เศรษฐกิจ : มองอนาคตโลกในอีก30ปีข้างหน้าในมุมการเงินการคลัง

เศรษฐกิจ : มองอนาคตโลกในอีก30ปีข้างหน้าในมุมการเงินการคลัง

ประเทศต่างๆ จะมีหนี้สาธารณะมากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายนโยบายการคลังนั้นต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของประเทศ รัฐบาลประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องจัดหาแหล่งกู้เงินให้เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลแนวโน้มหนี้สาธารณะโลกจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54 ของจีดีพีในปัจจุบันเป็นร้อยละ 98 ในปี ค.ศ. 2035 ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 42 ของจีดีพี ภายใต้หลักการก่อหนี้สาธารณะต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี ดังนั้น รัฐบาลจึงสามารถก่อหนี้ได้อีกร้อยละ 12.5 หรือประมาณ 7.2 ล้านล้านบาทซึ่งมีแนวโน้มหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น เช่นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเทศ

ในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ผลวิจัยของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียพบว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงปี ค.ศ. 2010-2030 มากที่สุดคือผลิตภาพของแรงงาน และอธิบายว่า การพัฒนาฝีมือแรงงานส่งผลต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้น ความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนจะสามารถสร้างขึ้นได้บนพื้นฐานของฝีมือและมีประสิทธิผลของกำลังแรงงานซึ่งมีแนวโน้มสอดคล้องกับจำนวนประชากร

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของยูเอ็น แนวโน้มของกำลังแรงงานกับแนวโน้มจำนวนประชากรของโลก พบว่ามีแนวโน้มสอดคล้องกัน โดยกำลังแรงงานมีทิศทางเพิ่มขึ้นจนถึงปี ค.ศ. 2015 และเริ่มลดลงตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2025-2050 สำหรับแนวโน้มกำลังแรงงานของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปี ค.ศ. 2009-2030 พบว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน จะเพิ่มขึ้นใน 2 ทศวรรษแรก แต่ในที่สุดก็ลดลงเนื่องจากระดับอัตราการเพิ่มของประชากรลดต่ำลง

ส่วนประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ จะมีกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี ค.ศ. 2009-2030 ในขณะที่กำลังแรงงานของประเทศไทยและเวียดนามคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงและมาถึงจุดสูงสุดหรือจุดวงกลับในปี ค.ศ. 2030

ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า จะมีความต้องการใช้บริการด้านขนส่ง (อากาศ เรือ ระบบราง) มากขึ้นจากความต้องการใช้บริการด้านขนส่ง (อากาศ เรือ ระบบราง) ที่มากขึ้น โดยมูลค่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งระบบรางจะสูงที่สุด ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีแนวโน้มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งมากขึ้นด้วย เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

ในบทความครั้งต่อไป ผมจะขอสรุปทิศทางด้านสังคมในอนาคตนะครับ ลองมาดูกันอีกทีครับเพราะจะเกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคนครับ

——————–

(มองอนาคตโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า (จบ) : คอลัมน์ รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย … ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *