แบงก์ไทย แบงก์นอก

แบงก์ไทย แบงก์นอก

การตัดสินใจออกเงินด้วยการฝากกับธนาคารพาณิชย์ถือว่าเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมที่สุดโดยเฉพาะในภาวะที่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน การออมหรือเก็บเงินไว้กับสถาบันการเงินน่าจะเป็นทางเลือกที่ครอบครัวส่วนใหญ่นิยมกัน จึงมักมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่าถ้าจะฝากเงินกับธนาคารจะเลือกฝากกับแบงก์ไหนดี คำว่า “ดี” ในที่นี้ ดิฉันเข้าใจว่าส่วนใหญ่มักมีการนำเอาเรื่องผลประโยชน์ของตนเองมาเป็นที่ตั้ง เช่น เรื่องความน่าไว้วางใจ ภาพลักษณ์ที่ดีในการดำเนินธุรกรรมทางด้านการเงินหรือแม้แต่เรื่องดอกเบี้ยที่ผู้ฝากจะได้รับ จึงทำให้การเลือกฝากเงินสำหรับผู้ที่ได้เงินทั้งจากการลงทุน เงินมรดก หรือแม้แต่รายได้อื่นๆ ต้องเลือกสรรสถาบันการเงินกันมากเป็นพิเศษนอกจากความคิดที่ว่าจะเลือกแบงก์ไหนดีที่สุดแล้ว
สำหรับเจ้าของเงินจำนวนไม่น้อยคิดลึกซึ้งไปกว่านั้นอีก นั่นก็คือจะเลือกฝากกับสถาบันการเงินที่เป็นของคนไทยหรือต่างชาติดีกว่ากันเนื่องจากปัจจุบันนี้การเปิดเสรีทางด้านการเงิน ทำให้มีทั้งธนาคารที่เป็นของคนไทยทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ เป็นทางเลือกมากมาย
ส่วนธนาคารพาณิชย์ของต่างชาติที่มาดำเนินธุกรรมแข่งขันกับธนาคารของไทยนั้น เชื่อว่าพวกเราก็ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะในช่วงที่ผ่านมาได้ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักกันเป็นอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร Standard Chartered, CitiBank หรือ HSBC เป็นต้น
เมื่อคนส่วนใหญ่มีทางเลือกที่จะบริการของธนาคารพาณิชย์เหล่านี้มากขึ้น ย่อมทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจและมีการเปรียบเทียบมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกฝากเงินด้วยตนเองอย่างเสรี มีการพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัยส่วนผู้ที่ไม่มีทางเลือกและถูกบังคับด้วยหน้าที่หรือแม้แต่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับธนาคารที่ตนเองไม่ได้เลือก เนื่องจากหน่วยงานบริษัท หรือสถานประกอบการเป็นผู้เลือกแทน เช่น ข้าราชการทั่วไปส่วนใหญ่ต้องเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ เพราะรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคารดังกล่าว หรือผู้รับราชกาลทหารก็จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับธนาคารธหารไทยบริษัทเอกชนทั่วไปก็มักถูกบังคับให้ไปเปิดบัญชีกับธนาคารที่องค์ติดต่อไว้สำหรับจ่ายเงินเดือน เป็นต้น แต่ดิฉันเชื่อว่าคนส่วนหนึ่งได้เลือกเปิดบัญชีเงินเพื่ออมเงินกับธนาคารที่ 2 และมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารต่างๆ มากกว่า 2 แห่งค่ะ
บริการดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
สำหรับผู้ที่มีทางเลือกธนาคารที่ 2 อย่างไรดิฉันจะขอกล่าวเฉพาะผู้ที่เลือกใช้บริการธนาคารพาณิชย์ของคนไทยก่อนนะคะ จากการได้ออกภาคสนามเพื่อสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ แม้จะเป็นการวิจัยเพื่อการบริโภคสินค้าทั่วไปแต่ในหัวข้อสำรวจก็ได้มีการพูดถึงการออมเงินและการฝากเงินในธนาคารด้วยเช่นกัน ซึ่งดิฉันก้เชื่อว่าพฤติกรรมการฝากเงินของกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นน่าจะคล้ายกับคนไทยส่วนใหญ่ค่ะ
เมื่อมีสิทธิ์เลือกได้คนส่วนใหญ่มักเลือกฝากเงินกับธนาคารที่มีบริการสะดวกสบาย ให้บริการรวดเร็ว และส่วนหนึ่งจะเลือกฝากเงินกับธนาคารที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการนำเงินไปฝากหรือแม้แต่การไปถอนเงินมาใช้ อย่างไรก็ตามสำหรับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีเงินฝากจำนวนมากๆ พอที่จะเห็นตัวเลขของดอกเบี้ยเป็นกอบเป็นกำ มักไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเท่าใดนัก ส่วนใหญ่เน้นเรื่องความปลอดภัยที่ไม่ต้องเก็บเงินสดไว้กับตัวเอง และมีความสะดวกในการฝากและถอนเงินเท่านั้น
แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้จำนวนมากจากการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การมีรายได้จากมรดกจำนวนมาก ก็มักมีการเปรียบเทียบเรื่องดอกเบี้ยจากธนาคารหลายๆ แห่ง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มักมีการแข่งขันกัน เช่น เงินฝากประจำ ออมทรัพย์ และกระแสรายวัน ธนาคารบางแห่งได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยอิงกับจำนวนเงินและระยะเวลาในการฝาก เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝาก วิธีการนี้รวมถึงธนาคารต่างชาติด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การฝากเงินระยะเวลา 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน เงินฝากในจำนวนเดียวกันก็จะได้รับดอกเบี้ยต่างกัน ดังนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของเงินก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าคุณจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่างกันอย่างไร เช่น หากไม่จำเป็นต้องถอนเงินมาใช้ก็อาจเลือกฝากแบบประจำนาน 12 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ได้ดอกเบี้ยสูงสุด เป็นต้น
แบงก์ไทยหรือแบงก์ต่างชาติดีล่ะ
หากมีคำถามขึ้นในใจว่าควรเลือกฝากกับธนาคารต่างชาติหรือคนไทยดี เนื่องจากทุกวันนี้การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ได้มีข้อเสนอที่ล่อตาล่อใจมากมาย ตัวอย่างเช่น การให้สิทธิพิเศษเรื่องกู้ บางธนาคารมีโครงการเงินกู้สำหรับลูกค้าเท่านั้น หรือแม้แต่ถ้าเป็นลูกค้าจะได้รับการพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อเป็นพิเศษ นอกจากนี้แล้วยังมีการแข่งขันกันทางด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ของแจกของแถม สินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต เป็นต้น
ดิฉันตอบแทนใครไม่ได้ว่าควรจะเลือกฝากเงินกับธนาคารที่เป็นของต่างชาติหรือของคนไทยดีกว่ากัน การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาเกี่ยวกับเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฝากงเนจะได้รับ เนื่องจากมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เลือกฝากกเงินกับธนาคารต่างชาติ เพราะจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ จึงต้องเลือกเป็นลูกค้าของธนาคารที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก
ทั้งนี้ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่มีแนวคิดเป็นนักอนุรักษ์นิยม เป็นคนไทยก็ต้องใช้บริการของคนไทยด้วยกัน จึงเลือกที่จะใช้บริการธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของคนไทยด้วยกันเอง โดยพิจารณาจากภาพลักษณ์การให้บริการที่ดี มีสาขาบริการอยู่ใกล้บ้าน รวมทั้งเรื่องบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนสินค้า หรือแม้แต่การให้บริการสินเชื่อ
เรื่องการเลือกฝากเงินสำหรับบางคนที่มีประสบการณ์ที่ทำให้ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ในช่วงที่สถาบันการเงินหลายแห่งถูกปิดบริการ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระดมเงินทุน การควบคุมกิจการ ก็อาจต้องมีการคัดเลือกและพิจารณาสถาบันการเงินมากเป็นพิเศษ โดยติดตามข่าวสารบ้านเมืองเรื่องการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์เป็นระยะ
สุดท้ายขอฝากข้อคิดไว้ว่า แม้ว่าเรื่องเงินจะเป็นเรื่องใหญ่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ทุกวันนี้การเปิดเสรีในการทำธุรกิจทางด้านการเงินมีการแข่งขันกันทั้งธนาคารต่างชาติและธนาคารของไทย ดิฉันเชื่อว่าหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมและดูแลการให้บริการเป็นอย่างดี จะเลือกใช้บริการแบงก์ไหนพวกเราก็ได้ประโยชน์อยู่แล้วใช่ไหมคะ!.
(ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์, นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 12 เลขที่ 135 กุมภาพันธ์ 2549)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *