เอ็มบีเอ โลจิสติกส์:ศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เอ็มบีเอ โลจิสติกส์:ศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ก่อนถึงวันคริสต์มาสของทุกปี คนไทยผู้หนึ่งจะต้องซื้อของขวัญส่งให้กับ Host Family ที่อเมริกา แต่เนิ่นๆ มีอยู่ปีหนึ่ง เขาพึ่งมานึกขึ้นได้ในวันที่ 18-19ธันวาคม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะซื้อ แล้วจัดส่งได้ทันวันคริสต์มาส เขาจึงลองเข้าไปในเวบไซต์ของ amazon.com สั่งซื้อหนังสือ Thai Cooking แถมทางเวบไซต์ยังถามว่าจะให้ห่อด้วยกระดาษแบบไหน เพราะมีให้เลือก 10 แบบจะพิมพ์ด้วยคำพูดอะไร ก็เลือกเอา แล้วก็จ่ายเงิน ของก็ไปถึง Host Family ภายในวันเดียว
“ผมโล่งใจเลย ทำให้ผมรู้เลยว่านี่คือหัวใจสำคัญ มันเป็นโนว์ฮาว เป็นทั้งแมเนจเมนท์ เทคโนโลยีไอที เป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ มีเรื่องของบาร์โค้ดเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเอา 4-5 อย่างมารวมกัน ให้ง่ายต่อการสั่งซื้อและเอาไปถึงลูกค้าได้ เคาะอินเทอร์เน็ตมาจากไหนก็ได้ให้มาถึงฉันก็แล้วกัน เป็นประเด็นให้ผมฉุกคิดว่าศาสตร์ด้านนี้มาแน่นอน”
ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร MBA เมื่อสองปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านพึ่งเข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีไม่นาน และได้เริ่มผลักดันหลักสูตร สาขาวิชาโลจิสติกส์ ให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีถัดมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็เริ่มเปิดสาขา วิศวกรรมโลจิสติกส์ สอนในระดับปริญญาตรี และปีนี้มหาวิทยาลัยก็จะเปิด หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการโลจิสติกส์ หรือ Master of Business Administration in Logistics Management (MBA Logistics Management)
การที่ อาจารย์จีรเดช จะผลักดันให้เกิด วิศวกรรมโลจิสติกส์ และเอ็มบีเอโลจิสติกส์ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะไม่ทราบว่า การที่มหาวิทยาลัยเอกชนจะสามารถเปิดหลักสูตรใดๆ ขึ้นมานั้นต้องเสนอให้ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองหลักสูตรเสียก่อน และอาจารย์ที่มาสอนต้องไปให้การรับรองที่ทบวงด้วย ต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่สามารถเสนอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติได้เลย
นอกจากนี้แล้วความที่เป็นหลักสูตรใหม่ ทำให้ต้องทำประชาพิจารณ์ โดยการเชิญผู้ที่ทำงานด้านนี้ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และสมาคมที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดเห็น และเนื่องจากศาสตร์ด้านนี้เดิมกระจายอยู่ในสาขาวิชาต่างๆ จึงต้องจับรวมกันเข้ามา ต้องไปเชิญอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาร่วม เช่น ด้านบาร์โค้ด การขนส่งทางบก การขนส่งทางเรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนถ่ายวัสดุ ระบบความปลอดภัยซึ่งกินความตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยของสินค้า ความปลอดภัยของบริษัท และการขนส่ง
ถ้าไม่มีความมุ่งมั่นกันจริงๆ ผมเชื่อว่าต้องรามือไปแล้ว เพราะลำพังแค่เปิดสอนหลักสูตรเท่าที่มีอยู่ ก็อยู่ได้อย่างสบาย แต่ถ้ามองไปที่ความจำเป็นของภาคธุรกิจ และของประเทศ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วบรรดายุทธศาสตร์ประเภท “ศูนย์กลาง” ทั้งหลาย เช่น สุขภาพ ครัวของโลก พลังงาน เมืองแฟชั่น ฐานการผลิตยานยนต์ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะสินค้าและบริการที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นจะต้องมีการส่งมอบคุณค่าในเวลา และสถานที่ ที่ลูกค้าต้องการ (Time to Market ) แต่ก็ทั้งๆ ที่เป็นความจำเป็นของประเทศอย่างเร่งด่วน คนที่คิดผลักดันหลักสูตรกลับต้องฝ่าฟันตั้งหลายด่าน ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาช่องว่างระหว่างยุทธศาสตร์เชิงรุกของประเทศกับการสร้างคนได้เหมือนกัน
รัฐบาลป่าวร้อง ต้องการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสารพัดศูนย์กลางแห่งภูมิภาค เพื่อให้สอดคล้องกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและอนาคต และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า แต่ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และผู้บริหารทางการผลิต และการขนส่งอย่างมาก
สถาบันการศึกษาจึงต้องมีบทบาทในการผลิตผู้บริหารองค์กรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการบริหารธุรกิจ และมีความเชี่ยวชาญทางด้านการวางยุทธศาสตร์การผลิต การขนส่งและโลจิสติกส์ สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้โดยใช้กลยุทธ์การวางแผนการผลิตและการขนส่งสินค้า
ศาสตร์แห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนี้ จะต้องประกอบด้วยสาขาวิชาที่หลากหลาย (Interdisciplinary) ทั้งทางด้านการบริหารธุรกิจ และการบริหารงานวิศวกรรม ครอบคลุมการแก้ปัญหาทุกจุดขององค์กรการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารและวางแผนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าตลอดอายุวงจรของสินค้า ตั้งแต่ การออกแบบ การจัดซื้อวัตถุดิบ การผลิต การเงิน การขนส่งสินค้า การกระจายสินค้า การตลาด และการบริการลูกค้า
“สินค้าอย่างไนกี้ผลิตที่ไหน ไม่มีใครรู้ แต่เวลาไปถึงลูกค้าก็เป็นไนกี้หมด ไนกี้แทบไม่ได้ผลิตอะไรเลย แต่กุมตรายี่ห้อ กุมข้อมูลลูกค้า และกุมระบบการจัดการ การโพลล์ของสินค้า เราต้องยกระดับจากการเป็นแค่ผู้ผลิตขึ้นไปกุมหัวใจสำคัญคือ โลจิสติกส์ สังเกตไหมว่า คนที่ทำโลจิสติกส์ไม่เกี่ยงว่าบริษัทอยู่ไหน อเมริกาก็ทำได้ เมื่อก่อนเราบอกว่าใครกุมศูนย์กลางภูมิศาสตร์จะได้เปรียบ แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ดูอย่างสิงคโปร์ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของใครเลย คุมด้านเดินเรือ เดินอากาศ ยางเขาก็ไม่เคยปลูกได้สักต้น แต่เป็นคนคุมตลาดค้ายางที่สำคัญของโลก ไทยปลูกเกือบจะมากที่สุดในโลกแต่ไทยต้องไปอิงการซื้อขายที่สิงคโปร์ เพราะเขาจัดไว้ หรืออย่างอเมริกาก็ไม่ได้เย็บรองเท้าหรือเสื้อไนกี้สักอย่าง แต่เป็นคนคุมระบบโลจิสติกส์
บ้านเราที่มีปัญหาเรื่องค้าปลีกตอนนี้ ก็เพราะต่างประเทศที่เข้ามาต่างควบคุมเรื่องโลจิสติกส์ มีศูนย์ดีซี (Distribution Center) มีศูนย์รวมสินค้าและกระจายสินค้า เป็นตัวผ่าน ทำไมเซเว่น อีเลฟเว่น สามารถขายได้ดีกว่าโชวห่วย ก็เพราะสามารถควบคุมสินค้าไปที่ร้านซึ่งมีทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด” อาจารย์จีรเดช พูดไว้เมื่อสามปีที่แล้ว
รู้โลจิสติกส์ รบได้ทั้งนอกบ้านและในบ้าน ไม่รู้โลจิสติกส์ อย่าว่าแต่จะไปรบนอกบ้านเลย รบในบ้านยังแพ้
ที่มา วิถีทุน : จุมพฏ สายหยุด กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547