'เอาต์ซอร์ซิ่ง' กระแสหลักธุรกิจใหม่
“เอาต์ซอร์ซิ่ง” กระแสหลักธุรกิจใหม่
คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ทวี มีเงิน ประชาชาติธุรกิจ หน้า 8 วันที่ 25 มีนาคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3569 (2769)
ข้อตกลงทางการค้า “เอฟทีเอ” ระหว่างไทยกับสหรัฐ กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักหน่วงว่า ไทยเสียเปรียบทุกประตู
แต่ที่อยากจะเขียนคงไม่ใช่เรื่อง “เอฟทีเอ” แต่เป็นเรื่อง “ธุรกิจเอาต์ซอร์ซิ่ง” ที่กำลัง มาแรงและเป็นธุรกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียและจีนแต่ละปีจำนวนมหาศาล
ล่าสุดจากสำนักข่าวเอพีรายงานว่า นายเอียน แมรร์ริออทต์ รองประธาน บริษัทวิจัยการ์ตเนอร์ ของสหรัฐ กล่าวในรายงานที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา
ระบุว่า การโอนย้ายงานจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง หรือ “เอาต์ซอร์ซ” กำลังกลายเป็นโมเดลกระแสหลักในธุรกิจใหม่
ความได้เปรียบของประเทศที่จะสร้างธุรกิจนี้ได้จะต้องมีความได้เปรียบตรงไหนบ้าง นายเอียนเฉลยว่า ความได้เปรียบทางด้านราคา คือ สิ่งที่เย้ายวนชวนให้บริษัทต่างๆ หันมาใช้วิธีการดังกล่าว หากบริษัทไหนไม่ทำอย่างนี้ก็จะถูกมองว่าไม่รักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
นอกจากนั้น บริษัทนั้นๆ ยังเสี่ยงที่จะสูญเสียความได้เปรียบในด้านการแข่งขันและไม่สามารถมุ่งเน้นให้เกิดความก้าวหน้าทางนวัตกรรมได้
สำหรับประเทศผู้นำที่รองรับงานดังกล่าวก็คงหนีไม่พ้นอินเดีย โดยที่มีจีน และรัสเซีย กำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวประเภทวิ่งไล่กวดชนิดหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน มีอีกหลายประเทศ ก็กำลังเพ่งเล็งที่จะเป็นศูนย์กลางออฟชอร์ ซึ่งทำงานด้านเทคโนโลยีข่าวสารด้วยเช่นกัน
สำหรับธุรกิจเอาต์ซอร์ซเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อในสหรัฐ และเริ่มระบาดเข้ามาเป็นที่นิยมในยุโรปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง
โดยข้อตกลงขนาดใหญ่มูลค่าระดับ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงนามกันเมื่อปีที่แล้ว 15 ฉบับมาจากบริษัทในยุโรปถึง 10 ฉบับ
เมื่อดูจากแนวโน้มเหล่านี้แล้ว ทำให้คาดว่างานไอทีร้อยละ 25 ในประเทศที่ร่ำรวยทั่วโลกจะกระจายสู่ตลาดเกิดใหม่ใน 6 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน
แม้ว่าประเทศอุตสาหกรรมดังกล่าว อาจจะต้องเผชิญผลกระทบจากการว่างงาน ในหมู่ชนชั้นกลางรายได้สูงอย่างเฉียบพลันก็ตาม
รัฐบาลไทย นักธุรกิจไทย เห็นตัวเลขรายได้แล้ว คงตาลุกวาวไม่น้อย ผมคิดว่าสำหรับประเทศไทย คนไทยน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นธุรกิจที่นำเงินเข้าประเทศแต่ละปีจำนวนมหาศาล และไม่ต้องลงทุนกันมากมาย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กรรมการผู้ช่วย รัฐมนตรี เคยถามผมเมื่อหลายเดือนก่อนว่า รู้ไหม ปกนิตยสารชื่อดังของโลกไม่ว่าจะเป็น ไทม์ นิวส วีก บิสซิเนส วีก และเกือบทุกฉบับ ทั่วโลก ออกแบบปกที่ไหน
เพิ่งมาทราบและตกใจจริงๆ ที่รู้ว่าศูนย์กลางการออกแบบปกนิตยสารชื่อดังของโลกอยู่ที่ฟิลิปปินส์ เรียกว่าทำเงินเข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
เมื่อไม่นานมานี้เอง ก็ได้คุยในเรื่องคล้ายๆ กันนี้กับ “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ที่มีความคิดจะดึงงานประเภทเอาต์ซอร์เซสเข้ามาตั้งในประเทศไทย เพราะตอนนี้ที่สหรัฐอเมริกามีปัญหาค่าแรงแพงมากไม่เหมาะกับงานบางงาน
“หมอเลี้ยบ” เล่าว่า เพื่อนหมอชาวสหรัฐ ที่บอกว่าตอนนี้โรงพยาบาลที่สหรัฐกำลังประสบปัญหาคนอ่านฟิล์มเอกซเรย์ และหาทางที่จะผ่องถ่ายให้ประเทศแถบบ้านเรา ที่ค่าแรงถูกอ่านแทน ซึ่งไม่ยาก เป็นหมอทั่วๆ ไป หรือพยาบาลก็สามารถอ่านได้ สนนค่าแรงชั่วโมงละ 50 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างเอ็กซอน และบริษัททางด้านไอที มีความสนใจจะตั้ง “คอลเซ็นเตอร์” ในประเทศไทยให้เป็นศูนย์คอลเซ็นเตอร์ทั่วโลก ซึ่งจะสามารถรองรับแรงงานแต่ละบริษัทได้จำนวนมาก เฉพาะเอ็กซอนก็ประมาณ 600 คน ตอนนี้เขากำลังดูสิทธิประโยชน์เทียบกับประเทศอื่นๆ อยู่
ยังมีงานอีกมหาศาลในประเทศสหรัฐและยุโรป เฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นงานบริการ ซึ่งจะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย และ นำเงินตราเข้าประเทศได้
ไม่รู้ว่าเรื่องดีๆ อย่างนี้รัฐบาลตื่นตัวไปแค่ไหน