แข่งกับงาน

แข่งกับงาน
พระไพศาล วิสาโล

ที่ประเทศอเมริกา ทุกปีจะมีการแข่งขันการสะกดคำ ถือเป็นงานใหญ่ระดับชาติ ซึ่งจัดติดต่อกันมา 80-90 ปีแล้ว คำที่เอามาใช้แข่งขันก็เป็นคำภาษาอังกฤษหรือไม่ก็คำต่างประเทศที่เอามาใช้กันในภาษาอังกฤษ คนที่จะเข้าแข่งขันต้องอายุต่ำกว่า 16 ปี ปีนี้มีเด็กเข้าร่วมกว่าสิบล้านคนจากทั่วประเทศ รอบสุดท้ายเขาคัดมาจนเหลือ 20 คน แล้วเอามาแข่งขันกันเองโดยมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่งจะผ่านไปเมื่อสองสามเดือนนี้เอง ปีนี้มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ก็คือ หลังจากที่การแข่งขันงวดลงมาจนเหลือเด็กแค่ 4-5 คน ตัวเก็งอันดับหนึ่งก็ได้แก่ ซามีร์ อายุแค่ 12 ปี อันดับสองชื่อ ราชีพ เป็นลูกครึ่งทั้งสองคน น่าสังเกตว่าคนที่เป็นตัวเก็งและผู้ชนะเลิศมักจะเป็นลูกครึ่ง เป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว ใครๆ ก็คาดว่าซามีร์จะเป็นผู้ชนะ แต่ปรากฏว่า ซามีร์ไปเจอคำยากสุดๆ อยู่คำหนึ่ง ซึ่งมาจากต่างประเทศ คำนั้นคือ erama causis อย่าว่าแต่จะสะกดแล้วอ่านออกเสียงยังไงอาตมาก็ไม่แน่ใจ ซามีร์สะกดไม่ได้ ก็ตกรอบไป ตัวเก็งอันดับสอง คือ ราชีพก็เลยกลายเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งแทน
ทีนี้พิธีกรเขาก็มาสัมภาษณ์ราชีพว่า ดีใจไหมที่ซามีร์ ตกรอบไป ถ้าเราเป็นราชีพเราจะตอบอย่างไร หลายคนคงตอบว่าดีใจ แต่ราชีพกลับตอบว่า “ไม่ครับ นี่เป็นการแข่งขันกับ คำ ไม่ใช่กับ คน ครับ” พอเขาพูดจบ ผู้ชมในห้องประชุมก็ปรบมือด้วยความชื่นชม เพราะนึกไม่ถึงว่าเขาจะตอบได้อย่างน่าประทับใจ คำตอบของเขา อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่ผู้ใหญ่ก็คงไม่ตอบแบบนี้ เพราะมักจะมองซึ่งกันและกันเป็นคู่แข่ง บางทีไม่ได้เห็นเป็นแค่คู่แข่ง แต่เห็นเป็นศัตรูด้วยซ้ำ แต่ว่าราชีพไม่ได้มีความคิดแบบนั้นเลย เขามองว่าคู่แข่งของเขาไม่ใช่คน แต่เป็นคำยากๆ ซึ่งเขาจะต้องเอาชนะให้ได้ นั่นคือจะต้องถอดตัวสะกดออกมาให้หมดทุกตัว ดังนั้นเมื่อซามีร์ตกรอบ ราชีพจึงไม่ได้รู้สึกดีใจ เพราะว่าเขาไม่ได้มองซามีร์เป็นคู่แข่งตั้งแต่แรก
ผู้ใหญ่ที่ดูรายการนี้คงนึกไม่ถึงว่า เด็กอายุ 12-13 จะตอบแบบนี้ คำตอบของราชีพ คงทำให้ผู้ใหญ่หลายคนสะอึก เพราะส่วนใหญ่มองว่าเด็กเหล่านี้เป็นคู่แข่งกัน หรือเข้าไปถือหางกันจนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ใครที่เชียร์ราชีพ ก็เห็นซามีร์เป็นคู่แข่ง ส่วนใครที่เชียร์ซามีร์ ก็เห็นชารีพเป็นคู่แข่ง เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นศัตรูกันเลยทีเดียว ที่จริงไม่ใช่แค่การแข่งขันเท่านั้นที่เรามักจะมองคนอื่นเป็นคู่แข่ง เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นศัตรู เวลาเราทำงานเราก็มักจะมองคนที่อยู่คนละฝ่ายหรือคนละหน่วยงานว่าเป็นคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้ามเหมือนกัน การมองแบบนี้ทำให้เราทุกข์นะ เพราะว่าจะเกิดความอิจฉาหรือเกิดความเครียดขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่ออีกหน่วยงานหรืออีกฝ่ายเขาทำงานได้ดีกว่าหรือประสบความสำเร็จได้มากกว่าเรา ทำไปๆ สักพัก เราจะเผลอแข่งให้เขาประสบปัญหา และหากเขาทำงานผิดพลาดหรือล้มเหลวเราจะมีความสุขมาก
แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมอง มาลองมองอย่างราชีพดูบ้างคือ ไม่ได้มองว่าคนหรือใครก็ตามเป็นคู่แข่ง แต่มองว่างานที่เรากำลังทำอยู่นี้ต่างหากที่เป็นคู่แข่งของเรา นั่นคือทำอย่างไรเราถึงจะทำงานของเราให้ดีที่สุด ถ้ามีอุปสรรคทำอย่างไรถึงจะเอาชนะมันได้ ส่วนคนอื่นเขาจะทำได้ดีกว่าฉันหรือไม่ ฉันไม่สนใจเพราะไม่ได้เห็นเขาเป็นคู่แข่งของฉัน การมองแบบนี้จะทำให้เราจดจ่ออยู่กับงาน ไม่วอกแวกกับเรื่องคนอื่น แล้วก็ไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร การทำงานด้วยมุมมองอย่างนี้จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
ลองสังเกตดู สาเหตุที่เรามีความทุกข์ไม่ว่าในเวลาทำงานหรือในชีวิตประจำวัน ก็เพราะเราไปมองคนอื่นด้วยความรู้สึกแข่งขันอยู่ในที เช่น มองว่าเขารวยกว่าเรา เขามีโทรศัพท์มือถือรุ่นดีกว่าเรา เขาซื้อของได้ดีกว่าเรา หรือแม้แต่ซื้อของได้ถูกกว่าเรา เวลาเราไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเห็นของชิ้นหนึ่งวางขายอยู่ริมทางราคา 500 บาท เราเห็นแล้วก็อยากได้ อุตส่าห์ต่อราคาจนลดเหลือ 300 บาท เราซื้อมาด้วยความดีใจ แต่พอเรากลับมาที่พัก ปรากฏว่าเพื่อนเราก็ซื้อได้ของอย่างเดียวกันแต่ถูกกว่าคือ 200 บาท เรารู้สึกยังไง รู้สึกไม่พอใจขึ้นมาทันทีใช่ไหม ความไม่พอใจเกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดจากการไปเปรียบเทียบกับเพื่อนว่าเขาซื้อได้ถูกกว่า ทำให้เกิดความรู้สึกตามมาทันทีว่า ฉันซื้อของแพง ๆๆ พอคิดแบบนี้ก็เลยชื่นชมไม่ลงกับของที่เราเพิ่งซื้อมา ทั้งๆ ที่เป็นของดีน่าใช้ ในทางตรงข้ามหากเพื่อนซื้อของชิ้นนั้นในราคา 400 บาท เรากลับจะดีใจหรือปลื้มใจ ทั้งๆ ที่น่าจะเสียใจที่เพื่อนของเราจ่ายเงินมากไป ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร เพราะลึกๆ เรามองเห็นเพื่อนเป็นคู่แข่ง เราไม่ได้แข่งกันเวลาเล่นกีฬาเท่านั้น แม้แต่เวลาช็อปปิ้งก็ยังอดไม่ได้ที่จะมองคนอื่นเป็นคู่แข่ง บางทีจะเลือกแฟนก็ยังคอยชำเลืองดูเลยว่าเพื่อนเราได้แฟนสวยกว่าหรือหล่อกว่าแฟนของเราหรือไม่ คำถามก็คือมองแบบนี้แล้วเราจะมีความสุขหรือ
ทุกวันนี้เราอิจฉาแม้กระทั่งเพื่อนหรือพี่น้อง เพราะมองเขาเป็นคู่แข่ง ความทุกข์ของคนเราส่วนใหญ่ก็เพราะมองคนอื่นเป็นคู่แข่ง หรือมอง เขาด้วยความรู้สึกแข่งขันอยู่ในที กินก็เลยไม่มีความสุข ช็อปปิ้งก็ไม่มีความสุข เล่นกีฬาก็ไม่มีความสุข ทำงานก็ไม่มีความสุข แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมมองจะทำอะไรก็ตามก็มองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นเรื่องท้าทาย เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้ดีที่สุด เวลาทำงานก็มองว่างานคือสิ่งท้าทาย เป็นสิ่งที่เราต้องปลุกปล้ำจนสำเร็จ คือเห็นงานเป็นคู่แข่ง แต่ถึงแม้เราจะแพ้ ทำงานไม่สำเร็จ เราก็ไม่ท้อถอย หาบทเรียนจากความผิดพลาด เกิดความรู้มากขึ้น วันหน้าค่อยมาสู้กันใหม่ อย่างราชีพเขาเคยตกรอบมาแล้วเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ท้อถอย เตรียมตัวให้หนักขึ้น จนปีนี้กลายมาเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่ง แต่ในที่สุดเขาก็ตกรอบอีก เขาก็ไม่รู้สึกท้อถอยเลย เพราะคิดว่าฉันจะต้องต่อสู้กับคำยากๆ นี้ให้ได้ ปีนี้ฉันสู้ไม่ได้ปีหน้าฉันเอาใหม่ ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจที่คนอื่นได้รางวัลที่หนึ่ง ใครจะได้รางวัลที่หนึ่ง ฉันไม่สนใจ เพราะเขาไม่ใช่คู่แข่งของฉัน คู่แข่งของฉันคือคำยากๆ ฉันจึงสนใจเพียงว่าจะเอาชนะคำยากๆ ได้อย่างไร
อันนี้เป็นมุมมองที่เราน่าจะเอามาใช้กับตัวเองบ้าง เวลาทำงานก็ถือว่างานเป็นคู่แข่ง คนอื่นจะอยู่ฝ่ายอื่นหรือโรงเรียนอื่นก็ตามไม่ใช่คู่แข่งของเราคือมองไปที่งาน ไม่ใช่มองไปที่คน ถ้าจะให้ดีกว่านั้นแม้จะมองไปที่งาน ก็ไม่ได้เห็นว่างานเป็นคู่แข่ง แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเจริญเติบโตมีปัญญามากขึ้น คือเห็นเป็นอาจารย์หรือเพื่อนในทำนองเดียวกันเวลาถูกตักเตือนหรือวิพากษ์วิจารณ์ แทนที่จะมองไปที่คนซึ่งตำหนิเรา ด่าว่าเขาอยู่ในใจ ก็หันไปพิจารณาคำพูดของเขาว่าถูกต้องหรือไม่ มีสาระควรรับฟังไหม ถ้ามองแบบนี้เราจะทุกข์น้อยลง แต่ได้ประโยชน์มากขึ้น คือเกิดปัญญา แต่คนทั่วไปไม่ค่อยมองแบบนี้ เวลามีใครมาตักเตือนหรือตำหนิ ส่วนใหญ่จะมองเห็นคนนั้นเป็นศัตรู หรือเป็นคนละฝ่ายกับเรา ขณะเดียวกันก็จะพุ่งความรู้สึกไปที่คนๆ นั้นในทางที่ไม่สู้ดี แทนที่เราจะถามตัวเองว่า “ที่เขาพูดนั้นจริงหรือเปล่า มีประโยชน์แค่ไหน?” กลับไปก่นด่าในใจว่า “ถือดีอย่างไรมาว่าฉัน แล้วแกล่ะดีแค่ไหน” ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ และเมื่อทุกข์มากๆ ก็ทนไม่ไหว ระบายความโกรธใส่คนอื่นเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
ปัญหาของคนเราส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะการมองหรือการตั้งจิตไว้ผิดคือตั้งจิตไปที่คนพูดว่าเขาพูดอย่างนั้นพูดอย่างนี้กับเรา แทนที่จะตั้งจิตอยู่กับสาระของคำพูดหรือประโยชน์ที่จะได้จากคำพูดนั้น ตรงนี้มองให้ดีมันสะท้อนถึงอัตตาของเรา เพราะว่าอัตตามันจะมีนิสัยอย่างหนึ่งคือเวลาเกิดอะไรขึ้น จะเอาความชอบใจหรือความไม่ชอบใจเป็นหลัก แต่จะไม่สนใจความถูกต้องหรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น การเอาอัตตาหรือความชอบใจ-ไม่ชอบใจเป็นหลัก ท่านเรียกว่า “อัตตาธิปไตย” แต่ถ้าเราเอาความถูกต้องหรือประโยชน์เป็นหลัก ท่านเรียกว่า “ธรรมาธิปไตย” ธรรมาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการปกครองแบบที่เราใช้กับคำว่าประชาธิปไตย แต่หมายถึงการเอาธรรมะ คือความจริง ความถูกต้อง เป็นกรอบในการมอง หรือเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจทำอะไรก็ตาม หรือเอามาเป็นใหญ่ในการดำเนินชีวิต เช่น จะกินอะไร ก็ไม่ใช่เพราะว่าอร่อย ถูกลิ้นหรือเท่ แต่เพราะมันมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ในทำนองเดียวกัน เวลามีใครมาตักเตือนหรือวิพากษ์วิจารณ์ แม้จะไม่ถูกใจเรา แต่เราก็จะเอาคำพูดของเขามาพิจารณาก่อนว่าเป็นความจริงไหม มีประโยชน์หรือไม่ ถ้าเป็นความจริงและมีประโยชน์ก็เอามาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง
ท่าทีอย่างนี้เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับคนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นครู เป็นพระ เป็นนักบวช เป็นหมอ เป็นพยาบาล ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะงานของเราเป็นการเอาประโยชน์ของผู้อื่นเป็นตัวตั้ง มากกว่าที่จะเอาอัตตาหรือเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง แต่บ่อยครั้งเราทำงานแล้วมีความทุกข์ เพราะว่าอัตตามันถูกกระทบ เจอปัญหายากๆ เราก็ไม่สู้แล้วเพราะว่ามันไปกระทบอัตตา อัตตาไม่ชอบความลำบาก ชอบอะไรที่ง่ายๆ ยิ่งมีทีท่าว่าจะล้มเหลว ก็ยิ่งไม่อยากทำเพราะกลัวเสียหน้า ไม่อยากเป็นผู้แพ้แต่ถ้าเรามีสติ เราก็จะเดือนตนว่า “นี่ฉันกำลังทำเพื่อตัวเองแล้วนะ ฉันไม่ได้ทำเพื่อผู้อื่น” สติจะช่วยให้เราหันกลับมาคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งและถ้าเราคำนึงประโยชน์ของผู้อื่นหรือส่วนรวมเป็นที่ตั้งแล้ว ไม่ว่ามันจะลำบากแค่ไหน เราก็ไม่สะดุ้งสะเทือนหรือว่าไม่ท้อถอย

จากสารโกมล สารเพื่อคนร่วมสมัย ฉบับมีนาคม-เมษายน ๒๕๕๐ ปีที่ ๒๕

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *