แนวคิดบริหารโลจิสติกส์-ซัพพลายเชน สร้างความแข็งแกร่งอุตฯ ก่อสร้างไทย

แนวคิดบริหารโลจิสติกส์-ซัพพลายเชน สร้างความแข็งแกร่งอุตฯ ก่อสร้างไทย
Source: LogisticsDigest / มนัญญา อะทาโส .

กูรูแนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยนำระบบบริหารโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นไม้เด็ดเสริมทัพ ให้แข็งแกร่ง เน้นสร้างบุคลากรให้มีความรู้หลากหลาย-มีความยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนแปลง ก่อนผนึกกำลังทั้งซัพพลายเชนร่วมลดความสูญเสียทั้งกระบวนการ
แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นับเป็นหนึ่งในหัวใจความสำเร็จของธุรกิจหลายประเภท อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ และสามารถนำแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการโล
จิสติกส์และซัพพลายเชน มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ลดเวลา ลดต้นทุนโดยรวม

แนวทางในการปรับปรุงโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างทำได้โดยการลดความสูญเสียที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ (Waste) ซึ่งซ่อนอยู่ในกระบวนการต่างๆ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งซัพพลายเชนต้องร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล วางแผนร่วมกัน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพภายในองค์กร และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ มีความยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนแปลง

เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมก่อสร้างเห็นถึงความสำคัญ และเกิดแนวคิดในการนำโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเข้ามาสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจ สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “โลจิสติกส์และซัพพลายเชน เครื่องมือยุทธศาสตร์เสริมสร้างภูมิอุตสาหกรรมไทย” โดยมีกูรูในวงการโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยหลายท่านเข้าร่วมเสวนา

ผนึกกำลังทั้งซัพพลายเชน ร่วมลดเวลา-ลดต้นทุน
โลจิสติกส์เป็นศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการ ประกอบด้วยการวางแผน เคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม และกระจายสินค้า โดยมีหัวใจสำคัญคือผู้ประกอบการต้องส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าปลายทางได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ในต้นทุนที่เหมาะสม คุณพจมาน ภาษวัธน์ ประธานคณะทำงานโครงการโลจิสติกส์คลินิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว

สำหรับการนำแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการโลจิสติกส์เข้ามาช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถและลดต้นทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความสำคัญมาก เพราะหากสามารถวางแผนงานได้อย่างรัดกุม ลดความสูญเสีย ลดเวลาในการทำงาน ย่อมหมายถึงการลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมนั่นเอง ทั้งนี้ เรื่องการบริหารจัดการประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ เน้น 3 ประเด็นหลักคือ
1. ต้นทุนโลจิสติกส์ที่เหมาะสม สามารถแข่งขันได้ 2. มีคุณภาพ 3. อยู่ในเวลาที่เหมาะสม มีความยืดหยุ่น

ต้นทุนหลักของอุตสาหกรรมก่อสร้าง คือวัสดุและอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง โดยปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโลจิสติกส์และต้นทุน คือความสูญเสียจากการรอคอยวัสดุอุปกรณ์ที่มาไม่ตรงเวลา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในระบบซัพพลายเชนทั้งหมดไม่ได้วางแผนร่วมกัน ตั้งแต่การออกแบบ ผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ผู้ก่อสร้าง เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาการสั่งซื้อสินค้าขาด เกิน ไม่ตรงกับความต้องการ หรือล่าช้า เป็นต้น

จากการวิจัยของประเทศอังกฤษเกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้างระบุว่า 68% เกิดความสูญเสียเนื่องจากวัสดุมาไม่ตรงเวลา ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับกระบวนการก่อสร้างอื่นๆ เพราะนอกจากเวลาที่ล่าช้าแล้วยังเกิดเป็นต้นทุนแฝงอีกด้วย

ดังนั้น แนวทางในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือนอกจากการพัฒนาความสามารถด้านโลจิสติกส์ภายในองค์กรแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชนด้วย ให้ความร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในระบบซัพพลายเชน อาทิ ผู้ออกแบบ ผู้จัดหาวัสดุ ผู้ก่อสร้าง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคู่ค้า ทำให้ลดปัญหาเรื่องการใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม หรือการส่งสินค้าล่าช้า

ทั้งนี้ แนวทางในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็น คือ
1. ควรให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลตั้งแต่การออกแบบ เพื่อวางแผนในขั้นตอนต่อไปอย่างต่อเนื่อง
2. มีการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่อาจเกิดขึ้น โดยต้องมีแผนรองรับอย่างเป็นระบบว่า

หากเกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นมีแผนรองรับอย่างไร หรือมีความยืดหยุ่นอย่างไรบ้าง เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่สูญเสียเวลา
“การบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ร่วมกันหาแนวทางเพื่อลดเวลา ลดขั้นตอน ลดต้นทุน” คุณพจมาน กล่าว
ปรับองค์กรให้มีความยืดหยุ่น พัฒนาบุคลากรเสริมทัพ
ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรม-การค้าของไทย คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด แสดงทัศนะเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง พร้อมแนวทางเชิงรุกเพื่อฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมก่อสร้าง สำหรับแนวทางดำเนินการเชิงรุกนั้น ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโครงสร้างองค์กรให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความแข็งแกร่ง มีความสามารถที่หลากหลาย และพยายามลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนทั้งสิ้น

“การบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน รวมถึงการดำเนินธุรกิจเชิงรุก สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการองค์กรให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ลดความสูญเสียที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การออกแบบจนถึงก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย” คุณอิสระ กล่าว

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการองค์กรโดยการนำแนวคิดเรื่องโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้น ควรให้ความสำคัญกับประเด็นหลัก 5 ข้อดังนี้

1. ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่น รองรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ
พัฒนาบุคลากรให้สามารถทำงานได้หลากหลายมากกว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
2. ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน ลดความสูญเสีย เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือเป็น Dead Stock
ไม่ควรแบกรับไว้ เพราะก่อให้เกิดเป็นต้นทุนที่ไม่เกิดประโยชน์
3. ให้ความสำคัญกับการบริหารข้อมูล ทั้งในเรื่องต้นทุน การจัดซื้อ และระบบบัญชี อย่างถูกต้อง แม่นยำ
4. วางแผนการทำงานโดยภาพรวมอย่างเป็นระบบเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา
ผู้ประกอบการก่อสร้าง มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำเพื่อช่วยในการลดต้นทุน ลดความสูญเสียจากการรอคอยวัสดุ โดยผู้ประกอบการอาจเลือกใช้วัสดุสำเร็จรูปมากขึ้น เพื่อช่วยลดเวลา ลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่งด้วย
5. ให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องจักรอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนั้น อาจต่อยอดแนวคิดโดยมองว่า
เครื่องจักรสามารถทำงานส่วนใดเพิ่มเติมได้อีก อาจเป็นการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันก็ได้ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการหาตลาดใหม่ และพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ในภาวะปัจจุบันการสร้างผลกำไรจากการหาลูกค้ารายใหม่อาจเป็นเรื่องยาก การลดความสูญเสียจากทุกกระบวนการเพื่อช่วยในการลดเวลา-ลดต้นทุน นับว่าเป็นการเพิ่มกำไรให้องค์กรอีกทางหนึ่ง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *