต้องทนอยู่กับความรู้สึกไม่มีความสุข แต่เธอก็สามารถทำหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดีของลูก 6 คน และในช่วงหนึ่งของชีวิต ความทุกข์อีกเรื่องได้เข้ามาสำทับ นั่นคือเมื่อรู้ว่าสามีไปมีหญิงอื่น ตอนแรกเธอตัดสินใจจะเลิกกับเขา แต่เมื่อเขายอมเลิกกับหญิงคนนั้นและอยู่กับเธอต่อไป สิ่งที่เธอทำกับเขาคือ การให้อภัยและยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นภรรยาและ “ผู้ช่วยประธานาธิบดี” ได้อย่างดีเลิศต่อไป โดยเฉพาะ ในช่วงที่สามีของเธอไม่สามารถเดินได้เนื่องจากเป็นโรคโปลิโอ เธอได้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “ตาและหู”  ให้กับเขา เธอเดินทางไปทั่วประเทศ พบปะพูดคุยกับประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามีสามารถทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐต่อไปได้อย่างดีที่สุด

             อิลินอร์เป็นสตรีที่มีความเข้มแข็งในใจ เป็นผู้ที่ไม่เคยยอมจำนนต่อโชคชะตา แต่มุ่งมองไปข้างหน้า คำกล่าวหนึ่งที่สะท้อนความคิดแง่บวกเของเธอ เธอกล่าวว่า คนคิดแง่ลบสะดุดท่อนไม้ แต่สำหรับคนคิดแง่บวก ท่อนไม้นั้นคือบันไดสำหรับการก้าวสูงขึ้น”
 
             ความเที่ยงธรรม มุ่งมั่นทำสิ่งดี ด้วยใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ

             เธอเป็นสตรีที่มีใจเที่ยงธรรมและยึดหลักการ เห็นแก่ความถูกต้องมากกว่าเห็นแก่ความสัมพันธ์ส่วนตัว ระหว่างช่วงเวลาที่เธอดำรงตำแหน่งสตรีหมายเลขหนึ่ง (ค.ศ.1933-1945) เธอเป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิให้กับพลเมือง สิทธิสตรี และคนยากจน โดยแสดงออกอย่างชัดเจนในการเรียกร้องสิทธิที่คนเหล่านี้พึงมีพึงได้ แม้ต้องเกิดความขัดแย้งกับพรรคการเมืองที่สามีของเธอสังกัดอยู่ในการต่อต้านการออกกฎหมายที่มิได้ให้สิทธิคนผิวสีอย่างเท่าเทียม

             อิลินอร์ทำสิ่งต่าง ๆ มิใช่ด้วยมุ่งหวังชื่อเสียง หรือทำเพราะอยู่ในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง แต่ในทางตรงกันข้าม เธอต้องการให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นจริง ๆ แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่เธอยังคงเชื่อมั่นในสิ่งที่คิด มุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ โดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เธอกล่าวว่า ทำในสิ่งที่หัวใจของคุณบอกว่าถูกต้อง – เพราะไม่ว่าคุณจะทำหรือไม่ทำ คุณก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี

             เธอเป็นสตรีที่มีความกล้าหาญอย่างมาก เธอไม่เพียงแต่เป็นสตรีที่ปฏิเสธความกลัว แต่ยังเป็นผู้สร้างพลังบันดาลใจผลักดันให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากความกลัว และกล้าหาญในการยืนหยัดเรียกร้องสิทธิของตนด้วย หลังจากที่ประธานาธิบดี รูสเวลต์ สามีองเธอเสียชีวิตลง เธอได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในองค์การสหประชาชาติ และมีส่วนร่วมร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งท่านใดที่จะสามารถมีอิทธิพลต่อสหรัฐอเมริกา และต่อโลกได้เท่ากับอิลินอร์ รูสเวลต์เลย
             แอดไล สตีเวนสัน (Adlai Stevenson) รัฐบุรุษของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงเธอในคำไว้อาลัยว่า “เธอชอบที่จะจุดเทียนมากกว่าที่จะสบถด่าความมืด และแสงที่เปล่งออกมาจากเธอนั้นได้ทำให้โลกนี้อบอุ่นขึ้น”
             หากผู้หญิงทุกคนได้มีโอกาสอ่านประวัติของอิลินอร์ รูสเวลต์ อย่างละเอียด ผมเชื่อมั่นว่า คงได้รับแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตอย่างมีความหวังและอย่างมีคุณค่า ด้วยใจที่เข้มแข็งและกล้าหาญเช่นเดียวกับสตรีหมายเลขหนึ่งท่านนี้ อันจะช่วยส่งผลให้เกิดพลังสร้างสรรค์สังคมไทยให้งดงามยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้
 


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *