แบบของการจดจำของมนุษย์กับกระบวนการเรียนรู้

แบบของการจดจำของมนุษย์กับกระบวนการเรียนรู้
โดย ผศ.ดร. สมชาย ธนสินชยกุล
โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น (สกว.)

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในธรรมชาตินั้น ไม่ให้โอกาสใครเลยที่จะหยุดการติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและอวกาศ ยิ่งเมื่อตามสืบสอบค้นหาความจริงของการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างมากเท่าใด ก็จะพบว่าไม่มีที่ใดเวลาใดที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย การเปลี่ยนแปลงกับการรับรู้ของมนุษย์ที่เฝ้าติดตามเกี่ยวพันกันด้วยคำว่า “วิทยาศาสตร์” จึงเป็นภาพเหตุการณ์อันต่อเนื่องยิ่งเสริมสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้” มีการสืบสอบ ค้นคว้า ทดลองแล้วก็จดจำ บันทึก พร้อมทั้งการสื่อสารในทุกรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าความเข้าใจของมนุษย์ที่ได้รับฟังข้อมูลสิ่งเดียวกันในเวลาเดียวกันและจากบุคคลเดียวกัน ทำไมมนุษย์แต่ละบุคคลจึงมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน และเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานมากขึ้นเท่าใดยิ่งเห็นความแตกต่างของการจดจำของบุคคลเหล่านั้น หรือในเวลาหนึ่งความจำเหล่านั้นอาจเลือนหายไปจนหมดสิ้น ตรงกันข้ามกับการจดจำแบบหนึ่งที่มนุษย์เก็บเอาการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ที่ใกล้ตัว โดยที่กระทบต่อความเป็นตัวตนของตนอย่างมากหรือมากที่สุดตามเส้นทางการดำเนินชีวิต และรวบเอาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดผนวกเข้ากับเหตุการณ์นั้นแล้วจัดเก็บไว้เป็น ..ความทรงจำ

สิ่งที่เรียกว่า “ความทรงจำ” นี้มีความพิเศษที่น่าสนใจคือ ข้อมูลนี้เก็บไว้ในสมองหรือที่ใดที่หนึ่งก็ตาม มนุษย์จะไม่มีการลืมเลือนของข้อมูลเลยแม้เวลาจะผ่านเนิ่นนานเพียงใด เมื่อมีการสื่อสารนำข้อมูลออกมาแสดงภายนอกให้ผู้อื่นรับรู้ยิ่งบ่งบอกถึงความพิเศษมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงเพียงแต่นึกชื่อของเหตุการณ์นั้นด้วยข้อความสั้นๆ ข้อมูลที่เก็บไว้ทั้งหมดก็ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นระเบียบไม่มีการตกหล่นของข้อมูลแม้แต่น้อย ข้อมูลที่ถูกจัดแสดงออกมาเป็นบรรยากาศที่มีความรู้สึกถึงอารมณ์ ภาพเคลื่อนไหว เปรียบได้ดั่งภาพยนตร์ที่มนุษย์เรียกกันทีเดียว คำถามจึงเกิดขึ้นในใจของผู้สอน ผู้วิจัยงานทางนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า

ถ้ามนุษย์สร้างการจดจำจากการเรียนรู้เสมือนการจดจำด้วยความทรงจำจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของสมองหรืออย่างน้อยก็ทำให้การบันทึกของสมองมีระเบียบมากยิ่งขึ้นหรือไม่ และถ้าเป็นอย่างที่คาดหวังไว้ มนุษย์จะสร้างรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างไรให้เหมาะต่อการเก็บเหมือนข้อมูลความทรงจำ ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าพิศวงกับการเก็บข้อมูลแบบความทรงจำนี้ และพาให้คิดถึงคำพูดที่ว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากเท่าใด ยิ่งเสมือนอยู่ไกลจากความเข้าใจของมนุษย์มากเท่านั้น เหตุผลก็คือวิทยาศาสตร์ที่อธิบายสิ่งที่ใกล้ตัวนั้นละเอียดมากขึ้นๆทุกขณะ

“ความทรงจำ” นี้มีความพิเศษที่น่าสนใจคือ ข้อมูลนี้เก็บไว้ในสมองหรือที่ใดที่หนึ่งก็ตาม มนุษย์จะไม่มีการลืมเลือนของข้อมูลเลยแม้เวลาจะผ่านเนิ่นนานเพียงใด

ดังนั้นการค้นหาสิ่งใหม่ที่ใกล้ตัวจึงเป็นการค้นพบที่ยากมากเช่นกัน ในเบื้องต้นชวนให้คิดประเด็นการสืบค้นเสาะหา ประเด็นแรกคือ มนุษย์มีการจดจำเป็นแบบใดบ้างและมีลักษณะอย่างไร ประเด็นที่สองว่าด้วยการสร้างรูปแบบหรือจัดลักษณะข้อมูลเป็นแบบใด จึงจดจำอย่างมีระเบียบได้ข้อมูลมากและจดจำนานที่สุด ทั้งสองประเด็นนี้ว่าด้วยการเลียนแบบความจำแบบความทรงจำเป็นเอก ตามด้วยการเชื่อมต่อของการทำงานของสมองประสานงานกันกับการเรียนรู้ของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่ไม่หยุดนิ่ง โดยทั่วไปคล้ายกับว่ามนุษย์กำลังค้นหาคำตอบที่อยู่ในตนเองให้เห็นความเป็นจริงแห่งการจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั่นเอง

การจดจำของสมองมนุษย์ตามการประมวลและลักษณะของข้อมูลที่จัดเก็บ แบ่งออกได้เป็น 4 แบบด้วยกันคือ

1. การจดจำแบบเข้าใจจากจิต (แบบซึมติดยึดแน่นในสมอง) การเก็บข้อมูลและจดจำแบบนี้เรียกให้เข้าใจง่ายก็คือ ความทรงจำ นั่นเอง จะเห็นว่ามีความเข้าใจมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการอธิบายให้เข้าใจนั้นไม่ง่ายนัก เพราะลักษณะของข้อมูลที่จัดเก็บไม่ได้เป็นตัวเลขหรือตัวอักษร แต่ข้อมูลถูกจัดเก็บเป็นแฟ้มข้อมูลเสมือนภาพยนตร์และรวมกับความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ไว้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นจึงอธิบายแบบฟิล์มของภาพยนตร์ ถ้าเรียกชื่อแฟ้มของข้อมูลดังกล่าวเช่น เรียกเหตุการณ์ประทับใจมาสักหนึ่งเรื่อง จะเห็นการฉายภาพเคลื่อนไหวในหัวสมองทันที และต่อเนื่องจนกระทั่งจบเหตุการณ์นั้นลงอย่างสมบูรณ์ ดังนี้จะเกิดความเข้าใจได้ทันทีว่าการเก็บและแสดงข้อมูลแบบเข้าใจจากจิตนั้นเป็นอย่างไร ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าถ้าอธิบายด้วยคำพูดจะไม่เห็นจริง คงได้แต่อ้างถึงฟิล์มของภาพยนตร์ให้เข้าใกล้ถึงความเข้าใจอันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือลักษณะของข้อมูลความจำแบบนี้มี ความเป็นระเบียบ มีการเคลื่อนไหวและแสดงอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะสร้างข้อมูลขึ้นต้องมีลักษณะดังกล่าวแน่นอน

ตัวอย่างของความทรงจำที่นำมาแสดงนี้ เป็นการเก็บข้อมูลภาพยนตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการสร้างด้วยตัวตนของมนุษย์เอง สิ่งที่จะนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างข้อมูลแบบเข้าใจจากจิตนี้ ที่ดีที่สุดคือ กระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจคำว่า “กระบวนการเรียนรู้” ก็มีความแตกต่างกันอยู่มากเช่นกัน ในที่นี้กระบวนการเรียนรู้ก็มีลักษณะสำคัญเหมือนคุณลักษณะของข้อมูลที่เก็บแบบเข้าใจจากจิตนั่นเอง

มีลักษณะดังนี้

1.จัดเป็นระเบียบ คือ การเรียงร้อยต่อกันของขบวนการอย่างอนุกรมไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งได้ (แผนการเรียนรู้)
2.มีการเคลื่อนไหวคือ บันทึกความเป็นไปทั้งหมดของกลไกและ/หรือกระบวนการที่เกิดขึ้นตามข้อมูลที่จัดระเบียบ
3.แสดงอย่างต่อเนื่องคือ การนำเสนอข้อมูลที่จัดระเบียบไว้ด้วยกับกลไกและ/หรือกระบวนการบันทึกข้อมูลจากเริ่มต้นจนจบสมบูรณ์ด้วยความร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียว ทั้งสามประการนี้รวมเรียกว่า กระบวนการเรียนรู้ ความแตกต่างของความเข้าใจก็คือการเข้าใจเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของทั้งสามประการนี้จะเกิดความเข้าใจแบบไม่ครบถ้วน ดังนั้นการจดจำจึงไม่สามารถกระทำได้ครบถ้วนเนื่องจากการเก็บข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง ข้อมูลที่มนุษย์จัดเก็บด้วยแบบความจำนี้ เช่น กลไกและกระบวนการคิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น

2. การจดจำแบบประทับบนจิต (แบบภาพปะติดสนิทบนเนื้อของสมอง) ความจำแบบนี้มีการใช้ในมนุษย์เนื่องจากลักษณะของข้อมูลนั้นมีข้อกำหนดน้อยกว่าแบบแรก ข้อมูลแบบนี้มีลักษณะเหมือนภาพหรือแผนผังนั่นเอง การจดจำจึงจำแบบภาพ ถ้าข้อมูลที่เป็นตัวอักษรจะถูกรวบรวมจัดเรียงเป็นแผนผังหรือโมเดลแล้วส่งเก็บจดจำไว้ จะเห็นได้ว่า การเก็บข้อมูลของสมองจะเก็บเสมือนฟิล์มของกล้องถ่ายรูปซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหว ตัวอย่างที่มนุษย์จดจำข้อมูลจากภายนอกตนเอง เช่น ถ้าเรียกชื่อแฟ้มข้อมูลชื่อ…นิมิต (เพื่อนสนิท)… ข้อมูลที่ปรากฏขึ้นจะเป็นภาพของเพื่อนชื่อนิมิตที่จัดเก็บไว้ในสมองแสดงขึ้นมาทันที ภาพนี้จะมีอายุเท่ากับเวลาที่จัดเก็บ ถ้าเรียกชื่อแฟ้มเป็นภาพของนิมิตขึ้นมาบางครั้งจะนึกชื่อนิมิตไม่ออก จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่เก็บแบบภาพจะมีระยะเวลาการจัดเก็บนานกว่าการเก็บแบบตัวอักษร

อีกตัวอย่างหนึ่งที่มนุษย์นำเอาภาพจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและใช้การจดจำแบบประทับบนจิตในการเก็บข้อมูลได้แก่ ชาวจีนที่พัฒนาอักษรจีนมาจากธรรมชาติโดยวาดภาพ สิ่งของ หรือธรรมชาติมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการประดิษฐ์ตัวอักษรจีน ในการจัดเก็บบันทึกตัวอักษรเหล่านี้จะจดจำแบบภาพไม่จดจำด้วยการประมวลของสมอง(ตัวอักษร) ถ้าประมวลด้วยสมองจะจำการขีดเส้นครั้งละหนึ่งเส้นต่อกันและขีดจนครบ แต่การจดจำแบบภาพจะเห็นตัวอักษรทั้งตัวปรากฏขึ้น แล้ววาดภาพนั้นออกมาเป็นตัวอักษรดังกล่าว ลักษณะข้อมูลที่สร้างขึ้นนั้นจะเป็นการจัดเป็นระเบียบ คือ การเรียงร้อยต่อกันของขบวนการอย่างอนุกรมไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งได้ ได้แก่ การจัดข้อมูลที่เรียกว่า …แผนการเรียนรู้… ตัวอย่างเช่น วิธีการสร้างผลผลิตหรือสิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น การจดจำแบบนี้จะสามารถจดจำขั้นตอน วิธีการหรือภาพ แต่ไม่สามารถจดจำกลไก (mechanism) ทั้งหมดได้ แต่อย่างไรก็ตามการจดจำทั้งแบบเข้าใจจากจิตและแบบประทับบนจิตสามารถเชื่อมต่อและแสดงร่วมกันได้

3. การจดจำแบบประมวลโดยสมอง เป็นการเก็บข้อมูลโดยการบันทึกตัวอักษรที่ร้อยเรียงเป็นประโยคหรือวลี ด้วยการท่องจำหรือเข้าใจความหมายของกลุ่มอักษรนั้นๆ ซึ่งโดยปกติมนุษย์จะจดจำแบบนี้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ลักษณะข้อมูลที่จัดเก็บเป็นแฟ้มข้อมูลของกลุ่มตัวอักษรจะมีขนาดแฟ้มข้อมูลเล็กกว่าแบบเข้าใจจากจิตและแบบประทับบนจิตอยู่มาก

ในทางตรงกันข้ามแฟ้มข้อมูลขนาดเล็กจะถูกลืมหรือตัดทิ้งได้ง่ายกว่าและระยะเวลาในการจดจำจะสั้นกว่า ทั้งสองแบบที่กล่าวข้างต้น เมื่อสมองบันทึกแฟ้มข้อมูลแบบนี้มากขึ้นๆ ก็จะมีการกำจัดแฟ้มข้อมูลที่ไม่ได้นำมาใช้ทิ้งไป เพื่อจดจำบันทึกแฟ้มข้อมูลใหม่แทนที่ จึงมีการหลงลืมข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ลักษณะของข้อมูลแต่ละประโยคหรือแต่ละวลีไม่เรียงร้อยต่อกัน จึงมีความหมายเฉพาะภายในประโยคหรือวลีนั้นๆ ดังนั้นเวลาจัดเก็บหรือเรียกออกมาใช้จึงสลับกันไปมาได้ ลักษณะข้อมูลที่สร้างขึ้นจะเรียกว่า…แผนกิจกรรม… เช่น การเตรียมการดำเนินกิจกรรม, การจัดเตรียมอุปกรณ์การสร้างผลผลิต เป็นต้น

4. การจดจำแบบไม่มีระบบ (แบบไม่ใช้จิตและประมวลจากสมอง) เป็นการเก็บบันทึกข้อมูลโดยไม่มีการจัดเรียงคือ ไม่มีแผนในการจัดเก็บ ดังนั้นข้อมูลถูกส่งไปจัดเก็บเป็นประโยคหรือวลีเดี่ยวๆ ไม่สัมพันธ์กับข้อมูลอื่นๆ เลยและที่น่าสังเกตว่าข้อมูลแบบนี้ไม่สร้างให้เกิดความเข้าใจได้เลย เป็นเพียงการจดจำตัวอักษรเท่านั้น ข้อมูลที่เก็บไว้จะถูกกำจัดทิ้งไปได้ง่ายมาก หรือเป็นเพียงข้อมูลที่ถูกส่งผ่านไปยังสมองแล้วไม่เกิดการจดจำคือ ข้อมูลนั้นถูกส่งผ่านออกไปเพราะเป็นเพียงการรับรู้ของการได้ยินเท่านั้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีความสนใจในการรับรู้นั่นเอง เช่น นักเรียนที่ไม่สนใจเรียน ในขณะที่คุณครูสอนนักเรียนจะนึกถึงของเล่นและสมองพิจารณาถึงของเล่นชิ้นนั้น ขณะที่หูได้ยินเสียงคุณครูบ้างไม่ได้ยินบ้าง จึงไม่มีการเก็บบันทึกข้อมูลที่ได้ยิน ลักษณะข้อมูลแบบนี้เรียกว่า…กิจกรรม…. โดยสรุปคือ ไม่มีแบบแผนและไม่มีระบบในการจัดเก็บข้อมูลนั่นเอง

แผนผังแสดงถึงความสัมพันธ์กิจกรรมการเรียนรู้ สามารถจัดให้เป็นแผนกิจกรรมซึ่งอาจจะมีแผนการเรียนรู้ซ่อนอยู่ภายใน และมีกระบวนการเรียนรู้ซ่อนอยู่ในแผนการเรียนรู้ซึ่งเป็นแกนกลางในการจัดการความรู้ที่มีความสำคัญที่สุด กระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์สร้างผลผลิตและองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้ด้วยความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะและกลไก ในขณะที่แผนการเรียนรู้หรือขบวนการเรียนรู้เป็นเพียงอุปกรณ์ให้มนุษย์เข้าใจสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วเช่น การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หรือติดตามสิ่งที่ผู้อื่นได้สร้างขึ้นมาแล้วด้วยการลอกเลียนแบบ ส่วนแผนกิจกรรมเป็นการเตรียมการเพื่อดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมเป็นแค่การชื่นชมผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ซึ่งได้แต่รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและใช้ประโยชน์ในนามผู้บริโภคเทคโนโลยี การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้วยกระบวนการเรียนรู้จะนำไปสู่ความเข้าใจซึ้งการเปลี่ยนแปลงแห่งธรรมชาติ สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการสร้างเทคโนโลยีในโลกแห่งอนาคต

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *